“ประยุทธ์” ยันไม่กดดันลดดอกเบี้ย ปิ๊งผุด “เวสเทิร์นซีบอร์ด” ดึงดูดลงทุนเพิ่ม
เอกชนทนไม่ไหวกดดัน กนง.ประชุม 11 มี.ค.นี้ ลดดอกเบี้ย 0.25% กระตุ้นเศรษฐกิจ ด้าน “บิ๊กตู่” ระบุรัฐบาลไม่กดดันแบงก์ชาติ ชี้ไม่ควรผลีผลาม หวั่นกระสุนฟื้นเศรษฐกิจหมดกระเป๋า ผุดไอเดียหรู ตั้ง “เวสเทิร์นซีบอร์ด” สร้างการลงทุนเพิ่ม พร้อมตั้งอนุกรรมการขับเคลื่อนเขตเศรษฐกิจพิเศษ
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) กล่าวถึงการเรียกร้องของภาคเอกชนที่ต้องการให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 11 มี.ค.เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจว่า การปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้น เป็นเรื่องที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รวมทั้ง กนง. ได้มีการหารือกัน และพร้อมที่จะปรับให้ แต่ขอดูเม็ดเงินที่เข้าออกตอนนี้ก่อน ซึ่งที่ผ่านมาเป็นเงินระยะสั้น แต่ต้องดูภาพรวมในระยะยาวว่ามีผลกระทบแค่ไหน ไม่ควรผลีผลาม เพราะตอนนี้อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 2% ถ้าลดเร็วเกินไปก็จะไม่มีเครื่องมือแก้ปัญหาในระยะต่อไป
ส่วนรัฐบาลจะส่งสัญญาณให้ลดดอกเบี้ยหรือไม่นั้น นายกฯกล่าวว่า รัฐบาลส่งสัญญาณไม่ได้ เพราะ กนง.เป็นองค์กรที่มีอำนาจในการรักษามาตรการทางการเงิน สั่งไม่ได้ เพราะผิดพลาดไปแล้วเดี๋ยวเดือดร้อน มีหลายส่วนเกี่ยวข้องอยู่ตรงนั้น ทั้งภาครัฐและเอกชน เขาหารืออยู่แล้ว อย่าไปกังวล แต่คิดว่าเศรษฐกิจของเรายังไปได้อยู่ เมื่อถามว่า การจะปรับขึ้นหรือลงต้องดูอะไรบ้าง นายกฯกล่าวว่า ต้องดูสถานการณ์โลกด้วยว่าเป็นอย่างไร ตอนนี้ถ้าดูสถานการณ์รอบด้านต่างประเทศก็ปรับอัตราดอกเบี้ยลงกันหมด บางประเทศลงไปแล้วแต่สถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น เราต้องดูตรงนั้นด้วย ถ้าลงไปแล้วจะทำให้ถอยหลังลำบากในวันหน้า เพราะไม่อยากให้เอาเงินสำรองมาใช้ตรงนี้มากนัก
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวต่อว่า เพื่อเร่งการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ได้สั่งการในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อไปช่วยผู้ว่าราชการจังหวัดในการขับเคลื่อนงาน และต่อไปจะดำเนินการในลักษณะเดิมที่มีโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งตะวันออก หรืออีสเทิร์นซีบอร์ดแล้ว แต่ทางตะวันตกยังไม่มี จึงให้ ครม.คิดกันมาว่าจะทำโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งตะวันตก หรือเวสเทิร์นซีบอร์ดอย่างไร มีนิคมอุตสาหกรรม มีโรงเหล็กเพื่อเป็นอุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำ โดยคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเขตเศรษฐกิจพิเศษ จะมีเอกชนเข้ามาร่วมด้วย เพื่อช่วยขับเคลื่อนงานด้านการตลาด และหาคนมาลงทุน เพราะรัฐบาลบริหารเองไม่ได้ทั้งหมด
วันเดียวกัน ภาคเอกชนได้ออกมาให้ความเห็นกดดันให้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรม-การนโยบายการเงิน (กนง.) 11 มี.ค. นี้ ส.อ.ท. เห็นว่ามีความจำเป็นที่ กนง.ควรปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาอย่างต่ำ 0.25% เพื่อดูแลเงินทุนไหลเข้า โดยเฉพาะภายหลังที่ธนาคารกลางยุโรปอัดฉีดเม็ดเงินผ่านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือ คิวอี ตั้งแต่วันที่ 9 มี.ค.ที่ผ่านมา จำนวน 60,000 ล้านยูโรต่อเดือน ซึ่งอาจทำให้ทิศทางค่าเงินบาทยังคงแข็งค่าขึ้น
ทั้งนี้ ส.อ.ท. ใจจริงอยากเห็นการลดดอกเบี้ยลงทันที 0.50% แต่ก็คงเป็นเรื่องลำบากที่ กนง.จะกล้าตัดสินใจแบบนี้ เพราะ กนง.ก็ต้องพิจารณาถึงภาพรวมภาวะเศรษฐกิจทั้งระบบ โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ยังแข็งค่า แต่ยืนยันว่า หากมีการลดดอกเบี้ยนโยบายลงมาก็จะช่วยผู้ส่งออกได้ระดับหนึ่ง ทั้งยังช่วยลดภาระต้นทุนในการผลิตได้อีกทางหนึ่ง ในภาวะที่เศรษฐกิจของประเทศไทยยังไม่ฟื้นตัว
ด้านนายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า คาดว่า กนง. คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2% เหมือนเดิม เนื่องจากเศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงฟื้นตัว การขับเคลื่อนเศรษฐกิจมาจากนโยบายการคลังมากกว่านโยบายการเงิน เพราะหากปรับลดดอกเบี้ยในช่วงนี้อาจไม่ได้ช่วยเศรษฐกิจมากนัก เนื่องจากมีโจทย์อื่นที่ต้องดูแลคือการควบคุมการก่อหนี้ภาคครัวเรือน การปรับตัวของราคาสินค้า และการสร้างแรงจูงใจการออมระดับบุคคล ขณะเดียวกันต้องรอดูการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจของ ธปท.ในวันที่ 20 มี.ค.นี้ ว่าจะเป็นอย่างไร
ขณะที่นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการสำนักวิจัย สายบริหารความเสี่ยง ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย จำกัด (มหาชน) เชื่อว่า ที่ประชุม กนง.ยังคงดอกเบี้ยไว้ที่ 2% ในส่วนของรัฐบาลควรเร่งเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐจะเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศมากกว่าการลดดอกเบี้ย เพราะทำให้เกิดความมั่นใจด้านการลงทุนของภาคเอกชน และการบริโภคในประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาการเบิกจ่ายงบประมาณยังมีความล่าช้ามาก ส่วนแนวโน้มค่าเงินบาทคาดว่ายังมีความผันผวน ถ้าหากธนาคารกลางสหรัฐฯหรือเฟด ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ อาจทำให้ค่าเงินบาทของไทยอ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 33.50-34.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ.
หมายเหตุ : ภาพประกอบบทความ บางภาพไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเนื้อหาแต่อย่างใด Photo credit by : politic.boxza.com
ขอบคุณข้อมูลจาก : ไทยรัฐออนไลน์
Discussion
Follow breaking news Investment property articles on Facebook, click here.