จากอดีตสู่ปัจจุบันเมืองชายแดนของประเทศไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงไปมากหลังจากมีกระแสการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยต่างฝ่ายต่างคาดหวังถึงผลดีในด้านการค้า การลงทุนระหว่างประเทศในแถวเมืองชายแดน อานิสงค์ตรงนี้ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานเดิมทางเศรษฐกิจให้เกิดการพัฒนาในบริเวณเมืองชายแดนสำคัญๆของไทย ทั้งการทุ่มงบประมาณจากภาครัฐสำหรับการพัฒนาส่งเสริมและรองรับการขนส่ง (Logistic) ระหว่างประเทศคู่ค้าให้มีความสะดวกรวดเร็วมากและมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงการใช้นโยบายส่งเสริมการลงทุนเขตเศรษฐกิจพิเศษบริเวณจังหวัดชายแดนเพิ่มสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ที่ต้องการลงทุนในบริเวณนั้น อีกทั้งเมืองชายแดนยังได้รับความสนใจจากภาคเอกชนที่มองเห็นโอกาสการเจริญเติบโตของเมืองในอนาคตอีกด้วย

ข้อมูลที่ทาง TerraBKK Research ได้รวบรวมมา ผู้อ่านจะเห็นได้ถึงโอกาสการเติบโตทางเศรษฐกิจบริเวณชายแดนทั้ง 5 จังหวัดที่ได้รับการส่งเสริมเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษระยะแรก โดย TerraBKK Research มองว่า เมืองเศรษฐกิจเหล่านี้ยังเป็นเพียงความเจริญในระยะเริ่มต้นเท่านั้น ในอนาคตยังสามารถเติบโตได้อีกมากจากการค้าแนวชายแดนที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตลอดหลายปีที่ผ่านมา เห็นได้จากภาคเอกชนที่เริ่มเข้ามาลงทุนจากการเห็นโอกาสและศักยภาพของเมืองชายแดนเหล่านี้ จึงเป็นโอกาสที่ดีของผู้ที่ต้องการลงทุนทำธุรกิจในช่วงที่ยังไม่เฟื่องฟูมากก่อนที่ทุกอย่างจะดูมูลค่าไปเสียหมด

นโยบายตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษเมืองชายแดน เป็นนโยบายที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการลงทุนของภาคเอกชนเพื่อดึงดูดการลงทุนและกระจายความเจริญทางเศรษฐกิจ รวมทั้งช่วยกระจายอำนาจการปกครอง ทำให้เขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดน กลายเป็น "ศูนย์กลางการค้า" กับเพื่อนบ้านทั้งกัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม จีน สิงคโปร์ และประเทศใกล้เคียง

เขตเศรษฐกิจพิเศษจะให้สิทธ์ BOI สูงสุดกับธุรกิจ 13 ประเภท ดังนี้ 1.อุตสาหกรรมการเกษตร ประมง และกิจการที่เกี่ยวข้อง 2.เซรามิก 3.อุตสาหกรรมสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม และเครื่องหนัง 4.อุตสาหกรรมผลิตเครื่องเรือน 5. อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ 6.การผลิตเครื่องมือแพทย์ 7.อุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องจักรและชิ้นส่วน 8.อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 9.การผลิตพลาสติก 10.การผลิตยา 11.กิจการโลจิสติกส์ 12.นิคมอุตสาหกรรมและเขตอุตสาหกรรม และ 13.กิจการเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว

สิทธิประโยชน์ทางด้านการลงทุนและการเงินจากการตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษแนวชายแดน ดังนี้

  • สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนที่ได้รับจากก BOI
    • ภาษีเงินได้นิติบุคคล ได้รับการยกเว้น 8 ปี และลดหย่อนสำหรับกำไรสุทธิที่ได้จากการลงทุนในอัตราร้อยละ 50 ของอัตราปกติเป็นระยะเวลา 5 ปีนับจากวันสิ้นสุดระยะเวลาการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล
    • อากรขาเข้า ได้รับการยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับเครื่องจักร และยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับวัตถุดิบและวัสดุจำเป็นสำหรับส่วนที่ผลิตเพื่อการส่งออกเป็นระยะเวลา 5 ปี
    • แรงงานต่างด้าว อนุญาตให้ใช้แรงงานต่างด้าวไร้ฝีมือในโครงการที่ได้รับการส่งเสริม
    • สำหรับกิจการที่ไม่ได้รับการส่งเสริมจาก BOI จะได้รับการลดหย่อยภาษีจากร้อยละ 20 เหลือร้อยละ 10 เป็นเวลา 10 รอบระยะเวลาบัญชี
  • สิทธิประโยชน์ทางการเงิน
    • เงินกู้ ดอกเบี้ยผ่อนปรนรายละ 1-20 ล้านบาท

