กรมพัฒนาธุรกิจการค้าลุยตรวจบริษัททุนจดทะเบียนสูง ห่วงตั้งบริษัทมาหลอกลวงชาวบ้าน ล่าสุดพบบางบริษัทยื่นจดทุนสูงถึง 9 แสนล้านบาท สุดท้ายถูกยกเลิกคำขอ หลังเจอกฎเหล็กต้องนำหลักฐานโอนเงินเข้าบริษัทมาแสดงด้วย น.ส.ผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า กรมอยู่ระหว่างการตรวจสอบนิติบุคคลที่มีทุนจดทะเบียนสูง ล่าสุดกำลังตรวจสอบ 100 กว่าราย เพราะไม่มีหลักฐานแสดงชัดเจนว่ามีเงินทุนเข้าบริษัทจริง โดยได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่เชิญมาพบ และขอให้ดำเนินการเรื่องเงินทุนจดทะเบียนให้ถูกต้องตามที่ได้ยื่นขอจดทะเบียนไว้ ถ้าไม่ดำเนินการจะมีข้อความหมายเหตุในงบการเงินว่าเป็นบริษัทที่ไม่มีทุนจดทะเบียนจริง ต้องระวังในการทำธุรกิจ เพราะไม่มีความน่าเชื่อถือ รวมถึงจะแจ้งเตือนในแอพพลิเคชั่น DBD e-service ด้วยเช่นกัน เพื่อป้องกันการตั้งบริษัทไปหลอกลวงประชาชน และขั้นตอนต่อไปจะพิจารณายกเลิก รวมถึงจะส่งข้อมูลไปยังหน่วยงานพันธมิตร เช่น กรมสรรพากร กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ให้ตรวจสอบในเชิงลึกและดำเนินการต่อไป
“ที่ผ่านมา มีบางบริษัทยื่นขอจดทะเบียนโดยมีทุนจัดตั้งสูงถึง 900,000 ล้านบาท เบื้องต้นกรม ได้ชะลอการจดทะเบียนไว้ก่อน และเรียกหลักฐานดู ซึ่งทางผู้ยื่นจดก็ไม่ได้ยื่นหลักฐานเข้ามา และล่าสุดกรมได้ออกประกาศเรื่องทุนจดทะเบียนเกิน 5 ล้านบาท ต้องแสดงหลักฐานเงินทุนเข้าบริษัท และได้แจ้งให้ยืนยันการจดทะเบียน ทางผู้จดก็ไม่มาจดอีก จึงได้ขอยกเลิกการจดทะเบียนไปแล้ว” ขณะเดียวกัน ยังได้ดำเนินการตรวจสอบบริษัทที่มีทุนจดทะเบียนเกิน 10,000 ล้านบาท โดยเรียกบริษัทมาตรวจสอบหลักฐานการลงทุน และมีหลายกรณีที่ได้ส่งให้กรมสรรพากรช่วยตรวจสอบเพิ่มเติม และบางกรณีได้มีการส่งดำเนินคดีแล้ว ส่วนสถิติการจดทะเบียนธุรกิจเดือน มี.ค.2558 ว่า มีผู้ประกอบธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัทจัดตั้งใหม่ทั่วประเทศ 5,698 ราย เพิ่มขึ้น 9% เมื่อเทียบกับเดือน มี.ค.2557 โดยมีทุนจดทะเบียน 16,092 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4% และจดทะเบียนเลิก 1,181 ราย เพิ่มขึ้น 42% มีทุนจดทะเบียน 3,115 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21% ส่วนในช่วง 3 เดือน (ม.ค.-มี.ค.) ปี 2558 มีผู้จดทะเบียนตั้งใหม่รวม 17,309 ราย เพิ่มขึ้น 12% มีทุนจดทะเบียนรวม 49,527 ล้านบาท ลดลง 22% และจดเลิก 3,674 ราย เพิ่มขึ้น 27% มีทุนจดทะเบียนรวม 8,950 ล้านบาท ลดลง 20% “การจดจัดตั้งใหม่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แสดงว่าคนยังมั่นใจทำธุรกิจ แม้กรมจะเพิ่มความเข้มงวดในการรับจดทะเบียน โดยกำหนดให้ผู้ที่มีทุนจดทะเบียนเกิน 5 ล้านบาท ส่วนการยกเลิกกิจการที่เพิ่มขึ้น ไม่ได้หมายความว่าธุรกิจเจ๊ง แต่เป็นเพราะกรมได้จัดระเบียบนิติบุคคล ทำให้มีการเลิกกิจการเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกิจการค้าสลาก ซึ่งยอด 3 เดือน มีเลิก 3,674 ราย แต่เป็นการค้าสลากถึง 1,067 ราย หรือคิดเป็น 30% ของยอดจดเลิก สำหรับการส่งงบการเงินในปีนี้ กรมได้เปิดให้บริการรับงบการเงินผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ (DBD e-Filing) ซึ่งผู้ประกอบการสามารถส่งงบการเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ 2 รูปแบบ คือ รูปแบบ e-Form และ XBRL in Excel ล่าสุดมีผู้ลงทะเบียนแล้ว 4,069 ราย และส่งงบการเงินแล้ว 41 ราย จึงขอเชิญชวนให้นิติบุคคลส่งงบการเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ให้มากขึ้น เพราะช่วยประหยัดเวลา และได้รับความสะดวกสบายเพิ่มขึ้น เพราะรวดเร็วกว่าและดีกว่าการส่งงบการเงินแบบปกติ”.

ขอบคุณข้อมูลจาก : ไทยรัฐออนไลน์