ไทยคือ"คนป่วยใหม่แห่งเอเชีย" บพ.สอบตกมาตรฐานการบินถือเป็นบทเรียน
“บรรยง” เสนอนำกรณีกรมการบินพลเรือนมาเป็นบทเรียน สืบสวนและเปิดเผยให้ได้ว่าใครต้องรับผิดชอบ ใครละเลยหน้าที่ ย้ำระบบราชการไทยคือระเบิดเวลา และการเดินหน้าขยายกิจการภาครัฐอย่างต่อเนื่องตลอด 10 ปีที่ผ่านมา คือเหตุสำคัญที่ทำให้ไทยกลายเป็น “คนป่วยคนใหม่ของเอเชีย (The New Sick Man of Asia)”
นายบรรยง พงษ์พานิช คณะกรรมการนโยบาย กำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุเหตุการณ์ที่เกิดที่กรมการบินพลเรือน (บพ.) ซึ่งถือว่าเป็นกรมเกรดเอ ถือเป็นเรื่องเหลือเชื่อจริงๆ หลังจากที่องค์การการบินระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization) หรือไอเคโอ (ICAO) ซึ่งเป็นหน่วยงานของสหประชาชาติ ทำหน้าที่กำหนดและตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยต่างๆทางด้านการบินพลเรือน ได้เข้ามาตรวจสอบมาตรฐานการควบคุมสายการบินของไทย พร้อมๆกับประเทศอื่นๆในประเทศอาเซียนเมื่อต้นปี แล้วประกาศผลเมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งประเทศไทยสอบตกยับเยินได้ที่โหล่
“เราได้คะแนนแค่ 35.6% แพ้แม้กระทั่งเขมร (40.2%) อินโดนีเซีย (45.1%) ซึ่งเป็นอีกแค่สองชาติที่สอบตกได้ไม่ถึงครึ่ง ขณะที่บรูไน พม่า ลาว ที่ต่างก็มีเครื่องบินพลเรือนไม่กี่ลำ ต่างก็ได้ 65% สูงเกือบสองเท่าของไทย ส่วนมาเลเซีย ที่เครื่องเพิ่งตกไป 3 ลำในปีเดียว ผ่านฉลุย 81% ส่วนสิงคโปร์นั้นไม่ต้องพูดถึง ได้ไป 98.9% เกือบสูงสุดในโลกควบคู่ไปกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์”
การตรวจสอบครั้งนี้เป็นไปตามมาตรฐานที่ชื่อว่า ICAO Universal Safety Oversight Audit Program (USOAP) ซึ่งล้วนเป็นข้อสอบที่ทุกคนรู้โจทย์อยู่ล่วงหน้าหมดแล้ว ทุกคนรู้ว่าจะต้องทำอะไรบ้าง เมื่อไร และต้องทำเข้มข้นแค่ไหน นี่เป็นเหตุให้หลายประเทศได้คะแนนเกือบเต็ม จาก 100 กระบวนการที่ ICAO ตรวจสอบ ไทยสอบผ่านแค่ 21 กระบวนการเท่านั้น เชื่อว่ามีแต่ประเทศด้อยพัฒนาแถวแอฟริกาเท่านั้นที่ทำคะแนนได้แย่ขนาดนี้
“ที่สำคัญต้องคำนึงถึงข้อเท็จจริงด้วยว่าเขาได้ตักเตือนถึงข้อบกพร่องตลอดมา และสำนักงาน ICAO ของภาคพื้น เอเชียแปซิฟิกก็ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานครนี่เอง และแม้ ICAO จะไม่ได้มีอำนาจตามกฎหมายอะไร ประชาชนไม่ควรตื่นตระหนกเรื่องความปลอดภัย เพราะมันหมายถึง บพ.ไม่ได้มาตรฐานเท่านั้น ไม่ได้หมายความว่าแต่ละสายการบินจะไม่ปลอดภัย แต่กรณีนี้เปรียบได้กับการมีคุณครูที่เฉื่อยแฉะ นั่งหลับพุงยื่นแล้ว ใครจะเชื่อว่านักเรียนในชั้นล้วนเก่งกาจ มีระเบียบวินัย นั่นเป็นเหตุให้ญี่ปุ่นมีมาตรการเข้มงวดกับสายการบินจากไทย ด้วยการห้ามเพิ่มเที่ยวบิน ห้ามเปลี่ยนแบบเครื่องบิน ห้ามเช่าเหมาลำ และยังขึ้นตรวจตามเที่ยวบินต่างๆอย่างเข้มงวด”
ซึ่งปัญหาทั้งหมดนี้ กลายการเป็นผลักให้อุตสาหกรรมการบินของไทย ที่มีขนาด 400,000 ล้านบาท กำลังเดินเข้าสู่ภาวะวิกฤติและอาจลามไปกระทบอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมูลค่ากว่าหนึ่งล้านล้านบาทไปด้วย ซึ่งทั้งหมดมาจากสาเหตุที่ข้าราชการกรมเดียวไม่รับผิดชอบต่อหน้าที่
“ยิ่งไปฟังคำแก้ตัวของกรมการบินพลเรือน ก็ยิ่งขมขื่น อธิบดีบอกว่าที่เป็นเช่นนี้เพราะขาดงบประมาณ ขาดกำลังคน มีเจ้าหน้าที่ด้านนี้ แค่ 11 คน ต้องดูแลใบอนุญาตตั้ง 46 สายการบิน แถมงานนี้ต้องการช่างเทคนิคที่มีทักษะ แต่เงินเดือนข้าราชการไม่สูงพอ เลยหาคนไม่ได้ ขณะที่งบประมาณสร้างสนามบิน 28 แห่ง กำลังคนดูแลสนามบินที่มีค่าใช้จ่ายสูง จัดหาได้สะดวกตลอดมา”
นายบรรยงแสดงความคิดเห็นว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก ที่ควรนำมาเป็นบทเรียนและหาวิธีป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น อีกจะต้องดำเนินการสืบสวนและเปิดเผยออกมาว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร ใครต้องรับผิดชอบบ้าง อธิบดีและอดีตอธิบดีกี่คนที่ละเลย ทำให้เกิดความเสียหายได้มากถึงเพียงนี้
“นี่คือระบบราชการไทย ที่ผมมองว่าระเบิดเวลาได้เริ่มขึ้นแล้ว ยังไม่รู้ว่าจะลุกลามเท่าใด และระเบิดลูกอื่นๆที่เหลือจะระเบิดเมื่อไหร่ ผมพยายามวิเคราะห์ให้เห็นตลอดมาว่า รัฐที่ “แสนดีและแสนเก่ง” นั้นไม่มีอยู่จริง แต่ประเทศเรากลับมุ่งขยายภาครัฐไม่หยุดหย่อน ทั้งรัฐวิสาหกิจ สถาบันการเงินของรัฐ นโยบายประชานิยมสุดขั้ว ที่ซ่อนความเสียหายไว้ รวมทั้งระบบราชการที่สถาบันอนาคตไทยศึกษาระบุว่า ขยายจำนวนถึง 50% ในสิบปีที่ผ่านมาและมีเงินเดือนสวัสดิการรวมเพิ่มถึงสามเท่าตัว นี่เองคือสาเหตุสำคัญที่ทำให้เรากลายเป็น “คนป่วยคนใหม่ของเอเชีย” (The New Sick Man of Asia)”.
ขอบคุณข้อมูลจาก : ไทยรัฐออนไลน์
Discussion
Follow breaking news Investment property articles on Facebook, click here.