สั่งตั้ง“การบินพลเรือนแห่งชาติ”ยึดอำนาจ บพ. “ประจิน” จัดหนักลดอำนาจ บพ.ตั้งสถาบันการบินพลเรือนแห่งชาติ ทำหน้าที่กำกับดูแลและให้ใบอนุญาตแทน ระบุเริ่มงานได้ใน 1 เดือน งานแรกสั่งตรวจใบอนุญาตบินใหม่ทุกสายการบิน เตรียมจ้างผู้เชี่ยวชาญไอเคโอร่วมทำแผน นายกฯ ไฟเขียวจัดเต็มทั้งเงินเดือน ทั้งตำแหน่ง พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคมเปิดเผยถึงกรณีองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO หรือ ไอเคโอ) เข้ามาตรวจสอบกรมการบินพลเรือน (บพ.) ของไทยพบว่าต่ำกว่ามาตรฐานนั้น ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สั่งการให้กระทรวงคมนาคมเร่งรัดให้มีความชัดเจนภายใน 1 เดือนหรือภายในเดือน เม.ย.นี้ โดยจะมีความชัดเจนในการแยกหน่วยงานกำกับดูแลและการให้บริการ โดยการจัดตั้งสถาบันการบินพลเรือนแห่งชาติเป็นองค์กรใหม่เข้ามาดูแลด้านนโยบายและกำกับดูแลการออกใบอนุญาตต่างๆ ซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระ “ส่วนกรมการบินพลเรือน (บพ.)เดิม จะเปลี่ยนไปเป็นกรมการขนส่งทางอากาศ ดูแลด้านการให้บริการสนามบินต่างๆ และสายการบินแทน รวมทั้งเห็นชอบให้มีการว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญจากไอเคโอเข้ามาช่วยจัดทำแผนด้วย โดยในช่วง 1 เดือนแรกนี้ เราต้องทำตัวเราให้แข็งแรงก่อน โดยทำองค์กรกำกับดูแลให้ได้มาตรฐานก่อน จากนั้นค่อยแก้ปัญหาที่คาราคาซังตามคำแนะนำของไอเคโอ ซึ่งคาดว่าการแก้ไขข้อบกพร่องทั้งหมดจะแล้วเสร็จไม่เกิน 8 เดือน” พล.อ.อ.ประจินกล่าวต่อว่า ตั้งเป้าว่าภายในวันที่ 6 เม.ย.นี้ คณะทำงานชุดที่มีนายวรเดช หาญประเสริฐ รองปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานคณะกรรมการดำเนินการตามแนวทางของกรมการบินพลเรือน (บพ.) จะจัดทำร่างโครงสร้างขององค์กรใหม่นี้ กำหนดภารกิจและบทบาทหน้าที่ ส่วนบุคลากรส่วนหนึ่งจะมาจาก บพ.เดิม รวมทั้งบางส่วนจะมาจากกระทรวงคมนาคม และว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกหรือจากต่างประเทศ “ตั้งเป้าให้สามารถเริ่มต้นทำงานได้ภายใน 1 เดือน ซึ่งขั้นตอนกระบวนการเหล่านี้สามารถใช้อำนาจตามมาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 เพื่อผลักดันให้ดำเนินได้อย่างรวดเร็วและลดขั้นตอนกระบวนการต่างๆ ส่วนกรมการขนส่งทางอากาศจะมีหน้าที่ดูแลสนามบิน บริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทย (บวท.) และบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) และหลังจากตั้งสถาบันการบินพลเรือนแห่งชาติแล้ว งานอันดับแรกจะดำเนินการตรวจสอบการออกใบอนุญาตทำการบินให้กับสายการบินใหม่ทั้งหมด 41 สายการบินที่เปิดดำเนินการขณะนี้” ส่วนการจัดหาบุคลากรเจ้าหน้าที่เทคนิคต่างๆ เพื่อให้เพียงพอกับภารกิจการทำหน้าที่นั้น สามารถขออนุมัติเป็นกรณีพิเศษในการว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญหรืออดีตเจ้าหน้าที่ที่เคยทำงานกับไอเคโอมาช่วยทำงานได้ โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องกรอบวงเงินหรือการกำหนดอัตราจ้าง เพราะเรื่องนี้นายกรัฐมนตรีไฟเขียวเต็มที่ ผู้สื่อข่าวจากกระทรวงคมนาคมรายงานเพิ่มเติม ว่า ในเร็วๆนี้กระทรวงคมนาคมจะมีการประสานงานกับกระทรวงการต่างประเทศ จะส่งผู้แทนขอเข้าพบกับประธานไอเคโอ สำนักงานใหญ่ มอนทรีออล ประเทศแคนาดา เพื่อชี้แจงถึงขั้นตอนกระบวนการที่ทางฝ่ายไทยกำลังดำเนินการอยู่
ด้านนายวรเดช หาญประเสริฐ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการดำเนินการตามแนวทางของกรมการบินพลเรือน (บพ.) ยืนยันว่า เรื่องเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการปรับแผนดำเนินการเพื่อแก้ไขข้อบกพร่องตามข้อสังเกตขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ จะเร่งรัดดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน เพราะขณะนี้นายกรัฐมนตรีพร้อมจะใช้อำนาจพิเศษตามมาตรา 44 เพื่อลดขั้นตอนการแก้ไขกฎระเบียบที่จะต้องปรับปรุง 60-70 ฉบับ และรื้อใหญ่ พ.ร.บ.เดินอากาศไทย 2497 โดยยกร่างใหม่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ส่วนที่ไอเคโอตั้งข้อสังเกตที่มีนัยสำคัญต่อเรื่องความปลอดภัย มี 2 เรื่องหลักคือ 1.กระบวนการรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ (AOC Certification) และการออกข้อกำหนดการปฏิบัติการ (Operation Specification) และ 2.การดำเนินการรับรองการขนส่งสินค้าวัตถุอันตราย โดยหากสามารถเสนอแผนให้ไอเคโอ เห็นชอบ และจะปลดล็อกเราได้เร็วขึ้น แต่ขั้นตอนดำเนินการต่างๆยังต้องเดินหน้าต่อไป นายวรเดชยอมรับว่าเมื่อปี 2548 ไอเคโอ เข้ามาตรวจสอบ ตอนนั้นมาตรฐาน บพ.ได้ 80% ผ่านมา 10 ปีคะแนนตกลงเหลือเพียง 35.6% จุดที่เป็นปัญหาหลักเกิดจากการที่ไม่มีการเตรียม พร้อมรับกับสถานการณ์จากที่มี 12 สายการบิน ปัจจุบันเพิ่มเป็น 41 สายการบิน ในขณะที่ เจ้าหน้าที่ บุคลากรของ บพ.ไม่ได้มีการปรับเพิ่มมีเพียง 12 คน ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบและออกใบอนุญาตกฎระเบียบและกฎหมาย พ.ร.บ.เดินอากาศก็ไม่ได้ปรับให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ทั้งนี้ นายวรเดชได้ปฏิเสธว่า ที่ผ่านมา บพ.ไม่ได้มีการปล่อยผีใบอนุญาตให้สายการบินเกิดใหม่ เพราะกระบวนการตรวจสอบต้องเป็นไปตามกฎเกณฑ์.

ขอบคุณข้อมูลจาก : ไทยรัฐออนไลน์