รู้ยัง!พม่าล้ำหน้าไทย เซ็นต่างชาติ ร่วมแบ่งปันผลผลิตปิโตรเลียม
ผู้จัดการสุดสัปดาห์-ถึงแม้ว่าที่ผ่านมารัฐบาลพม่าจะใช้ระบบการให้สัมปทานเข้าสำรวจและผลิตปิโตรเลียม แต่ถึงวันนี้ความคิดของผู้นำประเทศพม่าที่คนไทยมองว่าล้าหลังกว่ามาโดยตลอดนั้น ก้าวล้ำ หน้า ไปกว่าไทยแล้ว โดยล่าสุด รัฐบาลพม่าตัดสินใจใช้ ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต หรือ Production Sharing Contracts (PSCs) ในการให้บริษัทลงทุนจากต่างประเทศสำรวจหาน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติในอ่าวเบงกอล
ตาม ความตกลง PSCs 4 ฉบับ ซึ่งมีขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่ 20 มี.ค. ที่ผ่านมานั้น รัฐบาลพม่าจะเข้าไปมีส่วนร่วมในการลงทุนกับหุ้นส่วนต่างประเทศ และร่วมเป็นเจ้าของน้ำมันดิบและก๊าซ ธรรมชาติที่ผลิตได้ รวมทั้งร่วมแบกรับความเสี่ยงในการลงทุนด้วย
หนังสือพิมพ์โกลบอลนิวไล้ท์ออฟเมียนมาร์ ของทางการพม่า รายงานเรื่องนี้โดยอ้างเจ้าหน้าที่ในรัฐระไค ว่าภายใต้สัญญา PSCs รัฐวิสาหกิจน้ำมันและก๊าซพม่า (Myanmar Oil and Gas Enterprise) ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงพลังงาน ได้เซ็นความตกลงกับ บริษัทบีจีเอ็กซ์พลอเรชั่น แอนด์ โปรดักชั่น เมียนมาร์ (BG Exploration & Production Myanmar) สำหรับการสำรวจแปลง A-4
สำหรับแปลงที่สอง รัฐวิสาหกิจน้ำมันและก๊าซฯ ของพม่า เซ็นสัญญากับบริษัทวูดไซด์ เอนเนอร์จี (Woodside Energy Myanmar) และเมียนมาร์ปิโตรเลียม เอ็กพลอเรชั่น แอนด์ โปรดักชั่น (Myanmar Petroleum Exploration & Production Co Ltd) ในการสำรวจแปลง AD-2
นอกจากนั้น MOGE ยังเซ็นความตกลง PSCs อีก 2 ฉบับ เพื่อสำรวจแปลง A-7 กับวูดไซด์ เอนเนอร์จีฯ และแปลง AD-5 กับ บีจีเอ็กซ์พลอเรชั่นฯ และ เมียนมาร์ปิโตรเลียมฯ รายเดียวกัน ซึ่งแปลงสำรวจทั้งหมดอยู่ในเขตรัฐระไค (Rakhine/ยะไข่) ทางภาคตะวันตกของประเทศ
สำหรับบริษัทบีจีเอ็กซ์พลอเรชั่นฯ เมียนมาร์ เป็นบริษัทลูกของ British Gas Group แห่งประเทศอังกฤษ และจดทะเบียนในสิงคโปร์ ส่วน บริษัทวูดไซด์ เอนเนอร์จี (เมียนมาร์) จดทะเบียนในสิงคโปร์ เช่นกัน โดยเป็นบริษัทลูกของวูดไซด์เอ็นเนอร์จี แห่งออสเตรเลีย
ทันทีที่มีการเซ็นความตกลงทั้ง 4 ฉบับ รัฐบาลพม่าได้รับเงินโบนัสเป็นค่าเซ็นสัญญา (Signature Bonus) รวมเป็นเงิน 82.4 ล้านดอลลารน์ กับอีก 3.7 ล้านดอลลาร์ เป็นค่าข้อมูลต่างๆ หรือ Data Fee จากบริษัทคู่สัญญา ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลในทางปฏิบัติในการเซ็นความตกลงเกี่ยวกับการสำรวจน้ำมันดิบและก๊าซ
แปลงสำรวจ 2 แปลงแรกที่รัฐวิสาหกิจน้ำมันฯ ของพม่าเซ็นสัญญากันกับบริษัทต่างชาตินั้น อยู่ในเขตน้ำตื้นไหล่ทวีป โดยมีกำหนดระยะเวลาการศึกษาและตรวจตรา (Observation) ทั่วไปจะใช้เวลา 1 ปี และ 6 ปี สำหรับการเจาะสำรวจ ซึ่งจะใช้เงินลงทุนราว 545.5 ล้านดอลลาร์ ส่วนอีก 2 แปลงหลังอยู่ในเขตน้ำลึก ซึ่งจะใช้เวลา 2 ปี ในขั้นตอน Observation กับ 6 ปี สำหรับการสำรวจ หนังสือพิมพ์ของทางการพม่ารายงาน โดยไม่ได้ให้มูลค่าการลงทุนสำหรับ 2 แปลงหลัง
