พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม ในฐานะหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เปิดเผยหลังการประชุมพัฒนาเชื่อมโยงระบบการขนส่งและการท่องเที่ยวพื้นที่อ่าวไทยตอนบนฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกว่าได้ มอบหมายให้กรมเจ้าท่าไปเร่งศึกษาแผนการสร้างท่าเรือเฟอร์รี่เชื่อมโยงการเดินทางพัทยา ชะอำ และหัวหิน ให้เสร็จภายในกลางปี 2559 เพื่อช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยว เศรษฐกิจ การค้าระหว่าง 2 พื้นที่เข้าด้วยกัน รวมถึงช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทาง ซึ่งจะลดเวลาการเดินทางจากปัจจุบัน 6-7 ชั่วโมง เหลือเพียง 3 ชั่วโมง

"เดิมโครงการนี้กรมเจ้าท่าเคยศึกษามาแล้วตั้งแต่ปี 55 จึงมีแผนพัฒนาต่อเนื่องตามนโยบายของ คสช. ที่สนใจพัฒนาท่าเรือเฟอร์รี่เชื่อมโยงอ่าวไทยตอนบนฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก โดยความเป็นไปได้เบื้องต้น ท่าเรือในจังหวัดชลบุรีที่มีความเหมาะสม ได้แก่ แหลมบาลีฮาย โอเชียน-มารีน่า และท่าเรือแหลมฉบัง ส่วนท่าเรือแถบจังหวัดเพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ เป็นหาดปึกเตียน"

พล.อ.อ.ประจินกล่าวว่า โดยหลังจากนี้ต้องมีการศึกษาอย่างละเอียดอีกครั้ง โดยในวันที่ 17 เม.ย.2558 กรมเจ้าท่าจะลงนามว่าจ้างบริษัทมาทำการศึกษาและออกแบบความเหมาะสมของพื้นที่ตั้งท่าเรือ ให้ศึกษาเสร็จภายใน 12 เดือน จากเดิมใช้เวลา 18 เดือน สำหรับรูปแบบการลงทุนและการก่อสร้างในเบื้องต้น มีภาคเอกชน คือ บริษัทสยามอีสเทอร์น ลอยิสติคส์ เทอร์มินอล จำกัด ได้เสนอแผนการลงทุนระยะ 4 ปี 2559-2562 มาให้พิจารณา โดยใช้งบลงทุนกว่า 4,000 ล้านบาท รองรับนักท่องเที่ยว นักเดินทาง นักธุรกิจได้ปีละไม่ต่ำกว่า 3 ล้านคน และรถยนต์ปีละ 220,000 คัน ที่สำคัญยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจใน 2 พื้นที่ได้ไม่ต่ำกว่า 8,000 ล้านบาทต่อปี จะเริ่มเปิดให้เดินเรือได้ตั้งแต่ปี 2560-2562 เป็นต้นไป ระยะแรกมี 3 เส้นทาง ได้แก่
  • เส้นทางพัทยา-หัวหิน-ปราณบุรี
  • เส้นทางบางปู-หัวหิน-ปราณบุรี
  • เส้นทางบางปู-พัทยา

ส่วนระยะต่อไป เพิ่มเส้นทางบางปู-เกาะช้าง 146 ไมล์ เส้นทางบางปู-เกาะสมุย 240 ไมล์ และเส้นทางบางปู-สงขลา 380 ไมล์.

ขอบคุณข้อมูลจาก : ไทยรัฐออนไลน์