ช่างมากที่สุดในไทย! ย่ำถนนกีบหมู ส่องดูค่าตัวกรรมกร ทำเลทองนักเร่ขายแรง
"แรงงาน" นับเป็นอีกหนึ่งสาขาอาชีพที่มีความสำคัญไม่แพ้สาขาอาชีพอื่นๆ โดยคนเหล่านี้มักจะโดนดูถูกเหยียดหยามจากสังคมรอบข้างอยู่บ่อยครั้ง บ้างก็ว่าเป็นงานที่ไม่ใช้สมองและสติปัญญา บ้างก็ว่าเป็นงานของคนรากหญ้า แต่ถ้าวันใดวันหนึ่งที่ประเทศชาติขาดแคลนพลังแห่งการผลิต หรือพลพรรคคนแรงงาน ความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศต้องถึงคราวสะดุดเป็นแน่...
เมื่อพูดถึง "แรงงาน" หลายคนอาจยังไม่รู้จัก "กีบหมู ถนนค้าแรงงาน" ถนนสุเหร่าคลอง 1 ย่านคลองสามวา เขตมีนบุรี ถนนที่มีกรรมกร ช่างชำนาญงานด้านการก่อสร้างต่างๆ ยืนเรียงรายนับพันคน เพื่อรอนายจ้างมาพูดคุยเสนอราคาและรับขึ้นรถไปทำงาน โอกาสนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับทำเลทองเหล่าแรงงาน พร้อมจับเข่านั่งคุย ฟังปัญหากรรมกร!
เหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าจากวันก่อน แต่ชีวิตก็ต้องสู้
ทำความรู้จักถนนค้าแรงงาน กีบหมู สุเหร่าคลองหนึ่งโดยกรรมกรที่ออกมายืนรอนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นแรงงานจากภาคอีสาน ภาคเหนือ รวมทั้งจะมีแรงงานต่างด้าวปะปนอยู่ด้วย โดยมากจะเป็นชาวกัมพูชา ส่วนแรงงานพม่าในย่านนี้จะมีจำนวนไม่มากนัก สำหรับคนที่ต้องการมาจ้างแรงงานชาวไทย แล้วขับรถวนดูรอบๆ ก็แทบจะไม่สามารถแยกระหว่างแรงงานไทยและแรงงานต่าวด้าวได้เลย เพราะมีลักษณะหน้าตาคล้ายคลึงกัน บวกกับความสามารถทางการใช้ภาษาไทยของแรงงานต่างด้าวบางคน ก็สามารถพูดไทยได้ชัดเจน แจ่มแจ๋วเสียด้วย
ทั้งนี้ ลักษณะการจ้างงานจากแรงงานย่านกีบหมู จะค่อนข้างเป็นงานที่เร่งด่วน หรือเป็นรูปแบบงานที่ไม่มีความซับซ้อนมากนัก กล่าวคือ ตกลงว่าจ้าง พูดคุยรายละเอียดงานและต่อรองค่าจ้างกันในตอนเช้าๆ ทำงานเสร็จสิ้นในช่วงเย็น พร้อมกับจ่ายเงินและนำคนงานที่ว่าจ้างกลับมาส่งที่เดิม หากผู้ว่าจ้างไม่มาส่ง ก็จะให้เงินค่าแท็กซี่ เพื่อเดินทางกลับเอง
แรงงานที่ได้รับการจ้างงานแล้ว ก็จะขึ้นรถ เตรียมตัวออกไปทำงาน
เปิดใจแรงงานย่านกีบหมู...กรรมกรรายได้ดีกว่าทำโรงงาน จริงหรือ?นายวัชรกร ข่าขันมารี หนุ่มกรรมกรจากขอนแก่น อายุ 30 ปี ชายผู้นี้มาหางานทำที่ถนนกีบหมูกว่า 2 ปีแล้ว เดิมทีเขาประกอบอาชีพช่างโรงงาน ซึ่งไม่ไกลจากบ้านนัก แต่ด้วยความที่เงินเดือนหลักพัน จึงประสบปัญหารายได้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายมาตลอดหลายปี โดยในวันหนึ่งมีญาติของเขาคนหนึ่งมาชักชวนให้ไปทำงานเป็นกรรมกรในกรุงเทพฯ พร้อมกับบอกว่า เป็นกรรมกรที่ถนนกีบหมูจะมีรายได้มากถึงเดือนละ 18,000 บาท เขาจึงตัดสินใจออกเดินทางมุ่งหน้าไปกรุงเทพฯทันที
