รมว.คลังเผยยังไม่สรุปภาษีบ้าน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเผยยังไม่ได้สรุปรายละเอียดร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เตรียมเสนอให้ ครม.พิจารณาว่าจะยกเว้นภาษีที่ดินและบ้านราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท ด้านผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังระบุยังต้องหารือแนวทางยกเว้นการจัดเก็บ และการกำหนดอัตราเพดานภาษี เพื่อลดภาระผู้เสียภาษี จนถึงขณะนี้กระทรวงการคลังยังไม่มีข้อสรุปเกี่ยวกับอัตราการจัดเก็บภาษี และการยกเว้นลดหย่อนต่างๆ ของภาษีทีดินและสิ่งปลูกสร้างว่าจะตกผลึกออกมาเป็นอย่างไร แต่คาดว่าจะเสนอให้ ครม.พิจารณาภายในเดือนมีนาคมนี้ ขณะที่นักวิชาการส่วนใหญ่ต่างเห็นด้วยกับการจัดเก็บภาษีทรัพย์สิน เพราะภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างใหม่นี้จะช่วยแก้ไขปัญหาภาษีโรงเรือนเดิมที่มีช่องโหว่มาก จนเป็นอุปสรรคต่อการจัดเก็บรายได้
ด้านนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า ยังต้องหารือเรื่องการยกเว้นการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างกับฝ่ายนโยบายอีกครั้งว่าจะใช้แนวทางไหน อย่างไรก็ตาม เรื่องที่สำคัญคือการกำหนดอัตราเพดานภาษีจะมีการลดลงจากเดิม เพื่อไม่ให้ผู้เสียภาษีกังวลว่าจะมีภาระภาษีจำนวนมาก
ด้านนายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ยังไม่ได้หารือรายละเอียดกับนายสมหมาย แต่จากการพบหารือกับ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่าแนวทางการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่ออยู่อาศัยที่แบ่งตามมูลค่า เป็นแนวคิดที่ดี
ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง เตรียมเสนอเรื่องนี้ให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณา โดยสาระสำคัญของกฎหมายภาษีฉบับดังกล่าว จะมีการจัดเก็บภาษีใน 3 อัตรา คือสำหรับ ที่ดินเพื่อการเกษตรและที่อยู่อาศัย กำหนดเพดานการจัดเก็บอยู่ที่ 0.5% แต่จะเริ่มเก็บ ที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัย เพียง 0.01% เท่านั้น ส่วนการจัดเก็บภาษีที่ดินเพื่อการเกษตร คาดว่าจะจัดเก็บในอัตราที่ต่ำเพื่อไม่ให้เป็นภาระกับเกษตรกร ขณะที่ที่ดินเชิงพาณิชย์ กำหนดเพดานจัดเก็บที่ 2% และที่ดินรกร้างว่างเปล่า กำหนดเพดานจัดเก็บที่ 4%
ภาษีมรดก การจัดเก็บภาษีมรดกที่รัฐบาลเสนอนั้นมีข้อกำหนดที่สำคัญ 3 ประการคือ ประการที่หนึ่ง ภาษีมรดกกำหนดให้ทายาทที่รับมรดกเกิน 50 ล้านบาท ต้องเสียภาษีในอัตราร้อยละ 10 ซึ่งการกำหนดฐานภาษี และอัตราภาษีดังกล่าวจะทำให้รัฐบาลมีรายได้ภาษีมรดกน้อยมาก จากฐานข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน ปี 2556 พบว่า จากจำนวนครัวเรือนในประเทศไทยทั้งหมด 22.63 ล้านครัวเรือน มีครอบครัวที่มีทรัพย์สินเกิน 50 ล้านบาท เพียง 17,655 ...
