เอเชียศูนย์กลางเศรษฐกิจในทศวรรษ 2020
การเติบโตเกิดจากประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยประชากรในภูมิภาคเอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) เพิ่มขึ้นกว่า 150 ล้านคน แซงหน้าสหรัฐฯ ยุโรปซึ่งมีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นเพียง 25 ล้านคน และ 5 ล้านคนในช่วงเวลาเดียวกัน การเติบโตของสังคมเมืองทำให้มีความต้องการแรงงานและสินค้าทุนอีกมหาศาลเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรม กำลังการบริโภคที่เติบโตอย่างรวดเร็วจากการเพิ่มขึ้นของชนชั้นกลางที่มีศักยภาพด้านการบริโภคและความสามารถในการหารายได้
โดยชนชั้นกลางจะเพิ่มขึ้นจาก 525 ล้านคน (28% ของประชากรโลก) ในปี 2009 เป็น 3,228 คน (66% ของประชากรโลก) ในปี 2030 อย่างไรก็ตาม แม้การบริโภคสินค้าและบริการจะมีการเติบโตสูงในช่วงที่ผ่านมาแต่ถือว่ายังอยู่ในระยะแรกเท่านั้น เพราะหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียเพิ่งจะเริ่มเข้าสู่ช่วงเวลาของโครงสร้างประชากร ซึ่งมีสัดส่วนที่ดีที่สุดต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ กล่าวคือมีประชากรที่มีอายุมากกว่า 65 ปีต่ำกว่าร้อยละ 15 ของประชากรทั้งหมด และมีประชากรที่มีอายุน้อยกว่า 15 ปีต่ำกว่าร้อยละ 30 ของประชากรทั้งหมด โดยในประเทศจีน อินเดีย อินโดนีเซีย และไทยจะได้รับประโยชน์จากโครงสร้างนี้ต่อเนื่องไปถึงปี ค.ศ. 2025 ค.ศ. 2050 ค.ศ. 2040 และ ค.ศ. 2030 ตามลำดับ
นอกจากนี้ สิ่งที่ไม่สามารถมองข้ามคือ ความแข็งแกร่งด้านการค้า การค้าที่เกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชียมีรูปแบบที่สนับสนุนและเอื้อประโยชน์ต่อกัน ด้วยกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่ผ่านมา เช่น กรอบความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership Agreement : TPP) กรอบการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) เอเชียกำลังเข้าสู่การเจรจาข้อตกลงเสรีทางการค้าแห่งทศวรรษที่น่าจับตามองในปี 2015-2016 คือ กรอบความตกลงภูมิภาคหุ้นส่วนเศรษฐกิจที่เรียกว่า Regional Comprehensive Economic Partnership : RCEP ซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 16 ประเทศ คือ อาเซียน จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์
กรอบความร่วมมือนี้จะเอื้อให้เกิดการเชื่อมโยงตลาดการค้า การลงทุน และต่อยอดห่วงโซ่การผลิตระหว่างกันได้อย่างเสรี เห็นได้จากตัวเลขการคาดการณ์จากไอเอ็มเอฟว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าระหว่างประเทศในเอเชียด้วยกันเมื่อเทียบกับมูลค่าการค้าทั่วโลกจะเติบโตจาก 33% ในปี 2000 เป็น 61% ในปี 2020 ประเทศไทยเองซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ RCEP และเป็นฐานการผลิตและการส่งออกที่สำคัญในภูมิภาคก็จะได้รับประโยชน์จากการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจภายใต้ RCEP คิดเป็นร้อยละ 56 ของมูลค่าการส่งออกไทย
ภูมิภาคเอเชียได้ประโยชน์จากราคาน้ำมันดิบโลกที่ปรับตัวลดลง โดยราคาน้ำมันดิบ WTI ที่ลดลงกว่าร้อยละ 50 จาก 95 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล สู่ 50 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลในปีที่ผ่านมา ทำให้เกือบทุกประเทศในเอเชียซึ่งเป็นผู้นำเข้าน้ำมันสุทธิมีดุลการค้าน้ำมันติดลบในช่วงที่ผ่านมา การลดลงของราคาน้ำมันจึงทำให้ประเทศจีน อินเดีย เกาหลีใต้ ฮ่องกง สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ไทย (ยกเว้นมาเลเซีย) มีฐานะการเงินดีขึ้น
เอเชียศูนย์กลางเศรษฐกิจในทศวรรษ 2020ด้านการลงทุน หากมองในแง่ศักยภาพเติบโตเมื่อเทียบกับมูลค่าแล้ว ตลาดหุ้นเอเชียถือได้ว่ามีราคาน่าสนใจในการเข้าลงทุน เนื่องจากมีมูลค่าไม่แพงเมื่อเทียบกับระดับความสามารถในการทำกำไร โดยดัชนี MSCI Asia ex Japan มีอัตราส่วนของราคาตลาดเทียบกำไรสุทธิ (PE Ratio) ที่ต่ำเพียง 12.54 เท่า เมื่อเทียบกับตลาดหุ้นอเมริกาเหนือ และยุโรปที่ 18.93 และ 24.07 เท่า โดยผลกำไรต่อหุ้น (EPS) ของบริษัทในตลาดหุ้นภูมิภาคเอเชีย (ไม่รวมตลาดหุ้นญี่ปุ่น) ได้เติบโตอย่างต่อเนื่องและจะมีแนวโน้มที่จะปรับตัวสูงขึ้นในปี 2015 โดย Bloomberg ได้คาดการณ์การเติบโตของ EPS 2015 อยู่ที่ 11.67% และ EPS 2016
อย่างไรก็ตาม การลงทุนในภูมิภาคเอเชียมีปัจจัยเสี่ยงด้านการเมืองและกฎระเบียบข้อบังคับ หลายประเทศ เช่น จีน อินเดีย กำลังเริ่มปฏิรูปเชิงโครงสร้าง การปรับเปลี่ยนนโยบายราชการ และการเพิ่มธรรมาภิบาล ซึ่งอาจต้องใช้ระยะเวลาแต่ก็ถือเป็นโอกาสที่ดีต่อการเติบโตในระยะยาว
กล่าวโดยสรุป ปัจจัยจากโครงสร้างประชากร การพัฒนาด้านอุตสาหกรรม การเข้าสู่สังคมเมือง การเพิ่มขึ้นของกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้า การปรับลดลงของน้ำมันในช่วงที่ผ่านมา และมูลค่าตลาดหุ้นที่ไม่แพง ทำให้ทีมงานเล็งเห็นถึงการเติบโตในระยะอีก 10 ปีข้างหน้าว่าเอเชียจะมีบทบาทในฐานะศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและการลงทุนของโลก นักลงทุนจะหันมาให้น้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้นเอเชียที่มีการเติบโตสูงต่างจากที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ขอขอบคุณข้อมูลจาก: ผู้จัดการ