เมื่อวันที่ 10 เมษายน ธนาคารแห่งประเทศไทย ธปท. เปิดเผยรายงานผลการประชุมของคณะกรรมการบริหารกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ไอเอ็มเอฟ ประเมินภาวะเศรษฐกิจไทยประจำปี 2558 เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องและคาดว่าจะขยายตัวได้ที่ประมาณ 3.7% ตามการฟื้นตัวของผู้บริโภคที่ได้รับอานิสงส์จากราคาพลังงานที่ปรับลดลง และการลงทุนของภาคเอกชนที่จะเพิ่มขึ้น หลังจากที่ทางการได้อนุมัติโครงการลงทุนในช่วงที่ผ่านมาแต่ก็ยังจำกัด เพราะมีการใช้กำลังการผลิตที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ความต้องการของต่างประเทศยังชะลอตัว และความไม่แน่นอนทางด้านการเมือง ขณะที่การลงทุนภาครัฐยังทำได้ช้ากว่าที่คาด ซึ่งไทยจะต้องใช้นโยบายทางการเงินที่ผ่อนปรนเพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจฟื้นตัว ในส่วนของดุลบัญชีเดินสะพัดคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้น จากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่อยู่ในระดับต่ำ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะอยู่ในระดับต่ำเช่นกัน แต่น่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นบ้างในช่วงปลายปี

"คาดว่าการบริโภคภายในประเทศและการส่งออกจะได้ผลดีกว่าที่คาด ผลจากราคาน้ำมันที่ปรับลดลง อย่างไรก็ตามช่วงที่ผ่านมาภาพรวมเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวขึ้นบ้างแล้ว รัฐบาลมีความตั้งใจที่จะดำเนินการปฏิรูปในด้านต่างๆ เพื่อสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อาทิ การปฏิรูปราคาพลังงาน การหาเงินช่วยเหลือชาวนาเพื่อทดแทนโครงการรับจำนำข้าว การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ และการขยายบทบาทของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการกำกับดูแลสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ นอกจากนี้รัฐบาลยังได้ตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน พร้อมกันนี้คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้มีการประกาศแผนกลยุทธ์สนับสนุนการลงทุนใหม่เพื่อพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของไทยด้วย" รายงานข่าวระบุ

รายงานข่าวระบุอีกว่า แนวโน้มเศรษฐกิจในระยะใกล้ยังคงมีความเสี่ยงที่อาจทำให้การขยายตัวต่ำกว่าที่คาด ดังนั้นนโยบายการคลังและนโยบายทางการเงินยังคงมีความจำเป็นในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจระยะต่อไป ในขณะที่การปฏิรูปเชิงโครงสร้างและการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานจะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวอย่างเข้มแข็งและกระจายการเติบโตได้อย่างทั่วถึงในระยะยาว ดังนั้นจึงเห็นด้วยกับการออกมาตรการทางการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไทยภายใต้กรอบนโยบายการรักษาความยั่งยืนทางการคลังในระยะปานกลาง และเห็นด้วยกับการปฏิรูปมาตรการอุดหนุนต่างๆ โดยเน้นให้ความช่วยเหลือเฉพาะประชาชนกลุ่มที่ได้รับผลกระทบรุนแรง แทนการอุดหนุนในวงกว้างอย่างในช่วงที่ผ่านมา เช่น โครงการรับจำนำข้าวและการอุดหนุนราคาพลังงาน

นอกจากนี้ คณะกรรมการยังสนับสนุนการจัดทําร่างกฎหมายว่าด้วยความรับผิดชอบด้านการคลัง ซึ่งเป็นการกําหนดกรอบวินัยทางการคลังในระยะปานกลาง การทบทวนแผนกลยุทธ์ในการบริหารระบบรัฐวิสาหกิจ รวมถึงการจัดทําแผนการลงทุนระยะยาวในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐ คณะกรรมการเห็นว่านโยบายการเงินในปัจจุบันมีความเหมาะสม และอาจสามารถพิจารณาผ่อนคลายเพิ่มเติมได้หากเศรษฐกิจฟื้นตัวล่าช้ากว่าที่คาด โดยต้องคํานึงถึงผลกระทบของอัตราดอกเบี้ยต่ำต่อเสถียรภาพการเงินด้วย

นอกจากนี้ยังเห็นด้วยที่จะมีการเปลี่ยนเป้าหมายเงินเฟ้อไปใช้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เพราะปัจจุบันเงินเฟ้อคาดการณ์อยู่ในระดับใกล้เคียงกับเป้าหมายและยังไม่สะท้อนว่ามีความเสี่ยงต่อภาวะเงินฝืด อย่างไรก็ตามในระยะข้างหน้าจะมีความผันผวนเกี่ยวกับทุนเคลื่อนย้าย ซึ่งประเทศไทยก็ยังมีเครื่องมือในการดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจที่ดีอยู่ เช่น ทุนสำรองระหว่างประเทศจำนวนมาก และนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนที่ยืดหยุ่นที่จะพอรองรับความผันผวนของตลาดเงินได้ แต่รัฐบาลควรเพิ่มความเข้มงวดในการกำกับดูแลสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (nonbank financial institutions) เช่น สหกรณ์ที่ดําเนินธุรกิจให้สินเชื่อด้วย

ขอบคุณข้อมูล จาก : มติชนออนไลน์ ขอบคุณรูปภาพ จาก : thetelescopenews.com