ใช้รธน.เก่าโหวตแข่ง พท.ขอปี40-ปชป.เสนอ50ให้ปชช.เลือก
“เพื่อไทย” ดิ้นสู้เกม รธน.ฉบับ “เรือแป๊ะ” ชงสูตรประชามติเข็น รธน.ปี 40 ประกบเป็นทางเลือกให้ประชาชน ล็อกร่างใหม่ไม่ผ่าน-ไม่ต้องกลับไปนับหนึ่งอีก นปช.ให้เขียนบัตรประชามติเปิดทางให้ชาวบ้านกาเลือก รธน.ฉบับใดก็ได้ “ประชาธิปัตย์” เปิดสูตรใช้ รธน.ปี 50 มาโหวตแข่ง “เทียนฉาย” ชี้ประชาพิจารณ์ก็สำคัญ อย่าพูดแต่เรื่องประชามติ “เสธ.อู้” โยน “บิ๊กตู่” เคาะใช้ ม.46 กมธ.ยกร่างฯบรรเจิดแนะใช้ก่อน-ประชามติทีหลัง “ปนัดดา” อ้างประชามติเป็นอะไรที่น่าห่วง “บิ๊กตู่” เซ็นตั้ง “อภิรัชต์” นั่ง ปธ.บอร์ดหวยแล้ว
การกดดันให้ทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญเข้มข้นขึ้นตามลำดับ ล่าสุด นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช.ออกมาเบรกเกมว่า ขั้นตอนยังอีกไกล ขณะที่ฝ่ายการเมืองยังคงจุดกระแสให้มีการทำประชามติออกมาอย่างต่อเนื่อง
“เทียนฉาย” เบรกคนจ้อประชามติ
วันที่ 2 พ.ค.นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวถึงกรณีหลายฝ่ายออกมาสนับสนุนให้ทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญว่า อยากให้ใจเย็นๆ ทั้งนักการเมือง นักวิชาการ การออกมาเรียกร้องเรื่องประชามติ เพราะยังอยู่ในกระบวนการยื่นคำขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญของ คสช. ครม.กับ สปช.และกว่าจะเห็นหน้าตาร่างสุดท้ายของรัฐธรรมนูญ ก็ต้องวันที่ 23 ก.ค.จึงยังเร็วไปที่จะพูดหรือมาวิจารณ์กัน อย่าลืมว่า ยังมีกระบวนการอื่นที่ต้องทำและให้ความสำคัญด้วยคือการทำประชาพิจารณ์ ไม่ใช่เอาแต่พูดเรื่องประชามติอย่างเดียว
สปช.จี้แก้ รธน.ชั่วคราว ม.46 เปิดทาง
นายเสรี สุวรรณภานนท์ สปช.ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญติดตามและให้ข้อเสนอแนะการยกร่างรัฐธรรมนูญ สปช.กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขอให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และสปช.เป็นผู้พิจารณาเรื่องการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญว่า เท่าที่รับฟังความเห็นของ สปช.ส่วนใหญ่อยากให้ทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เกิดความชอบธรรม เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย โดยให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว มาตรา 46 เพื่อเปิดช่องการทำประชามติ แต่สิ่งสำคัญในการทำประชามติคือ เนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญจะต้องเป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่าย
เตือนไม่ปรับประเด็นร้อนก็โดนคว่ำ
นายเสรีกล่าวต่อว่า ถ้าร่าง รธน.ยังมีปัญหาในทางปฏิบัติเหมือนตัวร่างในขณะนี้ โดยเฉพาะประเด็นโครงสร้างทางการเมืองทั้งเรื่องนายกฯ คนนอก การเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม ที่มา ส.ว. หรือมาตรา 181-182 ที่พรรคการเมืองรุมต่อต้านอย่างหนัก ก็มีโอกาสสูงที่ประชาชนจะคว่ำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ แม้เนื้อหาในรัฐธรรมนูญส่วนที่เหลือจะเป็นที่ยอมรับและมีประโยชน์ก็ตาม เพราะพรรคการเมืองมีฐานเสียงจากประชาชนทั่วประเทศ ดังนั้นคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญควรรับฟังความเห็นจากพรรคการเมืองด้วย ไม่ใช่บอกว่า เป็นกลุ่มเสียผลประโยชน์ สวนทางกับคำพูดที่เคยบอกว่า จะรับฟังความเห็นจากทุกฝ่าย กมธ.ยกร่างฯ ต้องใจกว้างมากกว่าธงที่ตั้งไว้
สนช.เอาประชามติมากกว่าไม่เอา
