ตามที่ น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ แนะนำให้ คสช. นำ มาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว ฉบับปี 2557 มาใช้แทน กฎอัยการศึก เพื่อลดแรงกดดันจากนานาชาติ (ฟังทรรศนะซีไอเอเมืองไทย ตอน 1 น.ต.ประสงค์ เปรียบ ปฏิวัติ คมช.-คสช. เก่าเสียของ ใหม่ของเสีย และ ฟังทรรศนะซีไอเอเมืองไทย ตอน 2 น.ต.ประสงค์ เตือนเมษาฝ่ายต้านเคลื่อนไหว การเมืองส่อเดือด) ซึ่ง ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ยอมรับว่า กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณานั้น ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จึงจะขอนำเสนออำนาจของ ม.44 รวมทั้งสอบถามความคิดเห็น จาก ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อไขความสำคัญของ ม.44 ว่า มีอำนาจมากพอที่จะนำมาใช้แทนกฎอัยการศึก เพื่อคืนความสุขให้กับประชาชน ได้ตามที่ คสช. ประกาศเจตนารมณ์ไว้ได้หรือไม่

อนุสาวรีประชาธิปไตย

ทั้งนี้ มาตรา 44 บัญญัติเอาไว้ว่า ในกรณีที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเห็นเป็นการจําเป็นเพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปในด้านต่างๆ การส่งเสริมความสามัคคีและความสมานฉันท์ของประชาชนในชาติ หรือเพื่อป้องกัน ระงับ หรือปราบปรามการกระทําอันเป็นการบ่อนทําลายความสงบเรียบร้อย หรือความมั่นคงของชาติ ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือราชการแผ่นดิน ไม่ว่าจะเกิดขึ้นภายในหรือภายนอกราชอาณาจักรให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีอํานาจสั่งการระงับยับยั้ง หรือกระทําการใดๆ ได้ ไม่ว่าการกระทํานั้นจะมีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหารหรือในทางตุลาการ และให้ถือว่าคําสั่งหรือการกระทํา รวมทั้งการปฏิบัติตามคําสั่งดังกล่าว เป็นคําสั่งหรือการกระทํา หรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญนี้และเป็นที่สุด ทั้งนี้ เมื่อได้ดําเนินการดังกล่าวแล้ว ให้รายงานประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติและนายกรัฐมนตรีทราบโดยเร็ว ถอดรหัสไขทุกตัวอักษรอำนาจ มาตรา 44 อ.ปริญญา กล่าวว่า มาตรา 44 เป็นมาตราที่ให้อำนาจทุกสิ่งอย่างกับ คสช. ถ้าอ่านดูแล้ว จะทราบว่าเหตุผลมันกว้างขวางมาก เพราะอ่านดูแล้ว ไม่ว่าเรื่องใดก็เข้าทั้งหมด อย่างที่เขียนไว้ว่า หากหัวหน้า คสช. เห็นว่าเป็นการจําเป็นเพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปในด้านต่างๆ การส่งเสริมความสามัคคีและความสมานฉันท์ของประชาชนในชาติ หรือเพื่อป้องกัน ระงับ หรือปราบปรามการกระทําอันเป็นการบ่อนทําลายความสงบเรียบร้อย ซึ่งมันครอบจักรวาลมาก จนสามารถหยิบมาใช้ได้ทุกเรื่อง เพียงหัวหน้า คสช. เห็นว่าจะต้องใช้ ก็ใช้ได้เลย

ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล

สิ่งสำคัญของ มาตรานี้ คือเรื่อง "อำนาจ" ตามมาตรานี้ หัวหน้า คสช. มีอำนาจในการออกคำสั่งระงับยับยั้ง หรือ กระทำการใดๆ คำว่า "ใดๆ" หมายถึงทุกสิ่งทุกอย่าง ก็แปลว่า อำนาจตามมาตรา 44 คือ อำนาจสั่งการได้ทุกอย่าง ยับยั้งได้ทุกอย่าง กระทำการได้ทุกอย่าง อาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายมหาชน กล่าวต่อว่า แล้วที่สงสัยว่า "ใดๆ" อาจจะหมายรวมถึงเฉพาะอำนาจบริหาร หรือในการปกครองเท่านั้น ไม่น่าจะไม่รวมไปถึงนิติบัญญัติ และตุลาการ แต่มาตรา 44 จึงมีเขียนระบุมาเลยว่า "ไม่ว่าการกระทํานั้นจะมีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหารหรือในทางตุลาการ" ที่เขียนมานี้ก็คือจบเลย ที่สงสัยว่า "ใดๆ" อาจจะหมายถึงเฉพาะอำนาจบริหาร ก็ไม่ใช่แล้ว มันให้อำนาจนิติบัญญัติและตุลาการด้วย

