จากข่าวที่มักพบว่า การรับประทานปลาปักเป้าทำให้เสียชีวิตได้ ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ออกคำเตือนมายังประชาชน ให้ระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการนำปลาปักเป้ามาประกอบอาหาร เนื่องจากประชาชนยังขาดความรู้ความเข้าใจ และไม่สามารถแยกชนิดปลาปักเป้าที่มีพิษและไม่มีพิษได้ อีกทั้งสารพิษที่อยู่ในปลาปักเป้า มีฤทธิ์ทำลายระบบประสาทและระบบการหายใจ สามารถทนความร้อนได้ถึง 170 องศาเซลเซียส จึงเป็นอันตรายถึงชีวิต แม้บริโภคเพียงเล็กน้อยก็ตาม

ปลาปักเป้า มีทั้งปลาปักเป้าน้ำจืดและน้ำเค็ม สารพิษที่อยู่ในปลาปักเป้าน้ำจืด คือ ซาซิท็อกซิน (Saxitoxin) ส่วนสารพิษที่อยู่ในปลาปักเป้าน้ำเค็ม คือ เทโตรโดท็อกซิน (Tetrodotoxin) การออกฤทธิ์สารพิษทั้ง 2 ชนิดมีความคล้ายกัน แต่สารในปลาน้ำจืดรุนแรงมากกว่า

สำหรับชิ้นส่วนของปลาที่มีพิษมากที่สุด คือ ตับ รังไข่ เครื่องใน รองลงมาคือ หนังปลาและเนื้อปลาตามลำดับ สารพิษนี้ทนต่อความร้อนสูงมาก การทำให้สุกจึงไม่สามารถทำลายพิษได้ ผู้ที่รับประทานเข้าไป มักจะเกิดอาการหลังจากนั้นประมาณ 30 นาที โดยพิษของปลาปักเป้า จะมีผลต่อระบบกล้ามเนื้อและประสาท ทำให้มีอาการชาที่ริมฝีปาก ปลายนิ้วมือ นิ้วเท้า เวียนศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน กล้ามเนื้อแขนขาอ่อนแรง เป็นอัมพาต และถ้ามีอาการช็อก ก็อาจเสียชีวิตได้ภายใน 2 – 4 ชั่วโมง ปัจจุบันยังไม่มียาแก้พิษปลาปักเป้า จึงต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลเพื่อรักษาตามอาการ


Photo credit by : manager.co.th3
http://terrabkk.com/wp-content/uploads/2015/04/fish.jpg

ดังนั้น จึงควรหลีกเลี่ยงการรับประทานปลาปักเป้าทุกชนิด แม้จะผ่านการต้ม ทอด ย่าง ก็ตาม ซึ่งมีวิธีสังเกตเนื้อปลาที่จะรับประทานได้อย่างง่ายๆ คือ เนื้อปลาปักเป้าเมื่อแล่แล้ว จะมีลักษณะเป็นชิ้นหนา สีออกขาวอมชมพู มัดกล้ามเนื้อมีขนาดใหญ่มองเห็นได้ชัดเจน ด้านข้างลำตัวเมื่อลอกหนังออกจะมีพังผืดติดอยู่ ลักษณะคล้ายเนื้อไก่ ทำให้คนส่วนใหญ่เรียกว่าปลาเนื้อไก่ และเมื่อเปรียบเทียบเนื้อปลาปักเป้ากับเนื้อปลากะพงพบว่า เนื้อปลากะพงจะมีลักษณะเป็นชิ้นที่บางกว่า มัดกล้ามเนื้อมีขนาดเล็กกว่า ทำให้มองเห็นเป็นริ้วถี่ ๆ และด้านข้างลำตัวเมื่อลอกหนังออกจะเห็นกล้ามเนื้อได้อย่างชัดเจน ซึ่งเป็นข้อแตกต่างระหว่างเนื้อปลาปักเป้ากับเนื้อปลาชนิดอื่น แต่หากกรณีเป็นผลิตภัณฑ์เนื้อปลา เช่น ลูกชิ้น ปลาเส้น ให้พิจารณาว่าอยู่ในภาชนะบรรจุที่มีฉลากระบุแหล่งผลิตที่ชัดเจนและมีเครื่องหมาย อย. เพราะจะช่วยให้ผู้บริโภคเกิดความมั่นใจมากขึ้น


หมายเหตุ : ภาพประกอบบทความ บางภาพไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเนื้อหาแต่อย่างใด Photo credit by : www.tartoh.com

ขอบคุณข้อมูลจาก : prd.go.th