เฟ้อ เม.ย.ทุบสถิติติดลบ 4 เดือน
“ธปท.-พาณิชย์”ประสานเสียงยัน“ไม่ใช่เงินฝืด”
เงินเฟ้อเดือน เม.ย.ติดลบต่อเป็นเดือนที่ 4 รูดลงอีก 1.04% แถมคาด พ.ค.ยังลบต่ออีกเดือน พาณิชย์-ธปท.ประสานเสียง “เงินยังไม่ฝืด” เชื่อ กนง.ลดดอกเบี้ยช่วยประคองได้ ขณะที่กรมสรรพากรตามจี้ผู้ประกอบการขนาดเล็กรีดภาษีมูลค่าเพิ่ม
นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ (เงินเฟ้อ) เดือน เม.ย.58 ว่า เท่ากับ 106.35 ลดลง 1.04% เมื่อเทียบกับเดือน เม.ย.57 ซึ่งเป็นการติดลบต่อเนื่อง 4 เดือนในรอบปีนี้ และยังทำสถิติติดลบสูงสุดในรอบ 5 ปี 7 เดือน ส่วนเมื่อเทียบกับเดือน มี.ค.58 สูงขึ้น 0.02% ขณะที่ดัชนีเฉลี่ย 4 เดือน (ม.ค.-เม.ย.) 58 ลดลง 0.65%
“สาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อติดลบเป็นผลจากดัชนีหมวดอื่นๆไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มลดลง 1.93% สินค้าที่ราคาลดลงมาก คือ น้ำมันเชื้อเพลิงลด 22.69% ส่วนสินค้าอื่นๆ ยังราคาสูงขึ้น เช่น ค่าเช่าบ้าน-หอพักเพิ่ม 1.38% ค่ารักษาพยาบาลเพิ่ม 1.02% เหล้า-บุหรี่เพิ่ม 2.38% หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้น 0.6% เช่น อาหารปรุงสำเร็จเพิ่ม 2.08% อาหารบริโภคในบ้านเพิ่ม 0.89% เครื่องประกอบอาหารเพิ่ม 1.54% โดยถ้าแยกสินค้าที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อ 450 รายการ พบว่าราคาสูงขึ้น 148 รายการ ลดลง 103 รายการ ไม่เปลี่ยนแปลง 199 รายการ”
นายสมเกียรติกล่าวต่อว่า กระทรวงยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั้งปี 58 อยู่ที่ขยายตัว 0.6-1.3% เมื่อเทียบกับปีก่อน ภายใต้สมมติฐานคือเศรษฐกิจไทยขยายตัว 3-4% ราคาน้ำมันดิบตลาดดูไบเฉลี่ย 50-60 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยน 32-34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งขณะนี้ปัจจัยเหล่านี้ยังไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก จึงยังคงเป้าหมายเงินเฟ้อเหมือนเดิม โดยคาดว่าเดือน พ.ค.58 อัตราเงินเฟ้อจะยังติดลบต่อเนื่อง
ทั้งนี้ แม้ว่าเงินเฟ้อจะติดลบต่อเนื่องมา 4 เดือน แต่ยืนยันว่าไม่ใช่ภาวะเงินฝืด เพราะหากดูจากสินค้าที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อ พบว่า ยังมีราคาปรับตัวสูงขึ้นมากกว่าลดลง อีกทั้งไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งมีความต้องการสินค้าสูง แต่ขณะนี้คนอาจจะระมัดระวังการใช้จ่ายเพื่อรอดูภาวะเศรษฐกิจไปอีกระยะ ดังนั้น จึงไม่อยากให้มองว่าตัวเลขเงินเฟ้อติดลบ 3 เดือน 6 เดือน และจะกลายเป็นภาวะเงินฝืด เพราะเงินเฟ้อที่ลดลงมาก มาจากราคาน้ำมันปรับตัวลดลง แต่เชื่อว่าทิศทางราคาน้ำมันดิบจะเริ่มขยับขึ้น โดยเฉพาะในไตรมาส 4 ของปีนี้ที่ทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้นตาม
ขณะที่การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ลงอีก 0.25% เชื่อว่าจะช่วยกระตุ้นการบริโภคได้ดีขึ้น และทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง ซึ่งจะทำให้ราคาวัตถุดิบนำเข้าจากต่างประเทศปรับสูงขึ้น และส่งผลต่อเนื่องให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ราคาสินค้าสูงขึ้น และเงินเฟ้อสูงขึ้นได้
ด้านนายจิรเทพ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงตัวเลขเงินเฟ้อล่าสุดในเดือน เม.ย.ว่า ตัวเลขเงินเฟ้อทั่วไปที่ติดลบมากขึ้นนั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากฐานของเงินเฟ้อในระยะเดียวกันปีก่อนอยู่ในระดับสูง ดังนั้น ในภาพรวมอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในไตรมาสที่สอง เราอาจจะเห็นการติดลบมากกว่าในไตรมาสแรก เนื่องจากผลของฐานที่สูง ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ชะลอลงต่ำลงสะท้อนว่าเศรษฐกิจยังคงอ่อนแอ และต้องใช้เวลาในการปรับตัว ทั้งนี้ การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งล่าสุด ส่วนหนึ่งเพื่อช่วยลดความเสี่ยงที่อาจเกิดภาวะเงินฝืด
ขณะเดียวกัน กรมสรรพากร โดยนายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า ได้คาดการณ์การจัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณนี้พบว่า อาจจะต่ำกว่าเป้าหมายเพียง 100,000 ล้านบาท หรือ 5-6% จากเป้าหมาย 1.965 ล้านล้านบาท ซึ่งดีกว่าที่เคยคาดการณ์เดิมที่จะต่ำกว่าเป้าหมายราว 160,000-200,000 ล้านบาท หรือต่ำกว่าเป้า 8-10% ทั้งนี้ ผลการจัดเก็บรายได้ของกรมล่าสุดในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณนี้ (ต.ค.57-เม.ย.58) กรมจัดเก็บได้ดีกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วประมาณ 10,000 ล้านบาท แต่ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 50,000 ล้านบาท โดยเริ่มเห็นสัญญาณการจัดเก็บรายได้ที่ดีขึ้นในพื้นที่ต่างจังหวัด ยกเว้นในเขตกรุงเทพฯ โดยเฉพาะในกลุ่มบริษัทจดทะเบียน
“ขณะนี้ได้เร่งการแก้ไขปัญหาการหลบเลี่ยงภาษี ซึ่งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เคยประเมินว่า ไทยมีช่องว่างในการสูญเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 10-14% กรมจึงต้องเร่งปรับปรุง เช่น กรณีผู้ประกอบการที่มีรายได้ต่อปีตั้งแต่ 1.8 ล้านบาทขึ้นไปตามกฎหมายระบุว่า ต้องยื่นเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ผู้ประกอบการบางรายแม้มีรายได้ต่อปีเกินกว่า 1.8 ล้านบาท แต่อาจออกใบกำกับภาษีไม่ครบถ้วน เป็นต้น นอกจากนี้ ยังได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ของกรมออกสำรวจตลาดสด หรือตลาดนัดต่างๆ เพื่อนำผู้ประกอบการที่มีรายได้ และอยู่ในเกณฑ์ต้องเสียภาษีเข้าระบบภาษีด้วย”.
ขอบคุณข้อมูลจาก : ไทยรัฐออนไลน์
Discussion
Follow breaking news Investment property articles on Facebook, click here.