โดย ทีมข่าวเศรษฐกิจ มติชนรายวัน 20 เม.ย. 2558

เสร็จสิ้นการฉลองเทศกาลสงกรานต์ ได้กลับไปรดน้ำดำหัวผู้หลักผู้ใหญ่เพื่อความเป็นสิริมงคลเนื่องในวันขึ้นปีใหม่ไทยกันแล้ว ก็ถึงเวลากลับมาลุยงานกันต่อ ซึ่งหลายฝ่ายเริ่มมีความหวังว่าเศรษฐกิจไทยหลังจากนี้น่าจะเริ่มเห็นแววสดใส น่าจะเริ่มผงกหัวขึ้น จากที่ผ่านมาสะบักสะบอมอย่างหนัก เจอทั้งภาวะเศรษฐกิจโลกไม่ฟื้นตัว กระทบถึงภาคส่งออกที่เป็นฟันเฟืองหลักในการขับดันเศรษฐกิจ การบริโภคในประเทศติดขัดเพราะห่วงภาระหนี้ครัวเรือนและปัจจัยลบอื่นๆ รุมเร้า เพื่อให้เห็นภาพเศรษฐกิจหลังจากนี้ โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลัง คงต้องฟังผู้ที่คร่ำหวอดและเกี่ยวข้องกับสภาพเศรษฐกิจโดยตรงว่าคิดอย่างไร

ลุ้นงบรัฐลงทุนพื้นฐานช่วยกระตุ้นศก.

นางพิมลวรรณ มหัจฉริยวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ศูนย์วิจัยฯ ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยในปีนี้ลงเหลือโต 2.8% จากเดิมที่คาดไว้ 4% แม้เศรษฐกิจจะมีทิศทางปรับตัวดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา แต่เป็นการฟื้นตัวช้ากว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ จาก 3 ปัจจัยสำคัญ คือ

  1. การส่งออกมีแนวโน้มหดตัวกว่าที่คาดในช่วง 3 เดือนแรก ส่งผลให้ไตรมาสแรกปีนี้ การส่งออกอาจติดลบ 3.9% เป็นผลจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ดิ่งลง
  2. การบริโภคภาคเอกชน โดยอานิสงส์จากราคาพลังงานที่ลดลง ยังไม่สามารถชดเชยแรงหน่วงจากความอ่อนแอของกำลังซื้อในกลุ่มเกษตรกร และภาระหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นได้
  3. การลงทุนภาคเอกชนที่อาจรอสัญญาณฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและการลงทุนของภาครัฐที่ชัดเจนมากขึ้น ทั้งนี้ ยังมีปัจจัยสนับสนุนเพิ่มเติมจากการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวได้เร็วกว่าคาด รัฐบาลเพิ่มมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และแรงกดดันเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ

นายพิมลวรรณกล่าวว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าปีนี้การส่งออกอาจจะไม่ขยายตัวได้เลย หรือเท่ากับ 0% จากที่คาดการณ์ว่าจะขยายตัวได้ 3.5% ส่วนการนำเข้าคาดว่าจะขยายตัว 3.5% จากเดิมคาดไว้ 5.5% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อลดลงมาที่ 0.5% จากเดิมคาดไว้ 1.5% อย่างไรก็ตาม การส่งออกคงไม่ใช่ปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปีนี้ แต่คงต้องจับตาราคาสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น ราคาน้ำมัน หากเริ่มกลับมาผงกหัวขึ้นก็อาจจะส่งผลให้การส่งออกช่วงครึ่งปีหลังดีขึ้นกว่าครึ่งปีแรก

สำหรับการประเมินราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยในปีนี้ที่ 60 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ลดลงจากเดิมที่คาดไว้ 70 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล นอกจากนี้ ยังต้องจับตาการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ รวมทั้งงบกระตุ้นเศรษฐกิจรอบ 2 มูลค่า 80,000 ล้านบาท หากเม็ดเงินทยอยออกมาสู่ระบบเศรษฐกิจได้เร็วก็จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงครึ่งปีหลังได้ค่อนข้างมาก

นางพิมลวรรณกล่าวว่า ในส่วนการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐด้านรายจ่ายประจำคงไม่น่าเป็นกังวล เพราะเชื่อว่ารัฐบาลจะผลักดันการเบิกจ่ายได้ใกล้เคียงกับเป้าหมาย แต่การเบิกจ่ายงบลงทุนไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2558 (ตุลาคม-ธันวาคม 2557) ยังทำได้ล่าช้า เนื่องจากมีข้อติดขัดเรื่องการตรวจสอบความโปร่งใส แต่คาดว่าตั้งแต่ไตรมาส 2 ของปีงบประมาณ 2558 งบที่ยังค้างอยู่น่าจะเริ่มทยอยเบิกจ่ายออกมาได้ โดยเฉพาะงบกระตุ้นเศรษฐกิจรอบ 2 ที่น่าจะช่วยได้เร็วกว่างบลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐ ขณะที่สถานการณ์หนี้ครัวเรือนของไทยมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น คาดว่า ณ สิ้นปี 2558 ยอดหนี้ครัวเรือนจะอยู่ที่ระดับ 88-89% ต่อจีดีพี (ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ) แต่เป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ช้าลง
ส.อ.ท.มองไตรมาส3-4เห็นศก.โตชัดเจน

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ให้ความเห็นว่า เอกชนคาดว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังจะปรับตัวดีขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยด้านภาคการผลิตในประเทศที่น่าจะขยายตัวดี มีอัตราการผลิตเพิ่มขึ้น คือ กลุ่มอาหาร เพราะคาดว่าปีนี้การส่งออกอาหารจะเติบโตได้ตามเป้าหมายคือ มากกว่า 1 ล้านล้านบาท เนื่องจากอาหารยังเป็นสินค้าจำเป็นที่ผู้บริโภคยังต้องการต่อเนื่อง และยังต้องการสินค้าที่มีการเพิ่มมูลค่า มีรูปแบบแพคเกจสวยงาม ทำให้มูลค่าสินค้าเติบโตแม้ปริมาณอาจคงที่ก็ตาม

