นายกุลิศ สมบัติศิริ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.) เปิดเผยว่า จะเข้าประเมินผลงานตามแผนฟื้นฟูกิจการของทั้งธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย(ไอแบงก์)ในสิ้นเดือน มี.ค.นี้ ที่ครบกำหนด 3 เดือนตามมติของคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือซูเปอร์บอร์ด
ทั้งนี้จากการประเมินในเบื้องต้น ฐานะทางการเงินและผลการดำเนินงานของเอสเอ็มอีแบงก์ มีแนวโน้มที่ดีขึ้นอย่างมาก และมั่นใจว่าจะไม่มีปัญหาในการประเมิน แต่ในขณะที่ไอแบงก์กลับทรุดลงอย่างชัดเจน มีหนี้เอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นมากในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ทั้งนี้หากกรณีที่ไม่ผ่านการประเมินนั้น ยังไม่สามารถบอกถึงแนวทางการดำเนินการได้ โดยจะต้องหารือกันในที่ประชุมซูเปอร์บอร์ดก่อนว่าจะทำอย่างไรต่อไป รายงานข่าวจากธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย(ไอแบงก์) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของไอแบงก์เดือน ก.พ.2558 ที่ผ่านมา สินเชื่อคงค้างหดตัวลงเล็กน้อยจาก 1.08 แสนล้านบาท มาอยู่ที่ 1.06 แสนล้านบาท และมีลูกหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล)ตกชั้นเพิ่มอีก 5,125 ล้านบาท เมื่อรวมกับเดือน ม.ค. ที่มีลูกหนี้ตกชั้น 2,333 ล้านบาท คิดรวมเป็นลูกหนี้ ที่ตกชั้นในช่วง 2 เดือนแรกของปีราว 7,458 ล้านบาท ส่งผลให้ยอดหนี้เอ็นพีแอล ณ สิ้นเดือน ก.พ. อยู่ที่ 5.5 หมื่นล้านบาทหรือคิดเป็น 51.89% ของสินเชื่อรวม เพิ่มจากสิ้นเดือนม.ค. 2558 มียอดหนี้อยู่ประมาณ 5 หมื่นล้านบาท หรือเท่ากับ 46.24% ของสินเชื่อรวม “ถ้าเทียบกับปลายปีสินเชื่อหดตัวต่อเนื่อง โดย ณ สิ้น ธ.ค. 2557 สินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 1.09 แสนล้านบาท และหดตัวมาอยู่ที่ 1.06 แสนล้านบาทในเดือน ก.พ. 2558 ส่วนเอ็นพีแอลก็เพิ่มขึ้น โดย ณ สิ้น ธ.ค. ปี 2557 มียอดคงค้าง 4.78 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 43.56% และเพิ่มเป็น 5.5 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 51.89% ของยอดสินเชื่อรวม” สำหรับลูกหนี้ที่เป็นเอ็นพีแอล จำนวนกว่า 5.5 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นหนี้ชั้นต่ำกว่ามาตรฐาน ค้างชำระหนี้ตั้งแต่ 3 เดือน แต่ไม่เกิน 6 เดือน มีอยู่กว่า 1.56 หมื่นล้านบาท หนี้ชั้นสงสัย ค้างชำระตั้งแต่ 6 เดือน แต่ไม่เกิน 12 เดือน มีจำนวน 8,978 ล้านบาท และหนี้ชั้นสงสัยจะสูญ ที่ค้างชำระตั้งแต่ 12 เดือนขึ้นไป มีอยู่สูงถึง 3 หมื่นล้านบาท โดยมี การตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญแล้ว 3 