คำถามต่อมา หากไม่เห็นด้วย จะไปร้องใครได้หรือไม่ อ.ปริญญา กล่าวว่า ประโยคต่อมาบอกว่า "คําสั่งหรือการกระทํา หรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญนี้และเป็นที่สุด" ดังนั้นไม่ว่า คสช. จะสั่ง หรือจะทำอะไร รวมถึงผู้ที่ทำตามคำสั่ง คสช. ตามมาตรานี้ จะไม่มีวันขัดรัฐธรรมนูญ หรือขัดกฎหมาย เพราะมาตรานี้เขียนว่า ไม่ว่าจะทำอะไรก็ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและชอบด้วยกฎหมายทั้งสิ้น ส่วนคำว่า "เป็นที่สุด" ก็หมายความว่าไม่สามารถไปฟ้อง ไปร้องอะไรกับใครได้ทั้งสิ้น ไม่ได้ ทุกอย่างจบที่ คสช. "โดยสรุป มาตรา 44 จึงเป็นอำนาจที่เต็ม 100 ถ้าโลกนี้มีอำนาจเต็ม 100% มาตรานี้ให้อำนาจ 100%"

เหนือกฎอัยการศึก เตือน ดาบสองคม ควรใช้เท่าที่จำเป็น มาตรา 44 มีอำนาจมากกว่ากฎอัยการศึก? ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวว่า กฎอัยการศึกยังเขียนให้อำนาจเป็นเรื่อง ๆ เช่น การจับกุม การควบคุมตัวสามารถทำได้กี่วัน อำนาจตรวจค้น สั่งห้ามไม่ให้ชุมนุม ซึ่งอำนาจก็มีเป็นเรื่องๆ ไป แต่อำนาจตามมาตรา 44 คือการให้อำนาจทำได้ทุกอย่างไว้ล่วงหน้า เหมือนเช็คเปล่าโดยแท้ ต้องการใช้อำนาจอะไรก็เขียนเช็คลงไป และนำมาใช้ได้เลย ซึ่งตาม หลักการปกครองโดยกฎหมายหรือนิติรัฐแล้ว เราจะให้เช็กเปล่ากับผู้มีอำนาจไม่ได้ เพราะเราไม่รู้ว่าเขาจะไปใช้อะไร ข้อดีข้อเสียของมาตรา 44 อาจารย์ปริญญา กล่าวว่า คนไทยชอบพูดว่าดาบมีสองคม ขึ้นอยู่กับผู้ใช้ แต่มาตรานี้มันหนักยิ่งกว่าดาบสองคม เพราะเป็นอำนาจเต็ม 100% มันจึงอยู่ที่ผู้ใช้ 100% ว่าจะใช้เมื่อไหร่ และอย่างไร จึงเป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับอำเภอใจของตัวผู้ใช้ ในแง่ของประชาชนก็ต้องคาดหวังว่าผู้มีอำนาจตามมาตรานี้จะไม่ใช้อำนาจในทางที่กระทบกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน หรือใน
ทางที่ก่อความเดือดร้อนกับประชาชน ซึ่งเราทำได้แค่คาดหวัง เราห้ามไม่ได้ เพราะเขาทำอะไรก็ชอบด้วยกฎหมาย และรัฐธรรมนูญทั้งหมด จะไปร้องกับใครก็ไม่ได้ "อำนาจ เป็นของอันตราย เพราะใช้แล้วกระทบกับสิทธิของประชาชน หากใช้มากก็กระทบมาก ดังนั้น การใช้อำนาจ ต้องใช้เท่าที่จำเป็นต่อการแก้ปัญหาของประชาชนและประเทศชาติ ด้วยเหตุนี้ ในระบบประชาธิปไตยเขาถึงให้อำนาจเท่าที่จำเป็น" ผศ.ดร.ปริญญา กล่าว

