เผยผลผลิต-ส่งออกกุ้งไทยเริ่มกระเตื้อง หลังปัญหาโรคตายด่วนบรรเทา แต่ทุกโรงงานยังหืดจับหาวัตถุดิบป้อนโรงงาน ด้าน “ทียูเอฟ” เล็งขยายโรงงานกุ้งในอินเดียเพิ่มตั้งเป้าส่งออกกุ้งปีนี้ 3 หมื่นล้าน นายฤทธิรงค์ บุญมีโชติ ประธานกรรมการบริหารกลุ่มธุรกิจกุ้ง บริษัท ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) หรือ “ทียูเอฟ” เปิดเผยว่า ในปีนี้คาดว่า ทียูเอฟจะส่งออกกุ้งได้ประมาณ 30,000 ล้านบาท เป็นกุ้งแช่แข็งทั้งหมดเพิ่มขึ้นจากปี 57 ที่ทำรายได้ 28,000 ล้านบาท แม้เป้าหมายดังกล่าวจะสวนกระแสการผลิตกุ้งของประเทศที่ยังได้รับผลกระทบจากโรคตายด่วน (EMS) ที่ทำให้ผลผลิตกุ้งไทยที่เคยสูงถึง 650,000 ตัน ลดลงในปีที่ผ่านมาเหลือเพียง 210,000 ตัน แต่ช่วงที่ผ่านมา ทางกรมประมงได้เป็นแกนนำในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว จนทำให้แนวโน้มผลผลิตกุ้งในไตรมาสแรกของปีนี้ดีขึ้น คาดว่าผลผลิตกุ้งทั้งปีของไทยจะเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 20-25% หรือประมาณ 250,000-270,000 ตัน ทั้งนี้ ผลผลิตกุ้งของไทยในปีที่ผ่านมาว่าน่าจะถือว่าต่ำสุดแล้ว จากที่ก่อนหน้านี้ไทยเคยได้ชื่อว่าเป็นแชมป์ส่งออกกุ้งของโลก แม้ในแง่ผลผลิตจะเป็นรองประเทศจีนที่เลี้ยงกุ้งได้มากกว่า 1 ล้านตัน ขณะที่ไทยเคยเลี้ยงได้สูงสุด 650,000 ตัน แต่ปัจจุบันไทยมีผลผลิตกุ้งราว 210,000 ตัน น้อยกว่าเอกวาดอร์ที่มีผลผลิตในปีที่แล้ว 270,000 ตัน ขณะที่ประเทศอื่น ๆ ทั้งอินเดีย อินโดนีเซียต่างมีผลผลิตที่ใกล้เคียงกันราว 300,000 ตัน และเวียดนาม 400,000 ตัน ซึ่งผลผลิตกุ้งที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ทำให้โรงงานผลิตกุ้งในประเทศไม่สามารถเดินกำลังได้เต็มที่ เพราะวัตถุดิบไม่เพียงพอ และยังมีความจำเป็นต้องนำเข้ากุ้งจากต่างประเทศ “ลูกค้าบอกหากคุณไม่มีวัตถุดิบ เขาจำเป็นต้องไปซื้อที่อื่น เพราะห้างเขาเปิดต้องมีสินค้าขาย ร้านอาหารเปิดจะบอกไม่มีกุ้งขายไม่ได้ ทุกรายจึงต้องบริหารจัดการ กระจายความเสี่ยงโดยซื้อจากประเทศอื่นถือเป็นผลกระทบค่อนข้างสาหัสเลยทีเดียว”
ในส่วนของทียูเอฟนั้น จะร่วมกับพันธมิตรธุรกิจในอินเดียคือบริษัท อะแวนติ ฟีด จำกัด ขยายโรงงานผลิตและส่งออกกุ้งในอินเดีย เพิ่มขึ้นอีก 1 โรง กำลังการผลิต 15,000 ตัน/ปี โดยก่อนหน้าเมื่อปี 2551 ทียูเอฟได้เข้าไปร่วมลงทุนในสัดส่วน 25% ในโรงงานดังกล่าวอยู่แล้ว และที่ผ่านมาอินเดียเองก็ไม่มีปัญหาโรคระบาด ทำให้ทางบริษัทยังมีกุ้งวัตถุดิบเพื่อแปรรูปส่งออกอย่างต่อเนื่อง โดยทียูเอฟต้องการเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นในโรงงานใหม่เพิ่มขึ้น โดยใช้เงินลงทุนราว 10-20 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่วนกรณีที่ไทยถูกสหภาพยุโรป (อียู) ให้ใบเหลืองเรื่องการทำประมงที่ผิดกฎหมายและไร้การควบคุม (ไอยูยู) นั้น ทุกฝ่ายต้องเร่งช่วยกันแก้ไข เพราะหากไทยได้ใบแดงจะทำให้ไม่สามารถส่งออกกุ้งและสินค้าประมงไปอียูได้อีก อาจทำให้มูลค่าส่งออกหายไปกว่า 100,000 ล้านบาท.

ขอบคุณข้อมูลจาก : ไทยรัฐออนไลน์