เมืองชายแดนที่ได้รับการส่งเสริมให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษถูกแบ่งออกเป็น 2 ระยะ ดังนี้

(คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)

TerraBKK Research จะพาไปสำรวจโครงการต่างๆของทางภาครัฐที่ประกาศให้เมืองชายแดนเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อสร้างความพร้อมรองรับการลงทุนของภาคเอกชนที่จะเข้ามาในอนาคต โดย TerraBKK Research ได้สำรวจข้อมูลเฉพาะจังหวัดที่กำลังประกาศให้เป็นเขตเศรษฐกิจในระยะแรกก่อน ซึ่งมีทั้งหมด 5 จังหวัด ดังนี้

1. จังหวัดตาก (ติดชายแดนทั้งหมด 3 อำเภอ ได้แก่ อ.แม่สอด อ.พบพระ อ.แม่ระนาด รวมพื้นที่ 886,875 ไร่) ติดด่านชายแดนแม่สอดเป็นจุดผ่านแดนถาวร เชื่อมต่อกับเมืองเมียวดี การคมนาคมขนส่งชายแดนแม่สอดเป็นทางออกของประเทศไทยที่สามารถเชื่อมออกไปยังอินเดียและจีนได้

(คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)

โครงการที่ลงทุนในช่วง 2-3 ปีผ่าน กำลังก่อสร้างและอยู่ในแผนเตรียมพัฒนา มีดังนี้

  • การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ
    • ขยายสายตาก-แม่สอดจาก 2 เป็น 4 ช่องจราจร
    • โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายนครสวรรค์-กำแพงเพชร-ตาก-แม่สอด
    • โครงการปรับปรุงท่าอากาศยานแม่สอด
    • สะพานข้ามแม่น้ำเมยแห่งที่ 2
    • ตัดถนนสายใหม่ตามผังเมืองรวม เช่น สาย ง2 และ ง3
    • สถานีขนสินค้าจังหวัด
    • ขยายโรงพยาบาลแม่สอด
  • การลงทุนภาคเอกชน ทั้งศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า โมเดิร์นเทรด อสังหาริมทรัพย์ โรงแรม รีสอร์ต โรงพยาบาลเอกชน โลจิสติกส์
    • Robinson
    • Makro
    • Tesco Lotus
    • Mega Home
    • Home Pro

2. จังหวัดมุกดาหาร (ติดชายแดนทั้งหมด 3 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองมุกดาหาร อ.หว้านใหญ่ อ.ดอนตาล รวมพื้นที่ 361,542 ไร่) การคมนาคมขนส่งเชื่อม สปป.ลาว ผ่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่สอง (มุกดาหาร-สะหวันเขต) สามารถเชื่อมโยงไปยังประเทศเวียดนามผ่านเส้นทาง R9 เข้าสู่ท่าเรือดานัง และมุกดาหารสามารถเชื่อมไปยังประเทศจีนตอนใต้และประเทศแถบตะวันออกไกล (ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน) อีกทั้ง สปป.ลาว มีการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวัน-เชโน อีกด้วย

(คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)

โครงการที่ลงทุนในช่วง 2-3 ปีผ่าน กำลังก่อสร้างและอยู่ในแผนเตรียมพัฒนา มีดังนี้

  • การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ
    • สนามบินเลิงนกทา ใช้ร่วมกัน 3 จังหวัด ยโสธร อำนาจเจริญ มุกดาหาร
    • รถไฟทางคู่ ราง 1.435 เมตร ตาก-มุกดาหาร
    • ขยายช่องทางการจราจร ทางหลวงหมายเลข 12 มุกดาหารแม่สอด เชื่อมตรงสู่ท่าเรือเมาะละแหม่ง, ทางหลวง 2169 มุกดาหาร-นครพนม บรรจบทางหลวง 212 มุกดาหาร-นครพนม, ทางหลวง 238 เลี่ยงเมืองมุกดาหาร ซึ่งเป็นทางหลวง 2 ช่องจราจร จะปรับเพิ่มเป็น 4 ช่องจราจรเพื่อรองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษ
  • การลงทุนภาคเอกชน
    • Robinson
    • Home Pro
    • Tesco lotus (ปรับปรุงบางส่วน)

