กรีนพีซขวางเชลล์ขุดเจาะน้ำมันที่ทะเลชุกชี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มกรีนพีซ ซึ่งเป็นองค์กรรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม ได้ขัดขวางแผนการขุดเจาะน้ำมันที่ทะเลชุกชี (Chukchi Sea) ในมหาสมุทรอาร์กติกแถบอลาสก้าของบริษัทเชลล์ โดยเมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา นักกิจกรรมกรีนพีซ 6 คนเข้าขวางแท่นขุดเจาะน้ำมันที่บริษัทเชลล์ กำลังเคลื่อนย้ายไปยังอาร์กติก กลางมหาสมุทรแปซิฟิกทางตะวันตกเฉียงเหนือของฮาวายเป็นระยะทาง 750 ไมล์ โดยปีนขึ้นไปบนแท่นขุดเจาะที่มีน้ำหนัก 38,000 ตัน ขณะที่นักกิจกรรมจากหลายประเทศตั้งแคมป์ด้านล่างดาดฟ้าของแท่นขุดเจาะน้ำมันโพลาร์ ไพโอเนียร์ พร้อมทั้งกางป้ายผ้าที่ประกอบด้วยรายชื่อคนจำนวนถึง 6.7 ล้านรายชื่อจากทั่วโลกที่คัดค้านแผนการขุดเจาะน้ำมันในอาร์กติก
กรีนพีซระบุว่า แท่นขุดเจาะน้ำมัน โพลาร์ ไพโอเนียร์กำลังถูกขนย้ายด้วยเรือที่มีชื่อว่าบลูมาร์ลินความยาวถึง 712 ฟุตหรือ 217 เมตร เรือบลูมาร์ลินเป็นหนึ่งในเรือสองลำของเรือขุดเจาะน้ำมันที่มุ่งหน้าสู่อาร์กติกเพื่อให้บริษัทเชลล์ใช้ในปีนี้ ส่วนเรือลำที่สองมีชื่อว่า โนเบิล ดิสโคเวอเรอร์ เป็นหนึ่งในเรือขุดเจาะน้ำมันที่มีอายุการใช้งานมากที่สุดในโลก เมื่อเดือนธันวาคม ปี 2557ที่ผ่านมา โนเบิลดริลลิ่งเป็นผู้รับเหมารายใหญ่ของบริษัทเชลล์ในอาร์กติกและเป็นเจ้าของเรือโนเบิล ดิสโคเวอเรอร์ ยอมสารภาพในการกระทำผิดแปดครั้งที่เชื่อมโยงกับความล้มเหลวของบริษัทเชลล์ในการขุดเจาะน้ำมันในมหาสมุทรอาร์กติกเมื่อปี 2555
เรือขุดเจาะน้ำมันทั้งสองลำนี้กำลังแล่นข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกโดยคาดการว่าจะถึงเมืองซีเอตเติลประมาณกลางเดือนเมษายนนี้ก่อนที่จะมุ่งหน้าสู่ทะเลชุกชี
เมื่อไม่นานมานี้ โครงสร้างพื้นฐานของแท่นขุดเจาะน้ำมันอาร์กติกของเชลล์ได้ถูกขนย้ายผ่านภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งประเทศฟิลิปปินส์ซึ่งเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่สุดขั้ว ประเทศฟิลิปปินส์กลายเป็นจุดศูนย์กลางแห่งความหายนะจากซูเปอร์ไต้ฝุ่นไห่เยี่ยน ซึ่งเป็นพายุไต้ฝุ่นที่มีกำลังแรงที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึก ก่อให้เกิดการเสียชีวิตถึง 7,000 คน ประชาชนนับล้านไร้ที่อยู่อาศัย และสร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่าเกือบ 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
เมื่อเร็วนี้ฟิลิปปินส์ต้องเผชิญกับพายุใต้ฝุ่นไม้สัก(Maysak) ซึ่งได้อ่อนกำลังลงเป็นพายุโซนร้อนดีเปรสชั่นหลังจากเข้าถล่มจังหวัดอิซาเบลลา เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ก่อนหน้านี้ซูเปอร์ไต้ฝุ่นไม้สักพัดผ่านมหาสมุทรแปซิฟิกโดยมีความความเร็วลมอยู่ที่ 260 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และสร้างความเสียหายให้กับพื้นที่บางส่วนในแถบหมู่เกาะไมโครนีเชีย(Micronesia) ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อยห้าคน
หมายเหตุ : ภาพประกอบบทความ บางภาพไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเนื้อหาแต่อย่างใด Photo credit by : www.offshoreenergytoday.com
ขอบคุณข้อมูลจาก : ฐานเศรษฐ
Discussion
Follow breaking news Investment property articles on Facebook, click here.