ยกเครื่องขนส่งบก-ราง-น้ำ-อากาศใน8ปี ครม.สัญจรหัวหิน เคาะแผน 8 ปี พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งวงเงิน 1.912 ล้านล้านบาท เป้าหมายลดต้นทุนโลจิส-ติกส์ต่อจีดีพีลงเหลือ 2%ในปี 2570 จากปัจจุบันอยู่ที่ 14.4% คนไทยจะเดินทางด้วยรถไฟเร็วขึ้นเฉลี่ย 100 กม.ต่อชั่วโมงจาก 60 กม.ต่อชั่วโมงในปัจจุบัน ด้าน “บิ๊กตู่” รับเศรษฐกิจไทยตก แต่ไม่มากเท่าประเทศอื่น ลั่นรัฐบาลปั้นแพ็กเกจสร้างความต่อเนื่องเศรษฐกิจไทย พร้อมดูแลเอสเอ็มอี พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นอกสถานที่อย่างเป็นทางการ (ครม.สัญจร) ที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย ปี 2558-2565 สำหรับใช้เป็นกรอบการลงทุนในระยะเวลา 8 ปี วงเงิน 1,912,681.79 ล้านบาท รวมทั้ง ครม.ได้เห็นชอบแผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่งระยะเร่งด่วนปี 2558 รวมทั้งสิ้น 59 โครงการ คิดเป็นวงเงินลงทุน 847,672.40 ล้านบาทซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่อยู่ในแผน 8 ปี ประกอบด้วยโครงข่ายคมนาคมรองรับการเปิดประชาคมอาเซียน และเขตเศรษฐกิจพิเศษตามนโยบายของรัฐบาล โครงการเพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชนในการเดินทางและขนส่งสินค้า ซึ่งทั้งหมดจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ขณะเดียวกัน ครม.ได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังพิจารณาจัดหาแหล่งเงินทุนตามความเหมาะสม โดยงบประมาณ 1.912 ล้านล้านบาท จะแยกตามแหล่งเงินทุนดังนี้คือ งบประมาณรายจ่ายประจำปีวงเงิน 541,992 ล้านบาท คิดเป็น 28.34% ของวงเงินทั้งหมด เงินกู้ตามแผนบริหารหนี้สาธารณะวงเงิน 986,782 ล้านบาท คิดเป็น 51.59% เงินรายได้รัฐวิสาหกิจ 85,759 ล้านบาทคิดเป็น 4.48% และเงินร่วมลงทุนภาคเอกชน (พีพีพี) วงเงิน 298,147 ล้านบาท หรือคิดเป็น 15.59% โดยให้หน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจใช้แผนนี้เป็นแนวทางในการดำเนินโครงการต่างๆ
สำหรับโครงการที่จะนำเงิน 1.912 ล้านล้านบาทไปใช้ แยกเป็นดังนี้คือ ทางบกวงเงิน 623,608 ล้านบาทคิดเป็น 32.60%, ทางราง 1,071,965 ล้านบาท คิดเป็น 56.05% แบ่งเป็นรถไฟทางคู่ 494,460 ล้านบาท และรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน 577,504 ล้านบาท, ทางน้ำวงเงิน 101,288 ล้านบาท คิดเป็น 5.30%, ทางอากาศวงเงิน 50,068 ล้านบาท คิดเป็น 2.62% และโครงการเชื่อมต่อโครงข่ายในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลวงเงิน 65,750 ล้านบาท คิดเป็น 3.44% ทั้งนี้ เมื่อแยกตามการลงทุนจะประกอบด้วย 5 แผนงาน ได้แก่

1.การพัฒนาโครงข่ายรถไฟระหว่างเมือง เช่น โครงการรถไฟทางคู่

2.การพัฒนาโครงข่ายขนส่งสาธารณะ เพื่อแก้ไขปัญหาจราจรใน กทม.และปริมณฑล

3.การเพิ่มขีดความสามารถทางหลวง เพื่อเชื่อมโยงฐานการผลิตที่สำคัญ เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน

4.การพัฒนาโครงข่ายการขนส่งทางน้ำ เช่น ท่าเรือสงขลาแห่งที่ 2 ท่าเรือ จ.อ่างทอง ท่าเทียบเรือสำราญขนาดใหญ่ จ.กระบี่ และเกาะสมุย ท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 3

5.การเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการขนส่งทางอากาศ เช่น สนามบินสุวรรณภูมิ ดอนเมือง ภูเก็ต แม่สอด และโครงการก่อสร้างสนามบินเบตง จ.ยะลา

กระทรวงคมนาคมยังได้รายงานเป้าหมายตามแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง 8 ปีว่า เมื่อสำเร็จตามแผนจะลดต้นทุนโลจิสติกส์ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ลงเหลือ 2% ในปี 2570 จากปัจจุบัน 14.4% สัดส่วนผู้เดินทางระหว่างจังหวัดโดยรถยนต์ส่วนบุคคลลดลงเหลือ 40% ในปี 2570 จากปัจจุบัน 59% ความเร็วเฉลี่ยของรถไฟขนส่งสินค้าจะเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันอยู่ที่ 39 กิโลเมตร (กม.) ต่อชั่วโมง เพิ่มขึ้นเป็น 60 กม.ต่อชั่วโมง ส่วนความเร็วเฉลี่ยของขบวนรถโดยสารจะเพิ่มขึ้นเป็น 100 กม.ต่อชั่วโมง จากปัจจุบันอยู่ที่ 60 กม.ต่อชั่วโมง นอกจากนี้ สัดส่วนการขนส่งทางรางจะเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 5% ในปี 2570 จากปัจจุบัน 2.5% การขนส่งทางน้ำเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 19% จากปัจจุบัน 15% และยังสามารถลดการสูญเสียจากการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงลงไม่น้อยกว่า 100,000 ล้านบาทต่อปี และความสามารถในการรองรับผู้โดยสาร ณ ท่าอากาศยานในกรุงเทพมหานคร ทั้งดอนเมืองและสุวรรณภูมิจะเพิ่มขึ้นเป็น 90 ล้านคน ในปี 2559 จากปัจจุบัน 63 ล้านคน อย่างไรก็ตามสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ให้ความเห็นว่า การดำเนินโครงการภายใต้แผนงานฯดังกล่าว เห็นควรให้เสนอ ครม.พิจารณาเป็นรายโครงการตามขั้นตอนของกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ขณะนี้ทั้งเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจอาเซียนและเศรษฐกิจหลายประเทศตกหมด อินเดียก็ตก อเมริกาก็ตก ส่วนของไทยตก แต่ไม่มากเท่าประเทศอื่น และที่ตกของไทยก็คือธุรกิจสีเทาที่ตก เพราะเศรษฐกิจชั้นล่างหายไป แต่เศรษฐกิจไทยไม่มีความต่อเนื่อง จึงต้องทำให้เป็นแพ็กเกจให้ได้ และจะส่งเสริมความเข้มแข็งด้วยธุรกิจขนาดเล็กและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) แต่ต้องให้คนกลับเข้ามาในระบบ เพราะมีเอสเอ็มอีไม่ได้จดทะเบียนกว่า 2 ล้านธุรกิจแล้วก็มาโวยวายว่าเข้าไม่ถึงแหล่งทุน ก็เพราะไม่จดทะเบียนใครจะช่วยได้ พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ที่ประชุม ครม.ได้หารือถึงตัวเลขการส่งออกเดือน ก.พ.ที่ติดลบ เมื่อเทียบกับประเทศอื่นพบว่าการติดลบของไทยอยู่ในช่วงกลางๆ.

ขอบคุณข้อมูลจาก : ไทยรัฐออนไลน์