3. จังหวัดสระแก้ว (ติดชายแดนทั้งหมด 2 อำเภอ ได้แก่ อ.วัฒนานคร อ.อรัญประเทศ รวมพื้นที่ 207,500 ไร่) ติดกับด่านชายแดนอรัญประเทศเป็นจุดผ่านแดนถาวรเชื่อมต่อกับบันเตียนเมียนเจย ประเทศกัมพูชา การคมนาคมสามารถเชื่อมโยงกับท่าเรือแหลมฉบังระยะทาง 250 กิโลเมตรเท่านั้น และมีเชื่อเข้าสู่กรุงพนมเปนได้ ประเทศกัมพูชามีการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ 3 แห่ง ควบคู่ไปกับประเทศไทย ได้แก่ ปอยเปต-โอเนียง ซันโค-ปอยเปต และบริเวณเมืองศรีโสภณ

(คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)

โครงการที่ลงทุนในช่วง 2-3 ปีผ่าน กำลังก่อสร้างและอยู่ในแผนเตรียมพัฒนา มีดังนี้

  • การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ
    • แผนก่อสร้างด่านศุลกากร ศูนย์โลจิสติกส์และแนวเขตอุตสาหกรรมชายแดนแห่งใหม่ ณ บริเวณบ้านหนองเอี่ยนเพื่อเชื่อมโยงกับด่านศุลกากรแห่งใหม่ของประเทศกัมพูชา
    • โครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 317 สายจันทบุรี – สระแก้ว 4 ช่องจราจร เป็นทางหลวงสายหลักเชื่อมระหว่างภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนใต้ อีกทั้งเป็นเส้นทางในระบบโลจิสติกส์ของกลุ่มภาคตะวันออก
  • การลงทุนภาคเอกชน
    • Mega Home สาขาอรัญประเทศ
    • Global House สระแก้ว
    • Tesco Lotus(ข่าวลือ)

4. จังหวัดตราด (ติดชายแดน 1 อำเภอ ได้แก่ อ.คลองใหญ่ รวมพื้นที่ 31,375 ไร่) ติดกับด่านชายแดนบ้านหาดเล็กซึ่งเป็นจุดผ่านแดนถาวร การคมนาคมขนส่งเชื่อมกับเกาะกงซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษของกัมพูชาด้วย เชื่อมกับท่าเรือแหลมฉบังระยะทาง 340 กิโลเมตร และท่าเรือสีหนุวิลล์ของกัมพูชา ระยะทาง 250 กิโลเมตร

(คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)

โครงการที่ลงทุนในช่วง 2-3 ปีผ่าน กำลังก่อสร้างและอยู่ในแผนเตรียมพัฒนา มีดังนี้

  • การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ
    • ก่อสร้างถนนสาย 318 ตราด-คลองใหญ่-หาดเล็ก ยกระดับการขนส่งทางบกสู่กัมพูชา
    • สนามบินตราด (อยู่ในแผน)
    • โครงการก่อสร้างท่าเรือคลองใหญ่ จังหวัดตราด
  • การลงทุนภาคเอกชน
    • Makro
    • Tesco Lotus

5. จังหวัดสงขลา ติดชายแดน 1 อำเภอ ได้แก่ อ.สะเดา รวมพื้นที่ 345,187.5 ไร่ ติดกับด่านชายแดนสะเดาและด่านชายแดนปาดังเบซาร์ ความสะดวกด้านการขนส่ง คือ มีท่าเรือน้ำลึกสงขลา สนามบินพานิชย์หาดใหญ่ มีทางหลวงแผ่นดินเชื่อมโยงกับปาดังเบซาร์ และเชื่อมโยงกับสิงคโปร์ อีกทั้งยังใกล้กับท่าเรือกลางของมาเลเซียอีกด้วย

(คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)

โครงการที่ลงทุนในช่วง 2-3 ปีผ่าน กำลังก่อสร้างและอยู่ในแผนเตรียมพัฒนา มีดังนี้

  • การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ
    • โครงการศึกษาและออกแบบระบบรถไฟทางคู่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าช่วงหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์
    • รถไฟ Monorail หาดใหญ่
    • โครงการก่อสร้างด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่
    • แลนด์บริด สงขลา-สตูล
    • โครงการถนนเลี่ยงเมืองหาดใหญ่ ฝั่งตะวันออก
  • การลงทุนภาคเอกชน

บทความโดย : TerraBKK ข่าวอสังหาฯ

TerraBKK ค้นหาบ้านดี คุ้มค่า ราคาถูก