เอกชนขานรับเลิกกฎอัยการศึกช่วยธุรกิจไมซ์ เอกชนแนะใช้มาตรา 44 ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ยกเลิกกฎอัยการศึกทำให้สบายใจขึ้น สร้างความเชื่อมั่นนักลงทุน การท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น บีโอไอเชื่อมั่นเศรษฐกิจครึ่งปีหลังการลงทุนภาคเอกชนแข็งแกร่งขึ้น บอร์ดบีโอไออนุมัติการส่งเสริมลงทุนเพิ่มอีก 10 โครงการ วงเงิน 28,541 ล้านบาท เผย 3 เดือนแรกปีนี้อนุมัติไปแล้ว 700 โครงการ วงเงิน 110,000 ล้านบาท นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลยกเลิก กฎอัยการศึก และใช้มาตรา 44 ตามรัฐธรรมนูญฉบับ ชั่วคราวปี 2557 ว่า การยกเลิกกฎอัยการศึกเป็นสิ่งที่ดีสะท้อนภาพลักษณ์ของประเทศไทย ให้ชาวต่างชาติกลับมามีความเชื่อมั่นต่อการท่องเที่ยว การค้า การลงทุน และภาพรวมเศรษฐกิจอีกครั้ง รวมทั้งประเมินว่าจะปรับตัวดีขึ้นชัดเจนในทันที โดยเฉพาะธุรกิจการจัดประชุมนานาชาติ และงานแสดงสินค้านานาชาติ (ไมซ์) ในภูมิภาคน่าจะกลับมาจัดงานในไทยมากขึ้น และจะปลดล็อกเรื่องการทำประกันภัยนักท่องเที่ยวของบริษัทประกันภัยต่างชาติด้วย ซึ่งส.อ.ท.จะนำประเด็นนี้และปัจจัยอื่นๆเข้าหารือและประกอบการประเมินผล ที่มีต่อภาพรวมเศรษฐกิจในการประชุมคณะกรรมการร่วม 3 สถาบัน (กกร.) ในวันที่ 7 เม.ย.นี้ “ส่วนมาตรา 44 ถือว่ามีข้อกำหนดอยู่แล้วตั้งแต่แรก ไม่ใช่ว่ายกเลิกกฎอัยการศึกแล้วมาเพิ่มมาตราใหม่ๆ จึงไม่มีส่วนที่จะทำให้ภาคเอกชนกังวล ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำมาตรา 44 มาใช้ในลักษณะเป็นคุณให้ระบบเศรษฐกิจโดยรวมจะได้ประโยชน์เพราะจะขับเคลื่อนได้เร็วขึ้น เช่น การแก้ไขปัญหาเรื่องการบิน” สำหรับสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 น่าจะดีกว่าไตรมาสแรก จากงบประมาณเพื่อการลงทุน ของภาครัฐที่จะลงเข้าในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น ขณะที่การอนุมัติโครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอที่ค้างท่ออยู่ก็ทยอยออกมา และการ ลงทุนภาคเอกชนก็กำลังจะมา ขาดแต่เรื่องเกษตร ที่ทาง พล.อ.ประยุทธ์กำลังเร่งผลักดันทั้งเรื่องยางพาราและข้าว ส่วนการขยายเวลาการชำระหนี้ให้เกษตรกรจะช่วยให้ปัญหาของเกษตรกรผ่อนคลายลง สำหรับการส่งออกทุกประเทศมีปัญหาหมด ทั้งมาเลเซีย สิงคโปร์ และจีน ซึ่งการส่งออกของไทยที่ติดลบ 4% กว่า เป็นทิศทางเดียวกัน โดยภาคเอกชนยังเป็นห่วงเรื่องค่าเงิน ซึ่งมีทั้งคุณและโทษ ด้านนายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า กฎอัยการศึก หมายถึงกฎที่ออกมาในช่วงภาวะสงคราม เมื่อยกเลิกไปก็เหมือน กับว่าประเทศไทยไม่มีสงคราม ซึ่งผลจากการสำรวจภาคเอกชนของหอการค้าไทยและหอการค้าต่างประเทศ พบว่านักธุรกิจตอบรับ เพราะมีความสบายใจขึ้น ส่วนมาตรา 44 ที่มีขึ้นอยู่กับคำประกาศและวิธีการใช้ ว่าจะใช้อย่างสร้างสรรค์หรือไม่ โดยทั่วไปบรรยากาศการลงทุนน่าจะดีขึ้น และสร้างความมั่นใจ ให้นักลงทุนมากยิ่งขึ้น “หอการค้าไทยพยายามสื่อออกไปให้ทราบว่า เศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ไม่ค่อยกระเตื้องขึ้นมาเท่าใด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะตลาดโลก ประเทศทางยุโรป และ จีน ค่าเงินอ่อนค่าลง เศรษฐกิจจีนยังไม่ดีเท่าเดิม ขณะที่ตลาดที่ส่งออก เจอปัญหาอัตราแลกเปลี่ยน คาดว่าเศรษฐกิจจะยังทรงๆต่อไปอีกสักพักหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ช่วงนี้ถือเป็นช่วงปรับตัวที่ผู้ประกอบการจะพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆออกมา” นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า เตรียมทำหนังสือแจ้งการยกเลิกการประกาศกฎอัยการศึกไปยังประเทศที่มีความอ่อนไหวกับเรื่องนี้มาโดยตลอด เช่น ประเทศญี่ปุ่น และทางยุโรป โดยจะเน้นไปยังกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากกว่า โดยเฉพาะในเรื่องของการประกันภัยนักท่องเที่ยวผ่านบริษัททัวร์ ส่วนนักท่องเที่ยวกลุ่มไมซ์คาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง ทั้งนี้จะร่วมหารือกับกระทรวงการต่างประเทศ ในการชี้แจงภาพการท่องเที่ยวของไทย ให้กับทูตของ ประเทศต่างๆที่ประจำในประเทศไทย ในช่วงเดือนเม.ย.นี้ด้วย ขณะที่นางหิรัญญา สุจินัย รักษาการเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุน 10 โครงการ วงเงินลงทุนรวม 28,541.7 ล้านบาท และเห็นชอบการกำหนดกิจการเป้าหมายในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในนโยบายส่งเสริมการลงทุนใหม่ ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ 5 เขต ซึ่งแต่ละเขตจะมีประเภทกิจการเป้าหมายที่ส่งเสริมแตกต่างกันไป ยกเว้น เขตเศรษฐกิจพิเศษ จ.ตากที่จะส่งเสริมครบทั้ง 13 ประเภทกิจการ โดยโครงการที่ลงทุนในกิจการเป้าหมายจะได้รับสิทธิประโยชน์สูงสุดยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี และลดหย่อนภาษีเงินได้ 50% เพิ่มอีก 5 ปี
ทั้งนี้ บีโอไอยังคงเป้าหมายยอดการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในปีนี้อยู่ที่ 1.4 ล้านล้านบาท จำนวน 1,600 โครงการ ซึ่งในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ได้อนุมัติการส่งเสริมการลงทุนไปแล้ว 700 โครงการ วงเงินลงทุน 110,000 ล้านบาท จากเป้าที่กำหนดไว้ 300 โครงการ ซึ่งเมื่อรวมกับเม็ดเงินลงทุนที่อนุมัติส่งเสริมการลงทุนไปเมื่อปี 2557 อีก 700,000 ล้านบาท จะมีเม็ดเงิน 800,000 ล้านบาท ที่จะเริ่มทยอยลงทุนในบางส่วนแล้ว จะเห็นผลชัดเจนในปี 2558 เป็นต้นไป จึงเชื่อมั่นได้ว่าเศรษฐกิจของไทยตั้งแต่กลางปีนี้จนถึงปี 2559 การลงทุนภาคเอกชนแข็งแรงแน่นอน และจะทำให้เศรษฐกิจไทย ขยายตัวได้ ขณะที่ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า มี 4 บริษัทธุรกิจการบินที่ได้รับการส่งเสริมบีโอไอ เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยเหลือด้านสังคมและเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก เป็นส่วนที่จะช่วยกระตุ้นเรื่องการเดินทางการท่องเที่ยว การขนส่ง และการ บริการ ส่วนสายการบินที่มีอยู่เดิมจะพยายามแก้ปัญหาให้ดีที่สุด.

ขอบคุณข้อมูลจาก : ไทยรัฐออนไลน์