บพ.เครียด! ลุ้นไอซีเอโอประจานข้อบกพร่องความปลอดภัยด้านการบินของไทยบนเว็บไซต์ 18 มิ.ย.นี้ พร้อมสรุปแผนชำแหละโครงสร้างกรมการบินพลเรือนเสร็จเดือน เม.ย. เตรียมชงนายกฯ ใช้ ม.44 ไฟเขียว ด้าน “ประยุทธ์” สั่งคมนาคมบินชี้แจงไอซีเอโอ 15 มิ.ย.นี้ ไทยจริงใจแก้ปัญหา หวังได้รับความเชื่อมั่นมากขึ้น นายสมชาย พิพุธวัฒน์ อธิบดีกรมการบินพลเรือน (บพ.) เปิดเผยว่า องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ไอซีเอโอ) มีหนังสือแจ้งว่าวันที่ 18 มิ.ย.นี้จะเผยแพร่ผลการตรวจสอบข้อบกพร่องความปลอดภัยด้านการบินของกรมการบินพลเรือนไทย (เอสเอสซี) ลงในเว็บไซต์ไอซีเอโอ ซึ่งจะทำให้สมาชิกไอซีเอโอและทุกประเทศทั่วโลกได้รับรู้ สิ่งที่ไทยต้องเร่งแก้คือ การขนส่งสินค้าวัตถุอันตราย และการออกใบอนุญาตการบิน (เอโอซี) โดย บพ.ต้องส่งแผนการแก้ไขเอสเอสซีให้ไอซีเอโอพิจารณาล่วงหน้า 7-14 วันก่อนถึงวันที่ 18 มิ.ย.นี้

“แม้เราแก้ไขการขนส่งสินค้าวัตถุอันตรายได้ก่อนกำหนด แต่ไอซีเอโอคงไม่ปลดล็อกข้อใดข้อหนึ่ง ส่วนจะมีผลต่อการประกาศห้ามบินเข้าประเทศใด ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจอำนาจรัฐแต่ละประเทศ ตอนนี้มีเพียงญี่ปุ่นและเกาหลีที่เข้มงวดสายการบินเช่าเหมาลำจากไทย แต่ยังไม่รู้ว่าหลังจากที่ บพ.เสนอแผนแก้ไขข้อบกพร่องไปแล้ว วันที่ 18 มิ.ย.นี้ ไอซีเอโอจะประกาศข้อบกพร่องของไทยลงในเว็บไซต์หรือไม่ สำหรับการออกใบอนุญาตการบิน เดือน พ.ค.นี้จะชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะคู่มือปฏิบัติและขั้นตอนตรวจสอบการออกใบอนุญาตการบิน ที่ปรับปรุงให้สอดคล้องข้อแนะนำไอซีเอโอนั้น อยู่ในช่วงการตรวจสอบสายการบิน เพื่อทบทวนการออกใบอนุญาตสายการบินใหม่ทั้งหมด 41 สายการบิน”