การเปลี่ยนแปลงรูปแบบสัญญาที่รัฐบาลพม่าทำกับบริษัทต่างชาติในคราวนี้ แตกต่างไปไปจากหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งการอนุญาตให้ต่างชาติเข้าไปสำรวจและผลิตพลังงานในพม่าจะเป็นการให้สัมปทานเกือบทั้งหมด
การทำความตกลงแบบ PSC หรือ PSCs ในครั้งนี้ ย่อมแสดงให้เห็นความมั่นใจในความร่ำมรวยทางด้านทรัพยากรปิโตรเลียม รวมทั้งความพร้อมในด้านการลงทุนของรัฐบาลพม่า เนื่องจากที่ผ่านมาได้พิสูจน์แล้วว่า แหล่งเบงกอลรุ่มรวยด้วยปิโตรเลียม โดยเฉพาะอย่างยิ่งก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเมื่อหลายปีก่อน หน่วยงานขององค์การสหประชาชาติ ได้รายงานเกี่ยวกับปริมาณสำรองมหาศาลในแหล่งนี้
นอกจากนั้น ก๊าซธรรมชาติปริมาณมหาศาลที่พม่าขายให้แก่จีน โดยส่งผ่านระบบท่อ ข้ามภาคเหนือเข้าสู่มณฑลหยุนหนัน หรือยูนนานนั้น ก็ผลิตจากแหล่งเบงกอลในรัฐระไคทั้งสิ้น
แผนภูมิที่ทำขึ้นใหม่ แสดงระบบท่อน้ำมันดิบและท่อก๊าซพม่า-จีน แต่รูปสี่เหลี่ยมเล็กๆ แสดงแปลงสำรวจในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ 200 ไมล์ทะเล ในเขตเบงกองของพม่านั้น จัดทำขึ้นเพื่อแสดงอาณาบริเวณโดยสังเขป ไม่สามารถใช้อ้างอิงได้ รัฐบาลพม่าเพิ่งเซ็นสัญญาสำรวจทรัพยากรในบริเวณนี้อีก 4 แปลง และ เป็นสัญญาที่เปลี่ยนจากระบบสัมปทานเป็นระบบร่วมผลิต
ก่อนหน้านี้ เมื่อต้นปี 2557 รัฐบาลพม่าได้ให้สัมปทานแปลงสำรวจ จำนวน 30 แปลง ให้แก่บริษัทข้ามชาติ ซึ่งรวมทั้งเชฟรอน กับโคโนโคฟิลลิปป์ จากสหรัฐฯ โตตาลจากฝรั่งเศส บีจีจากอังกฤษ และบริษัทน้ำมันสแตทออยล์ จากนอร์เวย์ด้วย ทั้งหมดเป็นแปลงสำรวจนอกชายฝั่ง และล้วนอยู่ในเขตน้ำลึก ซึ่งการสำรวจต้องใช้เทคโนโลยีสูง และลงทุนอย่างสูง บริษัทผู้ลงทุนได้รับสิทธิให้ถือหุ้นถึง 100% หรือมี MOGE ร่วมถือหุ้นส่วนน้อยอยู่ด้วย
หันมามองประเทศไทย หลังจากที่ผ่านการถกเถียง เคลื่อนไหวอย่างหนักหน่วงของภาคประชาชน นำโดยเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ร่วมกับทุกภาคส่วนของสังคม รวมทั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่ไม่เห็นด้วยกับการให้สัมปทานและต้องการให้ชะลอการเปิดสัมปทานปิโตรเลียม รอบที่ 21 ออกไปก่อน
การเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ศึกษาเปรียบเทียบระหว่างการนำระบบแบ่งปันผลผลิตมาใช้กับระบบสัมปทาน ส่งผลให้รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24 ก.พ.2558 ชะลอการเปิดสัมปทานปิโตรเลียม รอบที่ 21 ออกไปไม่มีกำหนดเพื่อศึกษาเรื่องนี้อย่างรอบคอบ