เปรียบไม่ต่าง ม.17 ยุคจอมพลสฤษดิ์ แถมเหนือกว่า นอกจากนี้ อ.ปริญญา ยังกล่าวว่า มาตรานี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ทุกครั้งที่มีการปฏิวัติ และประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว ก็จะมีมาตรานี้ทุกครั้ง ยกเว้นครั้งเดียว ตอนปฏิวัติ 19 กันยายน 2549 ไม่มีมาตรานี้ ที่มาของมาตรา 44 นี้คือมาตรา 17 ในธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2502 ของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หรือมาตรา 17 ในตำนาน ที่จอมพลสฤษฎ์ใช้สั่งประหารชีวิตคนไป 11 ครั้งโดยไม่ต้องขึ้นศาล ถ้าไปอ่านดูจะรู้ว่ามาตรา 44 นี้ลอกมา ต่างกันตรงที่ ม.17 ให้อำนาจนายกรัฐมนตรี มีอำนาจในการสั่งการ หรือ กระทำการใดๆ เท่านั้นแต่มาตรา 44 ไปไกลกว่า เพราะเขียนว่า ไม่ว่ากระทำนั้นจะมีผลในทางนิติบัญญัติ หรือ ตุลาการ ดังนั้นมาตรานี้จึงมีอำนาจเยอะกว่าทุกฉบับที่ผ่านมา คำพิพากษาศาล ก็ยกเลิกได้ ส่วนกรณี น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ ตั้งข้อสังเกตกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ เอาไว้ว่า มาตรา 44 สามารถยกเลิกได้แม้แต่คำพิพากษาของศาล นั้น ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวว่า "ใดๆ" ก็หมายถึงทุกสิ่งอย่าง จึงขอสรุปให้เข้าใจง่ายคือ มาตรา 44 คือ อำนาจคณะปฏิวัติ เมื่อสามารถยึดอำนาจการปกครองประเทศ ก็สามารถสั่งการได้ทุกอย่าง มาตรา 44 คือการคงอำนาจคณะปฏิวัติไว้ ถึงแม้จะประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวแล้ว ว่าง่ายๆคือคณะปฏิวัติยังคงมีอำนาจทุกอย่าง สามารถสั่งได้ทุกอย่าง แบบเดียวกัน

โดยหลักแล้วไม่ควรมีมาตรานี้ ตอนรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2549 ก็ไม่มีแล้ว แต่พอมาถึงตอนนี้ดันกลับมาใหม่ แต่เมื่อมันมีมาแล้วก็ไม่ควรใช้ เพราะมาตรานี้ให้อำนาจสมบูรณ์แบบ สุดท้าย อ.ปริญญา ยังกล่าวถึงเรื่องกฎอัยการศึก ว่า ส่วนตัวเห็นว่าควรยกเลิก เพราะการจัดทำรัฐธรรมนูญควรจัดทำในบรรยากาศที่เปิดกว้าง เพราะการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ที่มา ก็ไม่เป็นไปตามประชาธิปไตย แล้วตอนก่อนประกาศใช้ก็ไม่ต้องทำประชามติ แถมยังร่างรัฐธรรมนูญภายใต้กฎอัยการศึกอีก เข้าใจว่า คสช. ต้องการเครื่องมือบางอย่างในการควบคุมสถานการณ์ แต่เครื่องมือก็ไม่ควรจะมาทำลายบรรยากาศที่ประชาชนจะมีส่วนร่วมในการจัดทำรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่แค่ว่ามีส่วนร่วมกับ กมธ.ยกร่างฯ หรือ สปช. เท่านั้น แต่มันควรจะหมายถึงบรรยากาศโดยรวมของประเทศ การทำรัฐธรรมนูญภายใต้กฎอัยการศึก จะทำให้ประชาชนยอมรับได้ยาก ดังนั้น ส่วนตัวคิดว่ากฎอัยการศึกก็ควรจะคลี่คลายหรือยกเลิก แต่ถ้าใช้มาตรา 44 แทนมันอาจจะหนักกว่าเดิม ถ้าจะหาอะไรมาแทนมันควรจะเบาลงไม่ใช่หนักขึ้น

ขอบคุณข้อมูลจาก : ไทยรัฐออนไลน์