ภาคธุรกิจเอกชนชี้ช่อง รัฐบาลพลิกฟื้นเศรษฐกิจ
ในสถานการณ์ที่ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ เก็บรายได้ไม่เข้าเป้า การส่งออกถดถอย ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลไม่ค่อยบรรลุผล นักธุรกิจจึงได้เสนอแนะแนวทางการกระตุ้นเศรษฐกิจ มีสาระสำคัญดังนี้
นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ ทีดีอาร์ไอไทยยังต้องพึ่งการส่งออกเป็นรายได้หลักเข้าประเทศ กว่า 60-70% ของอัตราการเจริญเติบโต (จีดีพี) แต่เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักของไทยยังตกต่ำ เช่น สหภาพยุโรป จีน หรือญี่ปุ่น ยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควร มีเพียงสหรัฐอเมริกาที่เศรษฐกิจดีขึ้น แต่ยังมีปัญหาเรื่องการค้ามนุษย์ของไทย อาจทำให้สหรัฐไม่นำเข้าสินค้าบางอย่างจากไทยได้
ภาคการส่งออกยังสำคัญที่สุด เนื่องจากสินค้าส่งออกของไทยกว่า 70% เป็นสินค้าเกษตร สินค้าวัตถุดิบ หากการส่งออกดี ราคาสินค้าเกษตรก็จะดีตาม ส่งผลต่อรายได้เกษตรกรตามมา จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทย และความเชื่อมั่นกับภาคเอกชน
ดังนั้น ไทยต้องแก้ปัญหาส่งออกให้ได้ก่อน แม้จะมีปัจจัยจากเศรษฐกิจโลกตกต่ำก็ตาม หากรัฐบาลเร่งเรื่องการเบิกจ่ายภาครัฐให้รวดเร็วขึ้น ก็มีส่วนช่วยในด้านการลงทุน เช่น การขึ้นเงินเดือนข้าราชการ การยืดระยะเวลาหนี้ให้เกษตรกร เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายในระบบ
เบญจรงค์ สุวรรณคีรี ผู้อำนวยการศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจธนาคารทหารไทย (ทีเอ็มบี)สถานการณ์ภาวะเศรษฐกิจขณะนี้เหลือประตูทางออกไม่มากนัก เนื่องจากเครื่องยนต์ที่คอยขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้ง 5 ได้แก่ การส่งออก การบริโภค การลงทุนภาคเอกชน และการใช้จ่ายภาครัฐ ทุกอย่างดูซบเซา
ตัวที่มีสิ่งเหนี่ยวรั้งน้อยที่สุดคือ การลงทุนของภาคเอกชนและภาครัฐ ในปีนี้จึงให้น้ำหนักการลงทุนภาคเอกชนและการลงทุนของภาครัฐเป็นพิเศษ แต่ก็ยังไม่เห็นการเบิกจ่ายที่ออกมาเป็นรูปธรรม
พรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล - สุพันธุ์ มงคลสุธี - จงรัก รัตนเพียรเมื่อการลงทุนของภาครัฐออกมาช้า ถามว่ายังมีทางเลือกอื่นอีกหรือไม่ ก็ยังพอมีอยู่ซึ่งได้แก่ โอกาสเมื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน AEC และการค้าชายแดนที่ควรจะต้องสนับสนุนมากยิ่งขึ้น ทั้งเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ภาครัฐกำลังเร่งดำเนินการควรจะได้รับการสนับสนุนและเดินหน้าอย่างเข้มข้นและเกิดเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้นในปีนี้ ซึ่งจะเร่งปลดล็อกน้ำหนักที่เป็นตัวถ่วงเศรษฐกิจอยู่ เพราะน้ำหนักที่ถ่วงเศรษฐกิจอยู่คือ การขยายการค้าการลงทุนที่มีการกระจุกตัวอยู่แต่ในหัวเมืองใหญ่และกรุงเทพฯ จึงควรขยายออกไปสู่ภูมิภาคมากยิ่งขึ้น
สิ่งที่จำเป็น จึงขึ้นอยู่กับความชัดเจนของนโยบายรัฐที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการ ถ้าเกิดออกช้าหรือออกไม่ทัน ก็ต้องรอดูว่ารัฐบาลต่อไปจะมาสานต่อหรือไม่
สำหรับทิศทางของอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระยะต่อไปนั้น ถ้าประเมินจากภาวะเศรษฐกิจในขณะนี้ มองว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) น่าจะดอกเบี้ยคงไว้ที่ระดับ 1.75% จนถึงสิ้นปีนี้ อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งปีแรกจะมีความเสี่ยงหากยังมีความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ดีจริงๆ และอาจมีปัจจัยลบเพิ่มเติมมีช่องให้ กนง.ใช้กระสุนดอกเบี้ยเพิ่มเติมได้ แต่ต้องเป็นปัจจัยใหม่นอกจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ล่าช้าและการเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐที่ล่าช้า
ในส่วนมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) นั้น มองว่าประเทศไทยยังไม่มีโอกาสได้ใช้ เนื่องจากไทยยังติดข้อกำหนดทางกฎหมายอย่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การเงิน ที่ไม่เอื้อให้เราสามารถทำได้ ทั้งนี้ พื้นที่ในการใช้นโยบายการเงินยังพอมีอยู่ แต่ยังไม่ใช่จังหวะที่นโยบายการเงินจะมีประสิทธิภาพมากสุด
นโยบายการเงินจะมีประสิทธิภาพได้ต้องมีเงินในระบบหมุนเวียนมีการขยายตัวได้ แต่ภาวะเศรษฐกิจยังไม่เอื้ออำนวย ฉะนั้น อย่างแรกจึงควรฟื้นภาวะเศรษฐกิจก่อน นโยบายดอกเบี้ยที่ลดลงไปก็จะมีประสิทธิภาพมากที่สุด
พรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทยตัวเลขส่งออกที่ติดลบสูง อาจเป็นตัวเลขหลอก ต้องเข้าไปวิเคราะห์รายสินค้าและตัดรายการที่เป็นปัญหาออก เช่น น้ำมันไทยนำมาแปรรูปแล้วส่งออก มูลค่าสูงแต่ห่วงโซ่สั้น หรือสินค้าอีก 2-3 รายการมีปัญหา เช่น เคมีภัณฑ์ ยางพารา ข้าว หรือตลาดจีนและตลาดญี่ปุ่นที่ติดลบมาก เพราะมีปัญหาภายใน และปัญหาเศรษฐกิจโลกที่ยังซึมตัว แยกส่วนนี้ออกตัวเลขติดลบก็ไม่น่ามาก ส่วนตัวเชื่อว่าไตรมาส 2 ปีนี้ เศรษฐกิจโลกจะดีขึ้น และส่งผลต่อการส่งออกฟื้นตัวไม่แค่ไทยแต่ในต่างประเทศด้วย ก็ไม่อยากให้กังวลเรื่องตัวเลขเกินไป ไม่น่าจะติดลบหนักกว่าปีก่อน
ทางออกระยะสั้น นอกจากไม่ต้องกังวลเรื่องน้ำมันแล้ว ควรเร่งระบายสินค้าเกษตรที่มีปัญหาทั้งข้าวและยางพารา โดยไม่ต้องกังวลเรื่องการขาดทุน ต้องตัดใจ เพราะเก็บไว้นานก็ไม่มีประโยชน์ ต้องเสียค่าเก็บ และกระทบต่อผลผลิตใหม่ๆ รัฐต้องยอมขาดทุน เหมือนเอกชนยอมตัดภาระเพื่อรักษาส่วนใหญ่ แล้วค่อยมาแก้ต้นทางไม่ให้เกิดสต๊อกล้น
ด้านเกษตร ผมเสนอมาตลอด คือรัฐต้องประกาศให้ทุกพืชต้องมีมาตรฐานด้านอาหารปลอดภัยทั้งหมดภายใน 3 ปี ตอนนี้มาตรการอาหารปลอดภัยมี 200 มาตรฐาน แต่ไทยใช้เพียง 10 กว่ามาตรฐาน หากประกาศก็จะเกิดการลงทุนภาคเอกชนและเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรของไทยมหาศาล ในอนาคตก็ไม่ต้องกังวลว่าเศรษฐกิจโลกแย่จะกระทบต่อส่งออกไทยอีก ทำอย่างนี้ มั่นใจได้ว่าการส่งออกไทยจะโตก้าวกระโดด และยังได้เงินจากพัฒนามาตรฐานสู่ระบบเศรษฐกิจโตได้เกิน 3-4%
ส่วนการจัดคณะไปต่างประเทศนั้น ต้องทำเพราะดูแลฐานลูกค้าเดิม แต่ไม่ได้ผลทันทีต่อการส่งออก เพราะทุกประเทศเขาก็ระมัดระวังใช้จ่าย แต่ยอมรับว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยตอนนี้ต้องอาศัยงบประมาณรัฐ แต่ก็พบว่าการใช้การเบิกจ่ายยังต่ำ ไม่ทันเหตุการณ์กว่าเงินจะลงระบบ ส่วนตัวคิดว่าน่าจะครึ่งปีหลัง กว่าจะฟื้นตัวก็ปลายปี
สุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)ขณะนี้เศรษฐกิจในประเทศค่อนข้างชะลอตัว ประชาชนไม่กล้าใช้จ่าย โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรที่มีรายได้ลดลงจากราคาสินค้าเกษตรตกต่ำหายไปครึ่งหนึ่ง หนี้สาธารณะสูง ทำให้ภาคธุรกิจยอดขายสินค้าได้ลดลง
ดังนั้น แนวทางที่จะเรียกความเชื่อมั่น กระตุ้นเศรษฐกิจ คือ การเบิกจ่ายงบประมาณจากภาครัฐ ที่ภายในครึ่งปีงบประมาณ 2558 (ตุลาคม 2557-มีนาคม 2558) ควรเบิกจ่ายงบประมาณระดับ 35-40% จากปัจจุบันอยู่ที่ 20%
ส่วนการส่งออกปัจจุบันยังไม่ดีนัก เพราะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจทั่วโลกที่ยังไม่ฟื้นตัว มีเพียงอุตสาหกรรมรถยนต์ที่ขยายตัว และการท่องเที่ยวที่เติบโตดี
ด้วยปัญหาเศรษฐกิจในประเทศไม่ดี ดังนั้น ภาครัฐต้องชัดเจนว่าจะยกระดับราคาสินค้าเท่าไร อย่างข้าวควรมีราคาขยับขึ้นไปถึง 8,000-9,000 บาท/ตัน เร่งเบิกจ่ายงบลงทุนให้ได้ตามเป้าหมาย ส่วนการส่งออกแม้ตลาดจะไม่ดีแต่ยังมีโอกาส คือ ตลาดประเทศเพื่อนบ้าน และบางประเทศในเอเชีย อาทิ อินเดีย ที่การเติบโตทางเศรษฐกิจสูง ดังนั้น ต้องสนับสนุนอุตสาหกรรมที่เป็นที่ต้องการของลูกค้าในประเทศเหล่านี้ อาทิ อาหาร เชื่อว่าจะเป็นทางออกให้กับเศรษฐกิจไทยแน่นอน
จงรัก รัตนเพียร รองกรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทยสถานการณ์เศรษฐกิจขณะนี้ คงต้องติดตามความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง รวมไปถึงภาพรวมของการส่งออกที่ปีนี้คาดว่าอาจเติบโตน้อยลงจนเกือบเป็นศูนย์ (0%) ซึ่งทำให้เศรษฐกิจไทยมีการชะลอตัวลง และส่งผลกระทบต่อความสามารถในการทำกำไรของบริษัทในไทยลดลง 1-2% ตามการลดลงของยอดขายที่ 1-2% เช่นเดียวกัน
ดังนั้น การลงทุนภาครัฐต้องเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้เนื่องจากจะเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และอยากเสนอให้มีการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนซึ่งจะทำให้การขับเคลื่อนการลงทุนมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจและการบริโภคของประชาชนตามมา
ในส่วนภาคอุตสาหกรรมที่น่าเป็นห่วงในขณะนี้ ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมเกษตร เนื่องจากได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ทั้งนี้ ธนาคารได้แนะนำให้ลูกค้าของธนาคารพัฒนาสินค้าเกษตรเป็นเกษตรแปรรูปเนื่องจากเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่สามารถขยายตัวได้ดี
นอกจากนี้ ธนาคารยังมีแนวทางช่วยเหลือลูกค้าเพื่อช่วยเหลือให้ธุรกิจอุตสาหกรรมสามารถเติบโตได้ ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ผันผวนในขณะนี้ คือการรวมกลุ่มพันธมิตรเป็นเครือข่ายเพื่อลดค่าใช้จ่ายและต้นทุนลง โดยธนาคารมีแนวทางช่วยเหลือลูกค้าในรูปแบบการสร้างเครือข่าย ได้แก่ K-Value Chain Solution หรือห่วงโซ่ธุรกิจไปยังธุรกิจต่างๆ ทั้งให้คำแนะนำและจับคู่ทางธุรกิจ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมขนส่ง อาหารและเครื่องดื่ม เกษตรอุตสาหกรรม และธุรกิจค้าส่ง
ธุรกิจรายใหญ่จะมีความแข็งแกร่งที่สุดที่จะเปิดตลาดในตลาดเออีซีได้ โดยผู้ประกอบการไทยรายใหญ่เริ่มเข้าสู่ตลาดเออีซีแล้วหลายราย คาดว่ามูลค่าการลงทุนในต่างประเทศในอีก 2-3 ปี จะเพิ่มขึ้นจาก 8 แสนล้านบาท เป็น 1 ล้านล้านบาท
ขอบคุณที่มา จาก : มติชนออนไลน์