ลดดอกเบี้ยดันเงินบาทอ่อน “หม่อมอุ๋ย” แบ่งรับแบ่งสู้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ
“หม่อมอุ๋ย” พอใจ กนง.ลดดอกเบี้ยทำค่าเงินบาทอ่อนลง ช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมส่งออก กล้อมแกล้มยังมีความหวังเศรษฐกิจปีนี้โต 4% แบงก์กสิกรไทยชี้ลดดอกเบี้ย แค่ช่วยบรรเทาเศรษฐกิจชะลอตัว หั่นจีดีพีเหลือ 2.5-3.5% ค่าเงินบาทเห็นแน่ 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ลง 0.25% จาก 2% เหลือ 1.75% ว่า จะช่วยอุตสาหกรรมส่งออกของไทย เพราะการลดอัตราดอกเบี้ยจะทำให้ค่าเงินบาทอ่อนลง และจะมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้บ้าง เพราะเมื่ออัตราดอกเบี้ยปรับลงทำให้ค่าเงินบาทไม่แพง ทำให้มีความหวัง อย่างไรก็ตาม ปัจจัยหลักที่จะทำให้การส่งออกดีขึ้นอยู่ที่เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า ในตอนนี้ทั้ง ยุโรป จีน ญี่ปุ่น ซึ่งยังไม่ฟื้นตัว
ทั้งนี้ ไม่น่าห่วงเรื่องการลดลงของอัตราดอกเบี้ยจะทำให้เงินทุนไหลออก ส่วนที่มองกันว่าลดน้อยเกินไปหรือไม่นั้น ต้องมองว่าการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้นจะไม่ส่งผลในทันที แต่สิ่งที่น่าสนใจคือการส่งสัญญาณที่ดีของ กนง.จะมีการติดตามภาวะเศรษฐกิจของไทย และจะใช้นโยบายการเงินเป็นเครื่องมือในการสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ
ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐ ในส่วนของงบที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจเห็นทิศทางว่าเริ่มดีขึ้นหลังจากได้ปรับมาตรการต่างๆ เช่นในส่วนของงบประมาณที่ใช้ในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 23,000 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโครงการขนาดเล็ก เช่น การซ่อมโรงเรียนและสถานีอนามัย จะลงนามในสัญญาก่อสร้างของทุกโครงการให้แล้วเสร็จในเดือน มี.ค.นี้ ด้านการลงทุนของเอกชนก็มีแนวโน้มที่จะเริ่มต้นลงทุนเพิ่มแล้ว จากตัวเลขนำเข้าสินค้าวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น แต่ในส่วนนี้อาจจะต้องใช้เวลา
“การบริโภคในเดือน ก.พ.มีสัญญาณที่ดีดูจากยอดการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ที่เก็บได้สูงกว่าในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แม้ยังไม่สูงมาก แต่เป็นการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเห็นทิศทางที่ชัดเจนขึ้นของการเพิ่มขึ้นของแวตในเดือน พ.ค. ส่วนเดือน เม.ย. อาจจะไม่เพิ่มสูงมาก เพราะเป็นช่วงที่มีวันหยุดยาว ซึ่งด้วยปัจจัยของการใช้จ่ายภาครัฐ การบริโภคภาคเอกชน ทำให้ยังมีความหวังว่าจะสามารถผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโตได้ 4% ในปีนี้”
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้รัฐบาลพยายามเร่งงานในทุกด้าน เช่นการประชุมของคณะกรรมการเตรียมการด้านดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จะประชุมนัดแรกในวันที่ 18 มี.ค.นี้ เพื่อผลักดันแผนงานต่างๆให้ได้ภายในปีนี้ เช่นการลงทุนในเรื่องบรอดแบนด์ การทำศูนย์ข้อมูลกลาง หรือดาต้าเซ็นเตอร์ ส่วนการลงทุนในโครงการทวายนั้น คาดว่าจะลงนามในสัญญาเพื่อดำเนินการโครงการระยะแรกได้ในเดือน มิ.ย.นี้ หลังจากนั้นจะรีบดำเนินโครงการในระยะที่สองทันที ซึ่งประเทศไทยจะปล่อยกู้ในโครงการสร้างถนนจากชายแดนไทยไปยังโครงการทวาย โดยจะไม่รอการพิจารณาเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อให้การสร้างถนนสามารถดำเนินการไปได้เลย
นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวในงานสัมมนา “แนวโน้มเศรษฐกิจโลก กระแสความเคลื่อนไหวของค่าเงิน และหุ้นเด่น” ว่า การที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงเหลือ 1.75% ต่อปี
ส่งผลดีต่อภาวะเศรษฐกิจไทยค่อนข้างน้อย เนื่องจาก มีปัจจัยกดดันเศรษฐกิจอยู่ โดยเฉพาะภาวะหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงและการเบิกจ่ายของภาครัฐที่ยังล่าช้า ขณะที่การส่งออกชะลอตัวลงตามเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้การลงทุนภาคเอกชนชะลอตัวตามไปด้วย
ดังนั้น การปรับลดดอกเบี้ยจึงเป็นเพียงการบรรเทาภาวะเศรษฐกิจไม่ให้ชะลอตัวลงกว่าที่เป็นอยู่ อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังมีปัจจัยบวกจากราคาน้ำมันที่ยังทรงตัวในระดับต่ำ ทำให้ไทยมีภาระค่าใช้จ่ายที่ลดลงเพราะไทยเป็นผู้นำเข้าน้ำมันถึง 12% ของจีดีพีทำให้อัตราเงินเฟ้อยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำต่อไป ซึ่งกสิกรไทยได้ปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย หรือจีดีพี ปีนี้ลงเหลือ 2.5-3.5% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 4%
ทั้งนี้ ปัจจัยที่ตลาดเงินต้องติดตามหลังจากนี้คือแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีการฟื้นตัวได้ดีเห็นได้จากตัวเลขการว่างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯที่ลดลงมาเหลือแค่ 5.5% ซึ่งอาจทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด มีการขึ้นดอกเบี้ยเร็วยิ่งขึ้น โดยธนาคารกสิกรไทยประเมินว่าเฟดจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยในช่วงเดือนกันยายนนี้ โดยอาจรอให้อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นอีกเล็กน้อย เพราะมีบทเรียนจากทางญี่ปุ่นและยุโรป ส่วนที่หลายสถาบันวิเคราะห์มองว่าอาจมีการขึ้นดอกเบี้ยในเดือน มิ.ย. มองว่ามีโอกาสเพียง 30% เท่านั้น ซึ่งจากปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลให้แนวโน้มค่าเงินบาทอ่อนค่าลงแตะ 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯในสิ้นปีนี้.
ขอบคุณข้อมูลจาก : ไทยรัฐออนไลน์
Discussion
Follow breaking news Investment property articles on Facebook, click here.