ภาคธุรกิจมองเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวไตรมาส 4
ผลการสำรวจความคิดเห็นผู้ประกอบการธุรกิจต่อสถานการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2558 คาดว่าจะฟื้นตัวชัดเจนไตรมาส 4 โดยจะขยายตัวอยู่ในกรอบร้อยละ 2.5-3 ด้านนักวิชาการประเมินผลงานรัฐบาล ด้านเศรษฐกิจในช่วง 6 เดือน เกือบผ่านได้ 5-6 คะแนน จากเต็ม 10
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดผลผลการสำรวจความคิดเห็นของภาคธุรกิจ 801 ตัวอย่างในภาคเกษตร ภาคการค้า ภาคบริการ และภาคการผลิต ต่อสถานการณ์ภาวะเศรษฐกิจไทยปี 2558 พบว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ เห็นว่าผลการดำเนินธุรกิจในปัจจุบันเมื่อเทียบกับ 3 เดือนที่ผ่านมา ยอดขายเฉลี่ยลดลงร้อยละ 11.93 ยอดคำสั่งซื้อลดลงร้อยละ 8.74 และรายได้จากการส่งออก (เฉพาะผู้ส่งออก) ลดลงร้อยละ 12.02 แต่ต้นทุนการผลิตกลับเพิ่มขึ้น เฉลี่ยร้อยละ 9.27 เนื่องจากยังประสบปัญหาสภาพคล่อง การเงิน และการตลาด เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัว รวมทั้งปัญหาด้านภาษีและด้านเทคนิคทางการผลิตสินค้า แต่ยังเชื่อว่าธุรกิจของตนเอง จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติตั้งแต่ไตรมาส 3
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ประเมินว่าภาวะเศรษฐกิจไทยจะกลับมาฟื้นตัวชัดเจนไตรมาส 4 โดยคาดว่า จะขยายตัวอยู่ในกรอบร้อยละ 2.5 – 3 ดังนั้น จึงต้องการให้รัฐบาลเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ กระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายในประเทศ และช่วยเหลือภาคการส่งออก รวมทั้งช่วยเหลือภาคการเกษตรด้านราคา เพื่อให้ประชาชนฐานรากกลับมามีกำลังซื้อ และทำให้เศรษฐกิจฟื้นโดยเร็ว ทำให้ผลการประเมินการทำงานภาพรวมของรัฐบาลในรอบ 6 เดือนทั้งด้านสังคม และเศรษฐกิจ คะแนนยังไม่เกินครึ่ง โดยด้านสังคมได้ 4.8 คะแนน และด้านเศรษฐกิจ 4.5 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 มีเพียงการแก้ปัญหาด้านการเมืองที่เกินครึ่งได้ 5.2 คะแนน
นอกจากนี้ หอการค้าไทยยังประเมิน 10 ธุรกิจดาวเด่น และ 10 ธุรกิจดาวร่วง ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2558 พบว่า ธุรกิจดางรุ่งอันดับ 1 ยังเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์ สุขภาพและความงาม เนื่องจากกระแสการรักษาสุขภาพยังมีต่อเนื่อง และบริการทางการแพทย์ของไทยเป็นที่ยอมรับและราคาไม่แพงในสายตาต่างชาติ รองลงมาเป็นธุรกิจนำเที่ยว ธุรกิจโรงแรมและร้านอาหาร ธุรกิจการศึกษา ธุรกิจประกันชีวิต ธุรกิจก่อสร้าง ธุรกิจบริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจขนส่ง และธุรกิจสื่ออนไลน์
ขณะที่ 10 ธุรกิจดาวร่วง อันดับแรกเป็นธุรกิจเครื่องจักรกลทางการเกษตร เนื่องจากสถานการณ์ภัยแล้ง ราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำ และอุปกรณ์และชิ้นส่วนของไทยมีต้นทุนสูงกว่าคู่แข่งสำคัญอย่างประเทศจีน รองลงมาเป็นธุรกิจขายปลีก ธุรกิจแปรรูปยางพารา ธุรกิจขายรถมือ 1 และมือ 2 ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ ธุรกิจติดตั้งแก๊สแอลพีจี ธุรกิจปั๊มแอลพีจี ธุรกิจสายการบินเช่าเหมาลำ ธุรกิจอาหารทะเลแช่แข็ง และธุรกิจสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม
นายธนวรรธน์ กล่าวถึงการทำงานของรัฐบาลในช่วง 6 เดือน โดยยอมรับว่ารัฐบาลนี้เข้ามาบริหารประเทศในช่วงภาวะเศรษฐกิจไม่ค่อยจะดี สินค้าภาคการเกษตรตกลง ปัญหาหนี้ครัวเรือนสูงขึ้น ทำให้สโลแกนของรัฐบาล “มั่นคง มั่นคั่ง ยั่งยืน” ในส่วนของมั่นคง ต้องยอมรับว่ารัฐบาลสอบผ่าน เพราะสามารถรักษาเสถียรภาพทางการเมือง ความวุ่นวายให้อยู่ในภาวะปกติ แม้จะมีปัญหาเกิดขึ้นบ้างเล็กน้อย ขณะที่ความมั่งคั่ง ถือว่าในช่วง 6 เดือน ความมั่งคั่งของประชาชนและประเทศยังไม่ดี รัฐบาลต้องแก้ไขปัญหาเต็มที่ จากปัญหาต่าง ๆ ส่วนความยั่งยืน รัฐบาลพยายามออกกฎหมายต่าง ๆ ทุกด้าน เพื่อให้เป็นสากล ดังนั้น สโลแกน “มั่นคง มั่นคั่ง ยั่งยืน” ของรัฐบาลบางส่วนยังไม่สามารถตอบโจทย์ภายในระยะเวลา 6 เดือน แต่ยังมองว่าสิ่งต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอีก 6 เดือนข้างหน้า น่าจะทำให้ความมั่นคง มั่นคั่ง ยั่งยืน นำไปสู่การปฏิบัติและเป็นรูปธรรมมากขึ้น
ส่วนตัวอยากให้คะแนนรัฐบาลนี้ ผลงานเต็ม 10 น่าจะได้ 7-8 คะแนน ขณะที่การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความเชื่อมั่นความร่วมมือของทุกหน่วยงานและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก หากให้คะแนนรัฐบาลนี้ต่อการแก้ไขปัญหารัฐบาลจากคะแนนเต็ม 10 อยู่ที่ 5-6 คะแนน แต่เชื่อว่าหากสัญญาณเศรษฐกิจโลกดีขึ้น การเร่งเบิกจ่ายงฝบประมาณในโครงการต่าง ๆ ประชาชนเชื่อมั่นระบบเศรษฐกิจหันกลับมาจับจ่ายใช้สอย หากดูด้านจิตวิทยาของประชาชนต่อภาพรวมเศรษฐกิจขณะนี้ แม้จะยังไม่กล้าจับจ่ายใช้สอย แต่สัญญาณการเติบโตด้านการท่องเที่ยวเริ่มเห็นชัดเจน โดยเฉพาะช่วงเทศกาลสงกรานต์ประชาชนท่องเที่ยวมากขึ้น มั่นใจว่าช่วงเวลาที่เหลือปีนี้เศรษฐกิจมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น.
ขอบคุณข้อมูลจาก : สำนักข่าวไทย
Discussion
Follow breaking news Investment property articles on Facebook, click here.