ลุยตลาดยุโรป ช็อปโรงแรมถูก ยุคค่าเงินยูโร-ปอนด์อ่อนตัว
Minor Hotel Group (MHG) ผู้ประกอบการเชนโรงแรมยักษ์ใหญ่สัญชาติไทย ภายใต้ชื่อ Anantara กำลังเดินหน้าหา “โอกาส” ขยายเครือข่ายโรงแรมทั่วโลก โดยเฉพาะตลาดยุโรป เนื่องจาก ค่าเงินยูโรและปอนด์ ที่อ่อนตัวลง ทำให้สามารถซื้ออสังหาริมทรัพย์ได้ในราคาที่ถูก
William Heinecke ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดเผยว่า ช่วงนี้ถือเป็นโอกาสดีของบริษัท ที่จะเข้าตลาดยุโรป อย่างไรก็ตาม เขาไม่ได้เปิดเผยว่า ประเทศไหนที่บริษัทจะเข้าไปในปีนี้ แต่บอกว่า ทุกที่บนโลกใบนี้คือ “โอกาส” ของเขา และการตัดสินใจของบริษัทจะรวดเร็วเสมอ เมื่อคิดที่จะลงทุนในประเทศใด
การเข้าตลาดยุโรป บริษัทจะใช้ออฟฟิศที่ Portugal ซึ่งเป็นไปได้ ที่จะตั้งอยู่ที่กรุง Lisbon เมืองหลวง ที่บริษัทมีโรงแรมในเครือตั้งอยู่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยจะใช้เป็นฐานที่มั่น ขยายไปในภูมิภาคนี้ หลังจากวันที่ 28 มกราคมที่ผ่านมา บริษัทได้เข้าซื้อหุ้นในโรงแรม Tivoli ใน Portugal และ Brazil ด้วยเงิน 168 ล้านเหรียญ จุดมุ่งหมายเพื่อขยายธุรกิจโรงแรมสู่ 2 ทวีปใหม่ ซึ่ง Brazil จะเป็นฐานสำคัญ ที่จะขยายเข้าสู่ตลาดอเมริกาใต้อีกด้วย นอกจากนี้ บริษัทยังสนใจในตลาดสหรัฐฯอีกด้วย
กลุ่มไมเนอร์มีทั้งธุรกิจโรงแรมและอาหาร ก่อตั้งโดย Heinecke คนไทยเชื้อสายอเมริกัน อายุ 65 ปี ตั้งบริษัทเมื่อ 40 ปีที่แล้ว ปัจจุบันบริษัทได้เติบโตกลายเป็นกลุ่มโรงแรมชั้นนำในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค ช่วงเริ่มก่อตั้งธุรกิจ บริษัทใช้เชนโรงแรมต่างชาติเข้าบริหาร ต่อมาได้ริเริ่มสร้างแบรนด์ของตัวเอง ปัจจุบันมี Anantara (5 ดาว) มีอายุ 15 ปีและ AVANI (4 ดาวครึ่ง) เปิดตัวในปี 2554 ไม่รวมแบรนด์ที่ไปซื้อกิจการในต่างประเทศเช่น Per AQUUM (5 ดาว) Elewana (5 ดาว) และ Oaks (4 ดาว) นอกจากนี้ ยังมีนำเชนต่างประเทศเข้ามาบริหารโรงแรมของบริษัทเช่น St. Regis, Four Seasons และ JW Marriott เป็นต้น ในปีที่ผ่านมาบริษัทมีรายได้รวม 3.98 หมื่นล้านบาท กำไรสุทธิ 4.4 พันล้านบาท ปี 2556 รายได้รวม 3.69 หมื่นล้านบาท กำไรสุทธิ 4.1 พันล้านบาท
ล่าสุด บริษัทได้เปลี่ยนชื่อโรงแรม Four Seasons Bangkok เป็นโรงแรม Anantara Siam Bangkok ในวันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา หลังจากหมดสัญญาบริหาร โดยก่อนหน้าเป็น Four Seasons ก็ใช้แบรนด์โรงแรม Regent และ Peninsula บริหาร ซึ่งกลายเป็นประวัติศาสตร์ 32 ปีของโรงแรมนี้
หลายคนอดตั้งคำถามไม่ได้ว่า นโยบายบริษัทจากนี้ ไมเนอร์จะใช้แบรนด์ Anantara เป็นหลักกับโรงแรมที่บริษัทเป็นเจ้าของหรือหมดอายุการบริหารของเชนต่างชาติหรือไม่ ซึ่ง Heinecke บอกว่า บริษัทยังคงให้ความสำคัญกับการขยายเครือข่ายทั้งสองส่วน ทั้งขยายแบรนด์ตัวเองและจ้างเชนต่างชาติอื่นเข้ามาบริหารในเวลาเดียวกัน ซึ่งส่วนหลังนี้ บริษัทมีความสัมพันธ์กับเชนเหล่านี้มาเป็นเวลานานแล้ว
การขยายเครือข่ายไปทั่วโลก Heinecke บอกว่า เพื่อตอกย้ำจุดมุ่งหมายเป็น “global company” ซึ่งเขาคุยว่า ขณะนี้ บริษัทได้กลายเป็นบริษัทระดับโลกไปแล้ว จากนี้บริษัทจะขยายการลงทุนในหลากหลายรูปแบบ ทั้งซื้อกิจการ ร่วมทุนกับนักลงทุน หรือเข้าไปบริหารโรงแรมให้กับเจ้าของโรงแรมในต่างประเทศ ทั้งหมด ขึ้นอยู่กับโอกาสและตลาดที่เข้าไปว่าเป็นอย่างไร รวมถึงการใช้แบรนด์โรงแรมในตลาดใด ก็ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของตลาดนั้นๆ
ณ ขณะนี้ บริษัทมีงบลงทุนทั้งสิ้น 2.6 หมื่นล้านบาท ราว 5.37 พันล้านบาทของงบเป็นเงินสดของบริษัท อย่างไรก็ตาม งบนี้ค่อนข้างจะยืดหยุ่น บริษัทอาจจะใช้มากกว่านี้ หากมีโอกาสพบการลงทุนที่ดีๆ ซึ่งไม่สามารถที่จะรอได้
ไม่ใช่ตลาดต่างประเทศมีแต่โอกาสตลาดไทยก็ยังมีไม่แพ้กัน ทั้งในเมืองหลวงและต่างจังหวัด แม้ว่ายังถูกรุมเร้าด้วยปัญหา โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องการเมืองและยังมีการบังคับใช้กฎอัยการศึกอยู่ แต่ Heinecke ก็ยังมองว่า อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยยัง “สดใส” อยู่ เนื่องจากคนต่างชาติยังเชื่อมั่นที่จะมาเที่ยวอย่างต่อเนื่องในปีนี้และอนาคต
ในปี 2557 ไมเนอร์มีโรงแรมและรีสอร์ทในเครือ 119 แห่งใน 18 ประเทศ ขณะนี้ได้ขยายเป็น 126 โรงแรม ใน 22 ประเทศ รวมกว่า 16,000 ห้อง ล่าสุด ได้เปิดโรงแรม 2 แห่งคือ Banana Island Resort Doha by Anantara ขนาด 141 ห้องในประเทศ Qatar และ AVANI Seychelles Barbarons Resort & Spa ขนาด 124 ห้องประเทศสาธารณรัฐเซเชลส์ (Republic of Seychelles)
ขอบคุณข้อมูลจาก : forbesthailand.com
Discussion
Follow breaking news Investment property articles on Facebook, click here.