นอกจากนี้ จะมีการยกเว้นไม่เสียภาษีสำหรับที่ดินและที่อยู่อาศัยในส่วน 2 ล้านบาทแรก เพื่อให้สอดคล้องกับราคาที่ดินและบ้านในปัจจุบัน รวมถึงจะมีการร่างบทเฉพาะกาลที่กำหนดให้มีการแบ่งเบาภาระการชำระภาษีเป็นขั้นบันได โดยในปีแรกเสียภาษีเพียง 50%, ปีที่ 2 เสียภาษี 75% และปีที่ 3 เสียภาษีในอัตรา 100% ส่วนอัตราภาษีที่ดินรกร้างว่างเปล่า จะให้เวลา 3 ปีเพื่อนำที่ดินมาใช้ประโยชน์ และจะเริ่มเก็บภาษีที่ระดับต่ำก่อน แต่หากที่ดินยังรกร้างว่างเปล่าไม่ได้ใช้ประโยชน์ เมื่อครบ 3 ปีแล้วก็จะถูกเก็บภาษีในอัตราที่สูงขึ้น
ด้านนายสกนธ์ วรัญญูวัฒนา คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า หลักการของร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เป็นเรื่องที่ดี เนื่องจากโครงสร้างภาษีของประเทศไทยยังมีช่องโหว่ในการปรับปรุงเป้าหมายเพื่อหารายได้ แต่เป้าหมายสำคัญไม่ใช่การมุ่งหารายได้ให้กับรัฐบาล เพราะว่าภาษีนี้เป็นรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ทำหน้าที่ให้กับประชาชนอยู่แล้ว ซึ่งประเด็นสำคัญคือการพยายามลดความแตกต่างของความเหลื่อมล้ำ เพราะการถือครองทรัพย์สินยังมีการกระจุกตัวอยู่มาก
ทั้งนี้ ภาษีนี้จะครอบคลุมผู้ที่มีฐานะ และเป็นเจ้าของทรัพย์สินอยู่ เรื่องของการปรับอัตราจัดเก็บภาษีให้มีความเหมาะสม ซึ่งเป็นความพยายามไม่สร้างภาระให้ผู้ที่ยังอยู่ในข่ายที่จะต้องเสียภาษีมากเกินไป และเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เพราะว่าในแง่หนึ่งถ้าปรับอัตราภาษีต่ำมากจนเกินไป และการยกเว้นลดหย่อนต่างๆ เช่น มูลค่าทรัพย์สินไม่เกิน 1 ล้านบาท หากมีการยกเว้นลดหย่อนมากเกินไป ประสิทธิภาพและประสิทธิผลของภาษีอาจจะลดหายลงไปด้วย ทำให้กลายเป็นภาษีที่ไม่ดีได้ ซึ่งต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ
สำหรับปัญหาที่เกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในช่วงที่ผ่านมา ประการแรก คือ การกระจุกตัวของถือครองทรัพย์สิน ประการที่ 2 ที่ถูกซ่อนไว้ และไม่ค่อยถูกพูดถึงคือแม้จะมีการนำทรัพย์สินนั้นที่มีการกระจุกตัวอยู่ การใช้ประโยชน์ของที่ดินทรัพย์สินอาจใช้ไม่ค่อยคุ้มค่า ทำให้เห็นภาพของการถือครองทรัพย์สินที่กระจุกในผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สินอยู่เพียงไม่กี่รายในประเทศ และประการที่ 3 โครงสร้างภาษีเดิมของภาษีที่เกี่ยวข้องกับที่ดินไม่ว่าจะเป็นภาษีโรงเรือน ภาษีท้องที่ ไม่ได้เป็นเครื่องมือป้องกันในเรื่องของการเก็งกำไรของราคาที่ดิน หรือสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ซึ่งเห็นประสบการณ์เหล่านี้ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 มาแล้วว่าการที่ไม่มีเครื่องมือป้องกันการเก็งกำไร ทำให้เกิดการปั่นราคาที่ดิน และคอนโดมิเนียม จนท้ายที่สุดแล้วระบบเศรษฐกิจไม่สามารถรองรับได้
