นายอิสระ บุญยัง กรรมการผู้จัดการ บริษัท กานดา พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ในช่วง 2 เดือนแรกปี 2558 มีจำนวนหน่วย (ยูนิต) เปิดใหม่ 9,092 ยูนิต ลดลง 34% จากช่วงเดียวกันของปี 2557 ที่มียูนิตเปิดใหม่ 13,950 ยูนิต แบ่งเป็นบ้านจัดสรรเปิดใหม่ 5,390 ยูนิต เพิ่มขึ้น 4% เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2557 ที่มีบ้านจัดสรรเปิดใหม่ 5,180 ยูนิต ส่วนคอนโดมิเนียมเปิดใหม่ 3,690 ยูนิต ลดลง 58% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2557 ที่มีคอนโดมิเนียมเปิดใหม่ 8,770 ยูนิต ทั้งนี้โครงการคอนโดมิเนียมที่ชะลอตัวลง มองว่าเป็นผลดี เพราะปริมาณสินค้าและความต้องการของตลาดปรับเข้าสู่ภาวะสมดุล หากปี 2558 มียูนิตเปิดใหม่ 60,000 กว่ายูนิต หรือลดลงจากปี 2557 ประมาณ 10% ก็ถือว่าอยู่ในระดับที่ดี ซึ่งสถานการณ์จะคล้ายกับปี 2554 ที่มีเหตุการณ์น้ำท่วม ทำให้คอนโดมิเนียมเปิดใหม่ลดลงเหลือ 42,300 ยูนิต หรือลดลง 36% หลังจากที่ในปี 2553 เปิดตัวมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ถึง 65,900 ยูนิต หลังจากนั้นก็เติบโตต่อเนื่องจนในปี 2556 เปิดตัวสูงสุด 85,200 ยูนิต จนเกิดภาวะล้นตลาดในบางพื้นที่
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าในช่วงไตรมาส 2 ปี 2558 สถานการณ์ตลาดจะปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาส 1 ปี 2558 อย่างแน่นอน หลังจากที่ไตรมาส 1 ปี 2558 ทุกฝ่ายต่างชะลอดูความชัดเจนในหลายเรื่อง ทั้งการเมือง ภาวะเศรษฐกิจ และเชื่อว่าทั้งปี 2558 ตลาดอสังหาริมทรัพย์จะเติบโตได้ประมาณ 5-7% จากปี 2557 “โครงการแนวราบหากเทียบกับเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2557 มีการฟื้นตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการที่ผู้ประกอบการรายใหญ่หันมาพัฒนาโครงการแนวราบมากขึ้น และเชื่อว่าตลาดแนวราบในปี 2558 จะยังเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยแรงขับเคลื่อนหลักของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 2558 จะมาจากกลุ่มตลาดกลาง ราคาตั้งแต่ 3-5 ล้านบาท เนื่องจากตลาดนี้มีขนาดใหญ่ และตลาดบน ราคา 5 ล้านบาทขึ้นไป รวมทั้งตลาดระดับหรู แต่ตลาดขนาดเล็ก ปริมาณสินค้าและความต้องการของตลาดมีจำกัด” นายอิสระ กล่าว ส่วนตลาดอสังหาริมทรัพย์ในช่วงครึ่งปีหลัง 2558 ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว อีกทั้งยังไม่แน่ชัดว่าจะฟื้นตัวดีขึ้นหรือไม่ และอาจได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลก ราคาพลังงานปรับลดลง และราคาสินค้าเกษตรยังตกต่ำ รวมถึงปัจจัยการเมือง และก็ยังมีความกังวลว่าอาจเกิดปัญหาการขาดแคลนแรงงานได้ในปี 2559 หากมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐเข้ามาจำนวนมากพร้อมๆ กัน อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยหนุนตลาดอสังหาริมทรัพย์ให้เติบ อาทิ อัตราดอกเบี้ยที่ปรับลดลง ทำให้ผู้ประกอบการและผู้ซื้อบ้านได้ประโยชน์ ผลจากการขยายโครงข่ายคมนาคมต่างๆ เช่น รถไฟฟ้า ทำให้เมืองขยายและเปิดพื้นที่ใหม่ๆ หากภาครัฐสามารถผลักดันการลงทุนเหล่านี้ให้เกิดขึ้นจริง ก็จะทำให้มีเงินเข้ามาหมุนเวียนและกระตุ้นเศรษฐกิจได้

ขอบคุณข้อมูลจาก : หนังสือพิมพ์แนวหน้า