พล.อ.ประยุทธ์ สั่งการให้มีการตั้งคณะกรรมการร่วมมาศึกษารายละเอียด และตัดสินใจว่าให้ไปแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องเรียบร้อยก่อนที่จะเดินหน้าเปิดให้ต่างชาติเข้ามาสำรวจขุดเจาะและผลิตปิโตรเลียมต่อไป โดยช่วงเวลานี้จะยังไม่มีการเปิดให้ยื่นสัมปทาน และไม่ใช่แต่แก้กฎหมายอย่างเดียวเท่านั้น ยังมีขั้นตอนของการดำเนินการต่างๆ ที่จะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดของประเทศที่ต้องทำ และเรื่องนี้ไม่ได้มีกรอบเวลา กฎหมายเสร็จเมื่อไหร่ ก็ทำเมื่อนั้น
อย่างไรก็ตาม ทางกระทรวงพลังงาน กำหนดคร่าวๆ ว่า กระบวนการแก้ไขพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ครั้งที่ 6 จะทำให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน นับจากที่มีมติครม.ออกมา โดยหลักการแก้ไข พ.ร.บ.เบื้องต้น นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รมว.กระทรวงพลังงาน ระบุว่า จะปรับปรุงเงื่อนไขระบบการแบ่งปันผลผลิต (PSC) เพิ่มเติม ซึ่งหลังจากการแก้ไข พ.ร.บ.เสร็จสิ้น จะออกประกาศให้เอกชนสามารถเข้าร่วมยื่นสำรวจและผลิตภายใน 120 วัน และคาดว่าจะเริ่มพิจารณาเปิดสัมปทานรอบที่ 21 ได้ไม่เกินช่วงเดือน ก.ย. - ต.ค. 2558
ขณะที่ข้อเรียกร้องของภาคประชาชน นอกจากจะมีการแก้ไขพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ.2514 แล้ว ยังต้องแก้พระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย ก่อนที่จะเปิดให้นักลงทุนเข้ามาสำรวจขุดเจาะและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่
ดร.เดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เขียนเปรียบเทียบระบบสัมปทานปิโตรเลียมกับระบบแบ่งปันผลผลิต เอาไว้อย่างย่นย่อว่า ระบบสัมปทานเป็นรูปแบบที่ให้สิทธิเอกชนเข้ามาสำรวจและผลิตในแผ่นดินและผืนน้ำของเรา และเมื่อพบแล้วเอกชนผู้ขุดเจาะก็จะมีสิทธิในผลผลิตปิโตรเลียมทั้งหมดที่ผลิตได้ ซึ่งหากประเทศเราจะนำมาใช้ในประเทศ เราก็ต้องไปซื้อมาในราคาตลาดโลก หรืออ้างอิงตลาดโลกตามที่ตกลงกัน ส่วนรัฐก็จะได้ส่วนแบ่งค่าภาคหลวงและภาษีเป็นการตอบแทน
ส่วนระบบแบ่งปันผลผลิตนั้น เมื่อมีการผลิตปิโตรเลียมได้ก็จะแบ่งผลผลิตดังกล่าวตามสัดส่วนที่ตกลงกัน ผลผลิตส่วนหนึ่งก็จะเป็นของประเทศ ซึ่งอาจจะนำไปขายในราคาใดก็ได้ แล้วแต่การบริหารจัดการของประเทศนั้น ส่วนเอกชนก็นำส่วนแบ่งที่ได้ไปขายให้กับใครก็ได้แล้วแต่จะตัดสินใจเช่นกัน
สำหรับการเปิดให้มีการศึกษาเพื่อพัฒนาทางเลือกในการจัดการปิโตรเลียมของประเทศ ทั้งระบบแบ่งปันผลผลิตและระบบสัมปทานในเวลานี้ เสมือนว่าพร้อมจะใช้ทั้งสองทางเลือก จะเป็นการเพิ่มอำนาจการต่อรองของรัฐต่อผู้ลงทุน แทนที่จะตัดสินใจเลือกใช้เพียงระบบสัมปทานเท่านั้น เป็นการสร้างทางเลือกเชิงนโยบายที่นับเป็นความชาญฉลาดของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์
แน่นอนการดำเนินนโยบายเช่นนี้ คงไม่เป็นที่สบอารมณ์ของบรรดาเทคโนแครตด้านพลังงาน และนอมินีทุนพลังงานสักเท่าใดนัก แต่ถ้าพล.อ.ประยุทธ์ เพียงชำเลืองดูพม่าที่นับว่ากล้าหาญชาญชัย กล้าต่อรองกับบริษัทพลังงานข้ามชาติ นาทีนี้ก็ไม่จำเป็นต้องหวั่นไหวอะไรอีกแล้ว
ขอบคุณที่มา จาก : ผู้จัดการสุดสัปดาห์