นายสกนธ์ กล่าวอีกว่า เครื่องมือของภาษีตัวใหม่ คือภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง การจัดเก็บที่อยู่บนฐานของราคาตลาด ราคาประเมินทุนทรัพย์เหล่านี้ จะเป็นราคาที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมาก ซึ่งเป็นกลไกที่ช่วยลดการเก็งกำไรของที่ดิน รวมทั้งเป็นเครื่องมือกลไกทางอ้อมในการบีบบังคับให้เจ้าของที่ดินลดการกระจุกตัวของการถือครอง และพยายามทำให้ที่ดินเหล่านั้นถูกนำมาใช้ประโยชน์มากเพิ่มยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ เรื่องภาษีที่ดินต้องทำด้วยความระมัดระวัง เพราะว่าคนที่เคยมีบ้านและไม่เคยเสียภาษีภายใต้ภาษีที่ดินจะต้องพิจารณาเรื่องของการยกเว้น หรือลดหย่อนต่างๆ อย่างกรณีเรื่องของการพยายามปรับลดอัตราจัดเก็บไม่ให้สูงมากเกินไป คงต้องมาพิจารณารายละเอียด และนำข้อมูลมาดูให้ชัดเจนว่าอัตราไหนจะมีความเหมาะสม รวมถึงการคิดมูลค่าที่ดินเบื้องต้นในการเริ่มต้นเสียภาษีจะเป็นเท่าไหร่ ซึ่งจะเริ่มต้นที่ 1 ล้านบาท หรือราคากี่ล้านบาทจะต้องพิจารณาให้รอบคอบ ซึ่งเป็นกระบวนการที่หน่วยงานพยายามคิดพิจารณาไม่ให้เป็นการสร้างภาระเจ้าของบ้านและที่อยู่อาศัยอย่างแท้จริงไม่ให้เป็นภาระมากจนเกินไป
นอกจากนี้ ยังมองว่าภาษีที่ดินอาจทำให้ประชาชนต้องการครอบครองบ้านลดน้อยลง เพราะว่าปกติบ้านที่อยู่หมู่บ้านเป็นนิติบุคคลของหมูบ้าน ซึ่งในปัจจุบัน บ้านที่อยู่ในนิติบุคคล หรืออยู่ในคอนโดมิเนียมจะมีการเสียค่าส่วนกลางให้หมู่บ้านอยู่แล้ว ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นภาษีที่ออกแบบมาให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่นำรายได้เหล่านี้ไปใช้ในการสร้างสาธารณูปโภค และสาธารณูปการให้มีคุณภาพดีมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของระบบระบายน้ำ และถนน ซึ่งหมายความว่าในปัจจุบัน ประชาชนทุกคนเสียภาษีนี้ในรูปแบบอื่นๆ อยู่แล้ว
ดังนั้น การทำให้มีรูปแบบที่ชัดเจน การทำให้เห็นภาพชัดเจนในเรื่องของการเสียภาษี จะเป็นเครื่องมือสำคัญคือการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนที่เข้ามาติดตามดูแลการทำงานของหน่วยงานที่ทำหน้าที่ให้บริการให้กับตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีคือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ในปัจจุบันมีความจำเป็นในการให้บริการสาธารณะประชาชน ซึ่งที่เห็นในปัจจุบันเป็นบริการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแทบทั้งสิ้น เช่น ถนน น้ำประปา การเก็บขยะ หรือความสะอาดซึ่งจำเป็นอย่างยิ่ง การร่วมจ่ายภาระเปรียบเสมือนการร่วมจ่ายค่าธรรมเนียมส่วนกลางของนิติบุคคลอยู่แล้ว เพื่อใช้ประโยชน์ในการบริการสาธารณะแก่ประชาชนของเราเอง ถ้ามองแง่ดีเป็นการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการสาธารณะแก่ประชาชนด้วย
นายสกนธ์ กล่าวถึงเรื่องของการจัดเก็บภาษีที่ดินในส่วนของบริษัทพัฒนาที่ดินนั้นว่า เป็นเรื่องที่กำลังพิจารณาอยู่เหมือนกัน ซึ่งในเรื่องที่ดินของบริษัทที่ทำโครงการจัดสรรต่างๆ จะมีวิธีแบ่งเบาภาระของต้นทุนภาษีนี้อย่างไร เช่น อาจมีการจัดเก็บภาษีในอัตราพิเศษในกรณีที่เป็นบ้านของโครงการที่ยังไม่ได้เริ่มต้นการพัฒนา ซึ่งต้องดูต่อไปว่าจะมีการสรุปออกมาเป็นอย่างไร แต่แน่นอนว่าภาษีนี้อาจจะสร้างต้นทุนให้กับผู้ประกอบการ แต่ว่าอย่างน้อยที่สุดจะเป็นประโยชน์กับประชาชนเอง ซึ่งโครงสร้างภาษีที่ช่วยทำให้มีการปรับปรุง มีการพัฒนาที่ดินให้ประสิทธิภาพประสิทธิผลมากขึ้นกว่าในปัจจุบัน
หมายเหตุ : ภาพประกอบบทความ บางภาพไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเนื้อหาแต่อย่างใด Photo credit by : armidatrentino.wordpress.com
ขอบคุณข้อมูลจาก : Thai PBS