"ผมเช่าห้องแถวอยู่กับคนบ้านเดียวกันอีก 3 คน เดือนละ 2,500 ยังไม่รวมน้ำไฟ ทุกเดือนก็หารกัน ก็ตกคนละไม่กี่บาท ส่วนตัวผมถนัดพวกเดินสายไฟ ซ่อมข้าวของเครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ เพราะตอนทำอยู่โรงงานแถวบ้าน ก็ทำงานประเภทนี้อยู่ และก็ยังทำงานช่างอื่นๆ ได้อีก ผู้รับเหมาเขาก็เลยเลือกผมไปทำ ตอนนี้ผมก็เลยมีงานทุกวัน ได้วันละ 600 บาท แต่เมื่อก่อนก็ไม่ค่อยได้งาน เพราะยังไม่มีใครรู้ว่าผมทำอะไรเป็นบ้าง” เขาเล่าถึงการทำงานในช่วงที่ผ่านมาอย่างไม่ปิดบัง
คนที่มีงานจ้าง เริ่มออกเดินทางกันแล้ว
วัชรกร กรรมกรชาวขอนแก่น พูดถึงการออกมาหางานของแรงงานในย่านนี้ว่า หากแรงงานคนไหนอยากได้งาน ก็ต้องออกมายืนรอตั้งแต่เช้ามืดตี 4 เพราะถ้าออกมาสาย จะไม่มีใครว่าจ้าง เนื่องจากเอาไปทำก็ไม่คุ้มค่าแรง ทำงานได้ไม่เต็มวัน โดยค่าจ้างขั้นต่ำของคนในย่านนี้ตกวันละ 500-600 บาท หากเป็นช่างชำนาญ หรือสามารถอ่านแบบได้ ก็จะได้ถึงวันละ 700 บาท
“ช่วงหลังๆ มานี้ แรงงานต่างด้าวจากเขมรเข้ามาเยอะเหลือเกิน ค่าแรงก็ถูกกว่าพวกผมด้วย เลยทำให้พวกผู้รับเหมา หรือคนที่มาจ้างตอนเช้าๆ หันไปจ้างพวกแรงงานต่างด้าวกันก็เยอะ เพราะบางทีพวกนี้เรียกค่าแรงแค่ 300-400 บาทเอง ความสามารถแรงงานต่างด้าวบางคนก็เท่าๆ กันกับคนไทย” กรรมกรชาวไทยวัย 30 ปี บ่นอุบถึงปัญหาการจ้างงานย่านตลาดกีบหมู
คนที่มีความสามารถ ขยันขันแข็ง มักจะมีงานให้ทำทั้งเดือน
อย่างไรก็ดี วัชรกร กรรมกรชาวขอนแก่น ยังฝากไปถึงภาครัฐว่า ถ้าในวันแรงงาน รัฐให้ของขวัญคนแรงงานได้ 1 อย่าง ตนจะขอให้ภาครัฐเข้ามากำกับดูแล ออกมาตรการที่ทำให้ให้แรงงานไทยมีงานประจำ สามารถสร้างรายได้ในแต่ละวันได้แน่นอน เพราะขณะนี้ปัญหาสำคัญที่แรงงานไทยเจอก็คือ แรงงานต่างด้าวเข้ามาแย่งงาน จนแต่เดิมที่เคยมีงานมั่นคง มาวันนี้กลับมีงานบ้าง ไม่มีบ้างแล้วแต่บุญแต่กรรม
ต่างด้าวแย่งงาน ลวงนายจ้างว่าเก่ง! เตือนใจแรงงานไทย ทำอย่างไรถึงได้งานประจำนางอารยา ครองเมือง แรงงานชาวศรีสะเกษ วัย 30 ปี ผู้หญิงคนนี้เรียกได้ว่า เป็นแรงงานที่ช่ำชองงานกรรมกรเป็นอย่างมาก เพราะเธอประกอบอาชีพกรรมกรมากว่า 15 ปีแล้ว อารยาเล่าประสบการณ์แรงงานตลอดระยะเวลาสิบกว่าปีของเธอให้ทีมข่าวฟังว่า เธอมาทำงานเป็นกรรมกร และอาศัยอยู่ย่านนี้ตั้งแต่เป็นเด็กๆ และมาได้สามีที่เป็นกรรมกรด้วยกัน ซึ่งปกติแล้ว การจ้างงานคนย่านกีบหมู จะเป็นไปในลักษณะถ้าจ้างผัว ต้องจ้างเมียด้วย คู่แรงงานผัวเมียจะไม่ยอมแยกกัน เพราะฉะนั้นถ้าจ้างช่างที่เป็นผัว ก็จะต้องจ้างเมียไปเป็นกรรมกรคอยยกปูน ยกข้าวยกของ เก็บเศษปูนเศษทรายด้วย โดยมีเหตุผลที่ว่า หากแยกกันแล้ว จะมีโอกาสที่ทำให้ชีวิตคู่ร้าวฉาน อีกคนหนึ่งไปเจอคนใหม่ ก็อาจก่อความรักครั้งใหม่กับมือที่สามได้ ซึ่งนี่ก็เป็นอีกหนึ่งรายละเอียดเล็กๆ ของเหล่าแรงงานที่อาจไม่สำคัญกับเรา แต่เป็นเรื่องสำคัญของพวกเขาจริงๆ
ทำความรู้จักถนนสายช่าง
เมื่อทีมข่าวสอบถามถึงอัตราค่าจ้างของแรงงานในย่านกีบหมู เธออธิบายเป็นฉากๆ ว่า “กรรมกรคนไทยจะมีค่าจ้างต่อวันแยกไปตามความสามารถของแต่ละคน โดยคนที่เชี่ยวชาญงานช่าง อ่านแบบเป็น ปูกระเบื้องได้ จะมีค่าจ้างอยู่ที่ 800 บาทต่อวัน ส่วนคนที่เป็นช่างปูน จะมีค่าแรงตกวันละ 700 บาท และกรรมกรชายหญิงธรรมดาจะมีค่าแรงอยู่ 600 บาทต่อวัน แต่ถ้าเป็นงานหนักๆ ผู้รับเหมาเขาก็จะไม่ค่อยเอาผู้หญิงไปทำงาน ส่วนต่างด้าวที่มีบัตรแรงงานต่างด้าว ค่าแรงก็จะอยู่ในเรตเดียวกับคนไทยเหมือนๆ กัน ส่วนต่างด้าวที่มีค่าแรง 300-400 บาท จะเป็นพวกที่ไปอยู่ตามไซต์งาน ไม่ต้องเสียค่าที่พัก มีอาหารให้กินพร้อม พวกนี้ค่าจ้างก็จะถูก”
อารยา แรงงานหญิงไทยพูดถึงพฤติกรรมการทำงานของแรงงานย่านกีบหมูอย่างหัวเสียว่า กรรมกรในย่านนี้บางคน ไม่ง้องาน เพราะบางครั้งที่กรรมกรย่านนี้ได้รับการว่าจ้างเป็นรายวัน แต่ถ้าไปเจอนายจ้างที่ค่อนข้างเรื่องมาก มีความละเอียดสูง กรรมกรบางคนจะไม่พอใจ ถึงขั้นโบกแท็กซี่กลับบ้านก็มี หรือบางคนก็โกหกกับพวกนายจ้างที่ขับรถมาติดต่อจะจ้างงานว่า ตัวเองเป็นช่าง สามารถทำได้ทุกอย่าง แต่พอไปถึงหน้างานแล้วก็ทำลวกๆ ให้เสร็จๆ ไปภายในวัน อย่างเช่น ไปก่อปูน ช่างทำได้เร็วมาก แต่ก็ทำงูๆ ปลาๆ ไม่กี่วันปูนก็ล้มพังไม่เป็นท่า ซึ่งปัญหาการทำงานของคนเหล่านี้ เป็นการทำลายชื่อเสียงของแรงงานในย่านกีบหมูเป็นอย่างมาก เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะมาว่าจ้าง ผู้ว่าจ้างจะต้องมั่นใจว่ากรรมกรที่จ้างไปมีความเชี่ยวชาญในงานด้านที่จ้างไปจริงๆ
หนุ่มสาวเตรียมออกเดินทางไปทำงานแต่เช้าตรู่