และอีกกลุ่มที่คาดว่าจะเติบโตเช่นกัน คือ ภาคการก่อสร้าง เพราะได้รับอานิสงส์จากการลงทุนของภาครัฐ โครงการเมกะโปรเจ็กต์ต่างๆ จนมีการคาดการณ์ว่าช่วงไตรมาส 3 (เมษายน-มิถุนายน 2558) และไตรมาส 4 (กรกฎาคม-กันยายน 2558) ของปีงบประมาณนี้ จะเห็นเศรษฐกิจไทยมีการเติบโตชัดเจนขึ้น และคาดว่าภาคการลงทุนจากเอกชนจะเห็นชัดเจนเช่นกัน เพราะช่วงปี 2556-2557 ยอดขอส่งเสริมการลงทุนกับคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เข้ามามาก อยู่ที่ 1.4 ล้านล้านบาท และ 2 ล้านล้านบาท ตามลำดับ ดังนั้น การลงทุนจริงจะเกิดขึ้นในปีนี้แน่นอน และคาดว่าจะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1.2 ล้านล้านบาท

นายสุพันธุ์กล่าวว่า นอกจากนี้ การท่องเที่ยวของไทยยังเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะจากสถานการณ์ปัจจุบันคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวมากขึ้น คิดเป็นปริมาณนักท่องเที่ยวปีนี้ประมาณ 28 ล้านคน ทั้งนักท่องเที่ยวกลุ่มต้องการเข้ามาเที่ยวโดยตรง และนักท่องเที่ยวต่อเนื่องจากการเข้ามารักษาพยาบาลและนักท่องเที่ยวกลุ่มที่เข้ามาประชุมสัมมนาในไทย จึงเป็นความหวังในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งภาครัฐควรมีแผนการรับมือที่ดี

สำหรับราคาสินค้าเกษตรกรคาดว่าราคาช่วงปีหลังจะขยับตัวดีขึ้น เพราะปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรจะเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ คือไม่ล้นสต๊อกเหมือนปัจจุบัน ทำให้ราคาตลาดโลกปรับสูงขึ้น ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น จะส่งผลต่อการบริโภคภายในประเทศแน่นอน ดังนั้น ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ระดับ 3.5% ตามที่ภาคเอกชนโดยคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย ส.อ.ท. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ตั้งเป้าหมายไว้จึงมีความเป็นไปได้แน่นอน แม้ตัวเลขส่งออกลดลงก็ตาม

หอค้าคาดครึ่งปีหลังศก. โตเกิน 3%

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จากการสำรวจหอการค้าจังหวัดทั่วประเทศ และภาคเอกชน มีมุมมองต่อเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลัง 2558 ดีกว่าครึ่งปีแรก เนื่องจากสถานการณ์ที่เป็นปัจจัยลบเริ่มผ่อนคลายลง และโอกาสการขยายตัวครึ่งปีหลังเกิน 3% สูงกว่าครึ่งปีแรก ซึ่งคาดว่าไตรมาสแรก เศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 2.3% และขยับเป็น 2.4-2.5% ในไตรมาส 2 บนสมมุติฐาน 3 ด้าน คือ

  • ด้านแรก คือ ไม่มีเหตุการณ์วุ่นวายในไทย แม้จะมีเหตุระเบิดในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งเป็นเหตุไม่สงบปกติที่คนไทยได้รับรู้มาตลอด และเป็นเหตุร้ายที่เกิดเฉพาะพื้นที่ หรือไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองในวงกว้าง ถือว่าเป็นวินาศกรรม ที่รัฐบาลควบคุมดูแลได้
  • ด้านที่สอง คือ เศรษฐกิจโลกฟื้นตัว ส่งผลต่อการส่งออกที่เพิ่มขึ้น และไม่ติดลบ แม้การส่งออกจะไม่โต คือ 0% หรือโตแค่ 1%
  • ด้านที่สาม คือ รัฐบาลมีการเบิกจ่ายและลงทุนได้ตามนโยบายที่ได้กำหนดไว้ เริ่มมีวงเงินสู่ระบบเศรษฐกิจภายในไตรมาส 2 ปีนี้ หรือไม่เกินเดือนพฤษภาคม ซึ่งจะเป็นยาดีที่จะขับเคลื่อนการใช้จ่ายและผลักดันเศรษฐกิจระดับท้องถิ่น และเศรษฐกิจรวมฟื้นตัวในครึ่งปีหลังเรื่อยไป

ซึ่งบนปัจจัยทั้ง 3 ด้านนั้น จะทำให้เศรษฐกิจไทยทั้งปี 2558 มีโอกาสขยายตัวได้ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลัง คณะกรรมการบริหารกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะโตได้ 3.7-3.9% ได้ แต่หากหลุดปัจจัยด้านใดด้านหนึ่งก็มีโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะโตต่ำกว่า 3.5% ซึ่งยังเป็นสัดส่วน 50 ต่อ 50 ส่วนเรื่องปัจจัยอื่นๆ ทั้งราคาน้ำมัน ค่าเงินบาท หรืออัตราดอกเบี้ย ก็ไม่น่าจะเคลื่อนไหวเร็วจนสร้างผลกระทบรุนแรง และเป็นเรื่องที่ภาคเอกชนก็เฝ้าระวังและติดตามแก้ไขมาตลอด

ขอบคุณข้อมูล จาก : มติชนออนไลน์ ขอบคุณรูปภาพ จาก : tnews.co.th