นาโนไฟแนนซ์ใกล้เปิดศึก ผู้ประกอบการรายแรกมั่นใจ พร้อมปล่อยกู้ปลายเดือน เม.ย.นี้ แต่หวั่นหนี้เน่าพุ่งสูง หากยอดเกิน 26% บริษัทขาดทุนแน่นอน เพราะมีต้นทุนบริหารงานสูงมาก ขณะที่ธนาคารออมสินไม่หวั่นคู่แข่งหน้าใหม่ ขณะที่คลังแจกใบอนุญาตเรียบร้อยแล้ว นายคณิตเชษฐ์ วัยอัศว รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทไทยเอซ แคปปิตอล จำกัด ผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการนาโนไฟแนนซ์ หรือสินเชื่อเพื่อสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของประชาชนรายย่อย รายแรกของประเทศไทย กล่าวว่า การคิดอัตราดอกเบี้ยของนาโนไฟแนนซ์ที่ให้เก็บสูงสุดไม่เกิน 36% ต่อปีนั้น หากการทำธุรกิจแล้วมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอลเกินกว่า 26% จะทำให้กิจการขาดทุนทันที เพราะการดำเนินธุรกิจนาโนไฟแนนซ์ เป็นการปล่อยสินเชื่อที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันและยังมีต้นทุนในการดำเนินธุรกิจประมาณ 10% ซึ่งถือเป็นภาระต้นทุนที่สูงมาก แต่หากบริษัทสามารถควบคุมระดับหนี้เสียให้ไม่เกินกว่า 26% บริษัทก็จะมีกำไร
ทั้งนี้ บริษัทไทยเอซฯมีประสบการณ์ในการทำธุรกิจสินเชื่อรายย่อยตามกฎหมาย มานานกว่า 30 ปีแล้ว ซึ่งปัจจุบันมีสินเชื่อรายย่อยในพอร์ตประมาณ 800 ล้านบาท สำหรับสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ถือว่าเป็นธุรกิจใหม่ของบริษัทนั้นตั้งเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อในปีนี้ ไว้ที่ 100 ล้านบาท โดยจะเริ่มปล่อยกู้ตั้งแต่ปลายเดือน เม.ย.นี้เป็นต้นไป ทั้งนี้ในปัจจุบันบริษัทมีสามสาขาในกรุงเทพฯ 2 แห่ง และจังหวัดนครราชสีมาอีก 1 แห่ง ส่วน น.ส.ธิดา แก้วบุญตา กรรมการบริษัทศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ 1979 จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นหนึ่งใน บริษัทที่ได้รับใบอนุญาตนาโนไฟแนนซ์ ภายใต้ชื่อ “บริษัทเงินสดทันใจ จำกัด” กล่าวว่า บริษัทตั้งเป้าหมายในการปล่อยสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ ในปีนี้ไว้ที่ 500 ล้านบาท และคาดว่าหนี้เอ็นพีแอลจะไม่เกิน 10% ในปัจจุบันบริษัทได้ดำเนินธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลอยู่แล้ว โดยมีสินเชื่อในพอร์ตอยู่ประมาณ 8,000 ล้านบาท มีเอ็นพีแอลอยู่ที่ 3-4% ซึ่งหลักเกณฑ์ในการให้สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ จะพิจารณาถึงความสามารถในการชำระหนี้ และวัตถุประสงค์ในการนำเงินกู้ ทั้งนี้ จะใช้ สาขาของบริษัท 1,200 สาขาที่กระจายอยู่ทั่วไปเป็นช่องทางธุรกิจ นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า การเปิดตัวของนาโนไฟแนนซ์ จะไม่มีผลกระทบต่อการปล่อยสินเชื่อของธนาคารออมสินในอนาคต เพราะผู้ประกอบการนาโนไฟแนนซ์ หรือสินเชื่อเพื่อสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของประชาชนรายย่อย ถูกกำหนดวงเงินในปล่อยสินเชื่อไม่เกินรายละ 100,000 บาท ซึ่งเป็นระดับความต้องการเงินกู้ของประชาชนรากหญ้า แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยที่ปล่อยกู้จะอยู่ในระดับสูงคือ 36% ต่อปี สูงกว่าสถาบันการเงินทั่วไปก็ตาม แต่ความเสี่ยงจากการปล่อยกู้โดยไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันก็มีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นหนี้เสีย ทั้งนี้ กระทรวงการคลังกำหนดให้ผู้ประกอบการนาโนไฟแนนซ์มีทุนจด ทะเบียนไม่น้อยกว่า 50 ล้านบาท และยังห้ามรับฝากเงินจากประชาชนทั่วไป ทำให้เงื่อนไขของทุนจดทะเบียนเป็นตัวกำหนดขอบเขตของการปล่อยสินเชื่อคือ ปล่อยกู้ได้ภายในวงเงินไม่เกิน 50 ล้านบาท หรือปล่อยกู้รายละ 100,000 บาท ได้ไม่เกิน 500 ราย ทุนที่มีอยู่ 50 ล้านบาทก็หมด ทำให้ผู้ประกอบการเหล่านี้ต้องการระดมเงินทุนก้อนใหม่จากสถาบันการเงิน หรือใช้วิธีการเพิ่มทุนส่วนตัวเข้าไปในกิจการ เพื่อขยายวงเงินให้เกินกว่า 50 ล้านบาท “ประเด็นนี้ผมมองว่าเป็นโอกาสของธนาคารออมสิน เพราะ 1.นาโนไฟแนนซ์จะช่วยเข้าไปปิดช่องโหว่ของการปล่อยสินเชื่อของธนาคารออมสินที่ไม่สามารถดำเนินการได้ คือ ปล่อยกู้โดยไม่มีหลักประกัน 2.ลดการพึ่งพาเงินกู้นอกระบบ และ 3.หากผู้ประกอบการนาโนไฟแนนซ์ต้องการเงินทุนเพิ่มเติมก็สามารถกู้เงินธนาคารออมสินแล้วนำไปปล่อยกู้อีกทอดหนึ่งก็ได้” ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 22 เม.ย. นายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง เป็นประธานในพิธีมอบใบอนุญาตประกอบธุรกิจนาโนไฟแนนซ์ 4 ราย ประกอบด้วย 1.บริษัทเงินสดทันใจ จำกัด 2.บริษัทไทยเอซ แคปปิตอล จำกัด 3.บริษัทแมคคาเล กรุ๊พ จำกัด (มหาชน) และ 4. บริษัทสหไพบูลย์ (2558) และยังมีอยู่อีก 16 บริษัทที่ยื่นคำขอ.

ขอบคุณข้อมูลจาก : ไทยรัฐออนไลน์