หมื่นล้านบาท ขณะที่ลูกหนี้ปกติมีอยู่จำนวน 5.1 หมื่นล้านบาท เป็นลูกหนี้ชั้นปกติค้างชำระไม่เกิน 1 เดือน อยู่กว่า 4 หมื่นล้านบาท และลูกหนี้ที่ค้างชำระหนี้ตั้งแต่ 1 เดือน แต่ไม่ถึง 3 เดือน อยู่กว่า 1 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ กลุ่มลูกหนี้ปกติมีหนี้ค้างชำระตั้งแต่ 1 เดือนถึง 3 เดือน มีแนวโน้มที่จะตกชั้นเป็นเอ็นพีแอลเพิ่มอีก 1 หมื่นล้านบาท หากในเดือน มี.ค.นี้ ทางธนาคารยังไม่สามารถเจรจาประนอมหนี้กับกลุ่มดังกล่าวได้ ซึ่งลูกหนี้ส่วนมากเป็นลูกหนี้รายใหญ่ มีมูลหนี้ก้อนใหญ่ ซึ่งหากแก้ไม่ได้จะทำให้ธนาคารเกิดความเสียหายมีหนี้เอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นเกินกว่า 6 หมื่นล้านบาทได้ รายงานข่าว กล่าวอีกว่า เป็นเรื่องยากที่จะทำตามแนวทางแก้หนี้เอ็นพีแอลที่ นายชัยวัฒน์ อุทัยวรรณ์ ประธานคณะกรรมการไอแบงก์ ชี้แจงก่อนหน้านี้ว่าจะเร่งเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้ ขายหลักประกันลูกหนี้บางส่วน และตั้งเป้าภายในไตรมาสแรกจะแก้หนี้ได้ 1.03 หมื่นล้านบาท และคาดว่าทั้งปีจะแก้หนี้ได้ 2 หมื่นล้านบาททำให้สามารถดึงสำรองกลับมาเป็นรายได้อีกราว 1 หมื่นล้านบาท เนื่องจากลูกหนี้เอ็นพีแอลมีมูลหนี้ก้อนใหญ่ทำให้แก้ไขยากภายในระยะเวลาที่กำหนด ด้านนายชัยวัฒน์ กล่าวว่า สาเหตุที่หนี้เอ็นพีแอลมีการตกชั้นเพิ่มขึ้น เกิดจากมีกลุ่มลูกหนี้ธุรกิจหนึ่ง ได้ถือหุ้นบริษัทกลุ่มในเครือ 3-4 แห่ง และเมื่อมีปัญหา ทำให้บริษัทดังกล่าวมีปัญหาตามไปด้วย โดยขณะนี้ธนาคารอยู่ระหว่างเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ คาดว่าจะได้ข้อยุติในการเจรจาภายในเดือน มี.ค.นี้ และยืนยันยังคงเป็นไปตามเป้าหมายเดิมที่ให้ไว้กับซูเปอร์บอร์ดว่า จะแก้ไขหนี้ให้ลดลง 1 หมื่นล้านบาทในไตรมาสแรก ส่วนสินเชื่อที่มีการหดตัวลง เป็นผลมาจากธนาคารรอดูทิศทางการปล่อยสินเชื่อ จากที่มีลูกหนี้บางกลุ่มมีปัญหา จึงได้มีการชะลอการปล่อยสินเชื่อ จนกว่าจะมีการปรับหนี้ให้เป็นลูกหนี้ชั้นปกติ นอกจากนี้ รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงการปิดรับสมัครบุคคลที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการซึ่งปิดรับสมัครไปเมื่อวันที่ 10 มี.ค. ที่ผ่านมา โดยมีผู้เข้ามาสมัคร 5 ราย เป็นบุคคลจากภายในไอแบงก์เองจำนวน 2 ราย คือ นายครรชิต สิงห์สุวรรณ์ รองกรรมการผู้จัดการ และนายรักษ์ วรกิจโภคาทร รองกรรมการผู้จัดการ ส่วนอีก 3 ราย เป็นคนนอกยังไม่มีการเปิดเผยรายชื่อ

หมายเหตุ : ภาพประกอบบทความ บางภาพไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเนื้อหาแต่อย่างใด Photo credit by : tnews.co.th

ขอบคุณข้อมูลจาก : naewna.com