ชาวบ้านยังห่วงถ่านหินในแผนพีดีพี 20 ปี
เวทีรับฟังความคิดเห็นร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2558 – 2579 (พีดีพี 2015 ) หลายภาคส่วนยังเป็นห่วงโรงไฟฟ้าถ่านหิน แม้ภาครัฐระบุจะช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้าในอนาคต และมีข้อเสนอสัญญารับซื้อไฟฟ้าจากเอกชนควรยืดหยุ่น เพื่อไม่ให้สำรองไฟฟ้าสูงจนกระทบต่อค่าไฟฟ้า
กระทรวงพลังงานจัดรับฟังความคิดเห็นพีดีพี 2015 รอบสุดท้ายก่อนเสนอขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) วันที่ 14 พฤษภาคม โดยในแผนดังกล่าวคำนวณจากสมมติฐานจีดีพีเฉลี่ยร้อยละ 3.94 ต่อปี โดยแผนนี้จัดทำควบคู่ไปกับแผนอนุรักษ์พลังงานที่กำหนดว่าใน 20 ปีจะลดการใช้พลังงาน 10,000 เมกะวัตต์ หรือประมาณ 89,672 ล้านหน่วย แผนพลังงานทดแทนร้อยละ20 ของการใช้พลังงานทั้งหมดหรือมีกำลังผลิตรวม 19,635 เมกะวัตต์ ซึ่งตามแผนพีดีพีประเมินว่าการใช้ไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นเท่าตัวในปลายแผนหรือจะมีกำลังผลิตกว่า 70,410 เมกะวัตต์ ซึ่งจะมีการกระจายเชื้อเพลิงเพื่อลดความเสี่ยงในการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติมากที่สุด การใช้ก๊าซจะลดจากปี 2557 ที่ร้อยละ 64 เหลือร้อยละ 30-40 ถ่านหินเพิ่มจากร้อยละ 20 เป็นร้อยละ 20-25 พลังน้ำจากต่างประเทศเพิ่มจากร้อยละ 7 เป็นร้อยละ 15-20 พลังงานหมุนเวียนเพิ่มจากร้อยละ 8 เป็นร้อยละ 15-20 นิวเคลียร์ร้อยละ 0-5.ซึ่งตามแผนคาดว่าค่าไฟฟ้าปี 2579 จะอยู่ที่ 5.50 บาท/หน่วย
สำหรับโรงไฟฟ้าใหม่ที่จะเข้าระบบปี 2568-2579 จะเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหิน 9 โรง 7,365 เมกะวัตต์ ,ก๊าซธรรมชาติ 15 โรง 17,478 เมกะวัตต์ นิวเคลียร์ 2 โรง 2,000 เมกะวัตต์, กังหันแก๊ส 5 โรง 1,250 เมกะวัตต์ โคเจนเนอเรชั่น 4,052 เมกะวัตต์, พลังงานหมุนเวียน 12,205 เมกะวัตต์ พลังน้ำสูบกลับ 2,101 เมกะวัตต์ ซื้อต่างประเทศ 11,016 เมกะวัตต์ รวมกำลังผลิต 57,467 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นโครงการใหม่ 30,713 เมกะวัตต์ และโครงการผูกพันแล้ว 26,754 เมกะวัตต์
ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมแสดงความเห็นมีหลากหลาย เช่น สำรองไฟฟ้าที่สูงขึ้นกระทบต้นทุนค่าไฟฟ้า ต้องการให้เน้นเรื่องแผนประสิทธิภาพ มีผู้คัดค้านโรงไฟฟฟ้าถ่านหิน การเพิ่มการรับซื้อไฟฟ้าพลังน้ำจากประเทศเพื่อนบ้าน เพราะหวั่นผลกระทบสิ่งแวดล้อม มีข้อเสนอให้เอกชนมีบทบาทสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้น โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ควรจะมีสัดส่วนผลิตไฟฟ้าต่ำกว่าร้อยละ 50 มีความเป็นห่วงเรื่องกัลฟ์อิเล็คตริกที่มีกำลังผลิตไฟฟ้าจากก๊าซสูงถึง 6,600 เมกะวัตต์ และมีข้อเสนอว่าข้อสัญญาซื้อไฟฟ้าจากเอกชนควรยืดหยุ่นสามารถเจรจาเลื่อนผลิตไฟฟ้าได้
นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า สำรองไฟฟ้าสูงมากโดยเฉพาะปี 2565-2566 ที่ใกล้เคียงร้อยละ 40 นั้น เกิดจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวเหนือคาดการณ์ แม้ที่ผ่านมาจะมีการพิจารณาทบทวนการรับซื้อไฟฟ้าจากกัลฟ์ แต่ยอมรับว่าทำได้ยาก เพราะเป็นสัญญากับเอกชนที่รัฐลงนามไปแล้ว
นายเทียนไชย จงพีร์เพียร นักวิชาการผู้ร่วมจัดทำแผนพีดีพี กล่าวว่า สำรองที่สูงมากเกิดจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวเกินคาด ประกอบกับสัญญาการซื้อไฟฟ้าจากเอกชนที่ปัจจุบันมีกำลังผลิตเป็นสัดส่วนครึ่งหนึ่งของประเทศเป็นสัญญาที่ไม่ยืดหยุ่น ทำให้เกิดปัญหาและควรต้องทบทวนสัญญาในอนาคต ซึ่งในอดีต กฟผ.เป็นผู้ผลิตไฟฟ้าเพียงรายเดียวแผนก่อสร้างมีการยืดหยุ่น มีการเลื่อนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าได้ ทำให้ไม่มีผลกระทบต่อสำรองไฟฟ้า.
ขอบคุณข้อมูลจาก : สำนักข่าวไทย
Discussion
Follow breaking news Investment property articles on Facebook, click here.