“อพท.”รุกพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยว
พ.อ.นาฬิกอติภัค แสงสนิท ผู้อำนวยการ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เปิดเผยว่า แผนยุทธศาสตร์ของพื้นที่พิเศษที่ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมตรี (ครม.) ประกอบด้วย พื้นที่พิเศษอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย-กำแพงเพชร ระยะ 10 ปี (2556-2565) วงเงิน 1,847.4 ล้านบาท ,พื้นที่พิเศษเลย ระยะ 10 ปี (2556-2565) วงเงิน 3,077.40 ล้านบาท ,พื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน ระยะ 5 ปี (2556-2560) วงเงิน 2,404.27 ล้านบาท และพื้นที่พิเศษเมืองโบราณอู่ทอง ระยะ 10 ปี (2557-2566) วงเงินงบประมาณ 4,088.40 ล้านบาท ซึ่งรวม 4 พื้นที่พิเศษเป็นวงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 11,417.47 ล้านบาท
ทั้งนี้การจัดสรรงบประมาณภายใต้แผนยุทธศาสตร์ที่ อพท. ทำไว้นั้น ไม่จำเป็นต้องผ่านมาที่ อพท.ทั้งหมด แต่สำนักงบประมาณจะจัดสรรตรงไปยังหน่วยงานต้นสังกัดของแต่ละโครงการ อาทิ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และกระทรวงคมนาคม เป็นต้น เป้าหมายสูงสุดของการทำงานตามแผน คือ ชุมชนในพื้นที่พิเศษสามารถบริหารจัดการชุมชนของตัวเองให้มีขีดความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยว การเพิ่มกิจกรรมการท่องเที่ยวหรือแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆที่ชุมชนมีส่วนร่วมและชุมชนจะต้องมีรายได้เพิ่มจากการเดินทางมาของนักท่องเที่ยว ซึ่ง อพท.จะวัดผลได้จาก “ดัชนีอยู่ดีมีสุข” และ “รายได้ชุมชน” ที่เพิ่มขึ้น
นายชูวิทย์ มิตรชอบ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. กล่าวว่า พื้นที่ที่ประกาศเป็นพื้นที่พิเศษนั้น เมื่อดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ตามที่ ครม.เห็นชอบ จะเป็นพื้นที่ต้นแบบให้ชุม ชนอื่นๆเข้ามาศึกษาดูงาน เพื่อนำไปปรับใช้พัฒนาชุมชนของตัวเอง ซึ่งชุมชนในพื้นที่พิเศษหากมีการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ที่ อพท.วางไว้ จะทำให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวเติบโตเฉลี่ยปีละ 5-10% และมีรายได้ที่มาจากการท่องเที่ยวเติบโตแบบก้าวกระโดด หรืออย่างน้อยเฉลี่ยปีละ 30%
โดยรายได้ที่เพิ่มขึ้นมาจากการเข้าไปทำกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ของนักท่องเที่ยว และยังช่วยเพิ่มวันพักเฉลี่ยให้นักท่องเที่ยวอยู่นานขึ้น ใช้จ่ายเงินเพิ่มขึ้นจากการจ่ายค่าที่พักและการใช้บริการในกิจกรรมการท่องเที่ยว สำหรับปีงบประมาณ 2558 อพท.เตรียมประกาศพื้นที่พิเศษเพิ่มอีก 1-2 แห่ง คือ พื้นที่พิเศษเมืองหัวหิน-ชะอำและพื้นที่เชื่อมโยง และพื้นที่เมืองโบราณเชียงแสน จากปัจจุบัน อพท.มีพื้นที่พิเศษในความดูแลรวม 6 แห่ง
หมายเหตุ : ภาพประกอบบทความ บางภาพไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเนื้อหาแต่อย่างใด Photo credit by : th.tripadvisor.com
ขอบคุณข้อมูลจาก : แนวหน้า
Discussion
Follow breaking news Investment property articles on Facebook, click here.