ในฐานะที่อารยา เป็นอีกหนึ่งแรงงานคนหนึ่งที่ได้รับความไว้ใจจากผู้รับเหมาเป็นจำนวนมาก และได้รับการจ้างงานทุกวัน เธอแสดงมุมมองเกี่ยวกับข้อปฏิบัติที่เหล่ากรรมกรทั้งหลายพึงปฏิบัติว่า "สำหรับคนที่ไม่เป็นงาน แล้วเพิ่งมาอยู่ก็ควรขยัน หมั่นสังเกตจากคนที่เก่งๆ เพราะเราเชื่อว่า งานยากไม่มี ถ้าขยัน มีความรับผิดชอบ เดี๋ยวก็จะเก่งทุกด้านเอง ส่วนคนที่อยู่มานานแล้ว ก็ควรทำตัวให้เป็นมาตรฐาน อย่าสักแต่ว่าทำงานให้นายจ้างเสร็จไปเป็นวันๆ ทำลวกๆ เพราะต่อไปเขารู้ไว้รู้พุงกัน ก็จะทำให้ไม่มีใครเขาอยากจ้าง ไม่มีใครเขากล้าแนะนำให้ไปจ้าง ดังนั้น สิ่งสำคัญของอาชีพนี้จะต้องขยัน มีความรับผิดชอบ นอกจากจะได้งานทุกวัน อาชีพอื่นๆ เขาจะได้ไม่ดูถูกอาชีพเราด้วย”
กีบหมู ถนนค้าแรงงาน ช่วงเวลาราวๆ 6 โมงเช้า
ต่างด้าวค่าแรงแสนถูก แต่..ฝีมือสู้คนไทยไม่ได้!นายจำรัส ทองอึ้ง อายุ 40 ปี ผู้รับเหมาก่อสร้าง เปิดเผยกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ว่า ส่วนใหญ่จะเลือกจ้างแรงงานเฉพาะคนที่ทำงานด้วยกันประจำ และหากคนไม่เพียงพอก็จะให้แรงงานที่เรียกใช้บริการอยู่เป็นประจำไปหาคนมาเพิ่ม ซึ่งเขาอาศัยอยู่แถวถนนกีบหมู จะรู้จักคนงานแถวนี้เป็นอย่างดี รู้ว่าคนไหนมีฝีมือหรือไม่มีฝีมือ แต่หากจะให้ไปขับรถหาแรงงานเองก็จะมีความเสี่ยง เพราะไม่ได้รู้จักคนแถวนี้ดี เมื่อจ้างไปทำงานแล้วมารู้ตอนหลังว่าทำงานไม่เป็น เงินก็ต้องจ่าย งานก็เสีย
นายจำรัส เล่าประสบการณ์การจ้างแรงงานต่างด้าวให้ทีมข่าว ฟังว่า เคยจ้างแรงงานต่างด้าว โดยให้ค่าแรงวันละ 300 บาท แต่ก็ต้องมาจ้างแรงงานคนไทยที่ถนนกีบหมูอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากว่า ต่างด้าวทำงานฝีมือไม่ได้ ไม่ละเอียดเรียบร้อยเหมือนคนไทย จึงต้องให้ไปเป็นกรรมกรแทน
ขึ้นรถ รอคนครบ เพื่อออกไปทำงาน
ยืนรอผู้ที่จะมาว่าจ้างตั้งแต่เช้ามืด
“ถึงจะต้องเสียเงินจ้างแรงงานไทยแพงแค่ไหนก็ยอมจ่าย เพราะมีฝีมือดีกว่า หากไปจ้างต่างด้าวถึงแม้ว่าค่าแรงจะถูกกว่าก็จริง แต่ก็ต้องมาแก้งานหลายรอบ มันไม่คุ้ม เสียงานอีก” นายจำรัส ระบุ
ณ ถนนสุเหร่าคลองหนึ่ง หรือที่เรียกกันว่า "ถนนกีบหมู" แห่งนี้ ราคาการจ้างแรงงานเป็นราคามาตรฐาน โดย กรรมการ ค่าแรงวันละ 600 บาท ช่างเชื่อม ค่าแรงวันละ 800 บาท ช่างปูน ค่าแรงวันละ 700 บาท ส่วนช่างเฟอร์นิเจอร์ ค่าแรงแพงถึงสุดวันละ 1,000 บาท ส่วนถ้าเป็นแรงงานต่างด้าว ค่าแรงวันละประมาณ 300-400 บาทเท่านั้น
“บางคนไม่ฝึกฝีมือ แต่จะมาเอาค่าแรงเยอะ ก็ไม่มีใครเขาจ้าง พอหลวมตัวจ้างไปครั้งเดียวครั้งต่อๆ มาเขาก็เลิกจ้างแล้ว ฉะนั้น ถ้าแรงงานไทยอยากจะหางานที่ถนนกีบหมูแห่งนี้ จะต้องไปฝึกฝีมือดีๆ ให้มีความชำนาญ ถ้าทำได้มีงานแน่นอน” ผู้รับเหมามากประสบการณ์ ทิ้งท้าย
ขอบคุณข้อมูล และ รูปภาพ จาก : ไทยรัฐออนไลน์