ด้านนายวรเดช หาญประเสริฐ รองปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ก่อนครบกำหนด 90 วัน แผนแก้ไขข้อบกพร่องจะคืบหน้าไม่น้อยกว่า 80-90% ซึ่งจะจัดทำคู่มือตรวจสอบ กฎระเบียบ หวังว่า ไอซีเอโอจะยืดเวลาประกาศผ่านเว็บไซต์ หากแผนแก้ปัญหาชัดเจนเพียงพอ สำหรับการขนส่งสินค้าวัตถุอันตรายจะชัดเจนในเดือน พ.ค.นี้ ขณะนี้จัดทำคู่มือและแนวปฏิบัติ รวมถึงจัดตั้งหน่วยงาน และกำหนดเจ้าหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง และจะเริ่มตรวจสอบ 9 สายการบินขนส่งสินค้าวัตถุอันตรายไม่เกินต้นเดือน มิ.ย.นี้ ซึ่งเร็วกว่าแผนที่กำหนดไว้ ส่วนการออกใบอนุญาตการบินนั้นเป็นเรื่องใหญ่ มีเจ้าหน้าที่เพียง 9 คน มีรอบรรจุ 2 คน รับเพิ่มอีก 10 คน และสายการบินจะส่งมาช่วยอีก 18 คน รวมเกือบ 40 คน เพียงพอตรวจสอบการออกใบอนุญาตสายการบินได้เร็วขึ้นภายในเดือน ก.ค.นี้ ขณะที่การปรับโครงสร้างองค์กร ได้กำหนดโครงสร้างอัตรากำลัง และหน้าที่รับผิดชอบแล้วเสร็จ และต้นเดือน พ.ค.นี้ จะเสนอ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 อนุมัติโครงสร้างองค์กรใหม่ให้มีผลบังคับใช้ได้ทันที ส่วน พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.พล.อ.ประยุทธ์สั่งการให้คมนาคมปรับแผนแก้ปัญหามาตรฐานการบินเป็นแผนเร่งด่วน และระยะยาว ในแต่ละขั้นตอนมีแนวทางดำเนินการอย่างไร เพื่อให้ไอซีเอโอเห็นความจริงใจว่ารัฐบาลได้พยายามแก้ปัญหาให้ลุล่วง “เนื่องจากการแก้ปัญหาบางเรื่องต้องใช้เวลาเกินกว่าที่ไอซีเอโอกำหนดไว้ภายในวันที่ 2 มิ.ย.นี้ ซึ่งอาจช้าไป 1 เดือน หรือ 1 เดือนครึ่ง นายกรัฐมนตรีจึงสั่งการให้คมนาคมชี้แจงให้ไอซีเอโอทราบแนวทางแก้ปัญหาทั้งหมดในวันที่ 15 มิ.ย.นี้ มั่นใจว่าน่าจะได้รับความเชื่อมั่นจากไอซีเอโอมากขึ้น”
ด้าน พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เรามีแผนการปฏิบัติเป็น 2 ระยะ โดยระยะ 1 กำลังทำอยู่ ได้มอบหมายให้นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมช.คมนาคม ไปชี้แจงว่ารัฐบาลจะทำอย่างไร “ผมถามว่าปัญหาเหล่านี้ใครทำมา ทำไมปล่อยให้เป็นอย่างนั้น เรากำลังทบทวน และให้ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม ไปดูว่าสายการบินใดที่ไม่ถูกต้อง ก็ต้องระงับบิน เขาจะได้มั่นใจ นอกจากนี้ จะทำอย่างไรให้สายการบินที่ผ่านมาตรฐานบินต่อได้ อาจให้เพื่อนบ้านช่วยตรวจสอบรับรอง หรืออาจจ้างบุคคลภายนอกให้ตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจแก้ปัญหา แล้วเขียนกติกาให้ได้ นี่คือการดำเนินการระยะแรก อย่างน้อยยืดเวลาให้เราหน่อย ส่วนระยะสอง จะว่ากันเรื่องกฎหมาย การตั้งกรม” ขณะที่ พล.อ.อ.ประจินกล่าวว่า ได้รายงานให้ ครม.รับทราบการจัดทำคู่มือและการฝึกอบรมบุคลากร ที่ต้องใช้เวลา จึงทำให้แนวทางแก้ปัญหาล่าช้าออกไป 1 เดือน หรือ 1 เดือนครึ่ง จึงกระทบต่อสายการบินไปญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และจีน ซึ่งมอบหมายคมนาคมชี้แจงกับไอซีเอโอถึงการแก้ปัญหา รวมทั้งมอบหมายนายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.การบินไทย หารือผู้บริหารสายการบินต่างๆ เช่น นกแอร์ แอร์เอเชีย เดือน พ.ค.นี้ เพื่อปรับแผนการบินหลังจากแผนแก้ปัญหาล่าช้าออกไป เพื่อพิจารณาชดเชยผลกระทบให้สายการบิน

“ระยะสั้นต้องเร่งดำเนินการเรื่องสายการบิน ที่ไอซีเอโอกังวลเกี่ยวกับการส่งสินค้าอันตราย 9 สายการบิน ต้องใช้เวลา 2-3 สัปดาห์ นายกฯห่วงเรื่องนี้มาก ส่วนระยะยาวต้องทำให้เสร็จในปี 58 เตรียมตั้งสำนักงานการบินพลเรือนแห่งชาติ กำกับดูแลนโยบายการบิน และตรวจสอบ ส่วนท่าอากาศยาน 28 แห่ง กำหนดการดูแล 2 แนวทาง คือ ตั้งกรมท่าอากาศยานไทย และการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย โดยจะประชุมหาข้อสรุปวันที่ 4 พ.ค.นี้”.


ขอบคุณข้อมูลจาก : ไทยรัฐออนไลน์