รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เตรียมหารือโครงการความร่วมมือรถไฟไทย-ญี่ปุ่น กับกระทรวงคมนาคมของญี่ปุ่นสิ้นเดือนนี้ เพื่อกำหนดแผนการดำเนินการ รูปแบบความร่วมมือ และรูปแบบการลงทุน โครงการความร่วมมือในการพัฒนาระบบรางไทย-ญี่ปุ่น เป็นการพัฒนาระบบรางใน 3 เส้นทาง คือเส้นทางแรก กาญจนบุรี-กรุงเทพฯ กรุงเทพ-แหลมฉบัง เส้นทางที่ 2 แม่สอด จ.ตาก-มุกดาหาร ซึ่งเป็นเส้นทางที่เชื่อมฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก และเส้นทางที่ 3 กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ จะเป็นเส้นทางเดิมแต่ปรับขนาดรางให้เป็นขนาดรางมาตรฐานยุโรป ขนาด 1.435 เมตร
พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ได้เชิญผู้แทนจากประเทศญี่ปุ่น มาเจรจาถึงเรื่องแผนการดำเนินงาน ความสนใจในการพัฒนาระบบรางว่า จะเลือกเส้นทางใดและรูปแบบการลงทุน เบื้องต้นทางญี่ปุ่นจะส่งปลัดกระทรวงคมนาคมมาหารือ ในวันที่ 31 มี.ค.นี้ สำหรับเส้นทางที่ญี่ปุ่นสนใจและมีความเป็นไปได้ที่จะเลือกมากที่สุด คือเส้นทาง ตาก-กรุงเทพฯ ,กรุงเทพฯ-อรัญประเทศ และกรุงเทพฯ-แหลมฉบัง ซึ่งเป็นเส้นทางที่แบ่งเป็น 3 ตอน เพราะเป็นเส้นทางที่ผ่านโรงงานอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นและมีนิคมอุตสาหกรรม ส่วนความร่วมมือจะเป็นแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ส่วนการลงทุน ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจเข้มแข็งอาจใช้เป็นการลงทุนผ่านไจก้า หรือ อาจใช้เงินจากกองทุนโครงสร้างพื้นฐานของญี่ปุ่น ซึ่งกองทุนนี้รัฐบาลญี่ปุ่นให้เอกชนที่ลงทุนในต่างประเทศกู้ลงทุน อัตราดอกเบี้ยต่ำ เบื้องต้น กระทรวงคมนาคมตั้งกรอบการหารือให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือน นอกจากความร่วมมือในการก่อสร้างรถไฟไทย-ญี่ปุ่นแล้ว ญี่ปุ่นยังสนับสนุนงบประมาณโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงและสายสีแดง โดยรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ คาดว่าจะเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ได้ในปีหน้า (2559) ส่วนสายสีแดง อยู่ระหว่างการเจรจาในสัญญาที่ 3

ขอบคุณข้อมูลจาก : Thai PBS