นายทวีศักดิ์ สูทกวาทิน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการพิจารณาศึกษา เสนอแนะ และรวบรวมความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 34 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงข้อเสนอให้มีการจัดทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญว่า สนช.ส่วนใหญ่เห็นด้วยอยากให้มีการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยขณะนี้ สนช.อยู่ระหว่างการรวบรวมความเห็นครั้งที่ 3 เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยในช่วงปลายเดือน พ.ค. ถึงต้นเดือน มิ.ย. จะจัดสัมมนาระดมความเห็นของสมาชิก สนช.เป็นครั้งสุดท้าย ก่อนจะเสนอความเห็นไปยังคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยข้อเสนอแนะที่จะส่งไปให้ กมธ.ยกร่างฯ ครั้งนี้ สนช.จะมีความเห็นไปในแนวทางเดียวกันทุกเรื่อง เพื่อความเป็นเอกภาพ ไม่ได้แยกส่งความเห็นในนามคณะกรรมาธิการฯ แต่ละคณะ เหมือน 2 ครั้งที่ผ่านมา
ที่มา ส.ว.–โอเพ่นลิสต์เข้าใจยาก
นายทวีศักดิ์กล่าวว่า ในส่วนโครงสร้างทางการเมืองตามเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญ จากการฟังความเห็นของ สนช.ต่างเห็นพ้องกันว่า การออกแบบการเลือกตั้งไม่มีผลต่อการแก้ปัญหาการซื้อเสียงได้ เพราะไม่ว่าจะออกแบบมาอย่างไร ก็สามารถซื้อขายเสียงได้อยู่ดี แต่ควรเพิ่มอำนาจให้ กกต.มีอำนาจในการสืบสวนสอบสวนอย่างเข้มข้นมากขึ้น ขณะที่เรื่องที่มา ส.ว.เห็นว่า มีการให้อำนาจ ส.ว.มากเกินไป ถ้าไม่ได้มีที่มาจากการเลือกตั้ง ก็ควรมีอำนาจหน้าที่จำกัด อีกทั้งที่มาของ ส.ว.มีทั้งมาจากการเลือกตั้ง สรรหา และเลือกกันเอง ดูแล้วมีความซับซ้อน เข้าใจยาก เหมือนกรณีการเลือก ส.ส.แบบโอเพ่นลิสต์ อย่างไรก็ตามจะต้องรอผลการสัมมนาระดมความเห็นของ สนช.ในปลาย พ.ค. ถึงต้น มิ.ย.อีกครั้ง เพื่อสรุปความเห็นอย่างเป็นทางการส่งให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญต่อไป
“เสธ.อู้” อ้างร่าง รธน.แบบไทยต้องยาว
พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษก กมธ.ยกร่างฯ กล่าวถึงกรณีที่นายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย ระบุว่า ควรรื้อรัฐธรรมนูญใหม่และตัดทิ้ง 150 มาตราว่า เข้าใจว่าส่วนใหญ่คนที่ออกมาวิพากษ์–วิจารณ์ยังไม่เข้าใจรัฐธรรมนูญชัดเจนและมักจะมองไม่ออก รัฐธรรมนูญสามารถเขียนให้สั้นหรือยาวได้ แต่คนไทยไม่เหมือนต่างชาติ จิตวิญญาณในระบอบประชาธิปไตยยังไม่เป็นไปในแนวทางเดียวกัน กมธ.ยกร่างฯ จึงต้องลงรายละเอียดมากจะเขียนสั้นๆแบบต่างประเทศไม่ได้ เพราะจะยากต่อการตีความที่คนไทยยังมีศรีธนญชัยจำนวนมาก หากเขียนไม่ครอบคลุมเกรงว่าบ้านเมืองจะวุ่นวายอีก
โยน “บิ๊กตู่–คสช.” เคาะใช้ ม.46
พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวด้วยว่า ยังมีเวลาที่จะปรับปรุงร่างรัฐธรรมนูญได้ กมธ.ยกร่างฯ ยังรอญัตติเสนอแก้ไขจาก สปช.อยู่ หากเขาเห็นพ้องต้องกันว่าจะปรับมาตราไหนเราก็พร้อมที่จะแก้ให้เพื่อให้เป็นไปตามความต้องการของคนส่วนใหญ่ แต่จะให้ถูกใจหมดทุกคนคงเป็นไปไม่ได้ ส่วนข้อเสนอที่หลายฝ่ายให้ใช้มาตรา 46 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวเพื่อทำประชามติ กมธ.ยกร่างฯ ไม่มีปัญหา เรื่องนี้เคยพูดกันมานานแล้วหากรัฐบาลและ คสช.เห็นว่าควรทำก็เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว เชื่อว่ารัฐบาลและ คสช.เองมีวิจารณญาณพอว่าจะทำหรือไม่ทำ
ชงใช้ก่อน–ประชามติทีหลัง
นายไพบูลย์ นิติตะวัน กมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า ส่วนตัวอยากเสนอช่องทางในการทำประชามติแบบใหม่ คือเขียนกำหนดเพิ่มประเด็นการทำประชามติไว้ในร่างรัฐธรรมนูญส่วนบทเฉพาะกาลเลยว่าเมื่อรัฐธรรมนูญผ่านการพิจารณาเห็นชอบจาก สปช.และหลังจากรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ ให้มีการทำประชามติภายใน 90-120 วันทันที พร้อมกำหนดประเด็นสำคัญๆที่จะไปถามความเห็นประชาชน เพื่อให้กระบวนการทุกอย่างเป็นไปตามโรดแม็ปที่คสช.วางไว้ เพราะถ้าหากไม่เขียนกำหนดไว้ตามข้อเสนอนี้ ก็ต้องไปดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) 2557 ซึ่งมองว่ามันจะทำให้เกิดแรงกระเพื่อมและอาจเป็นที่ครหาได้
“ปนัดดา” ยันทำประชามติน่าเป็นห่วง
ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กำลังศึกษาโดยเฉพาะในส่วนภาคการปกครองท้องถิ่น ที่จะต้องทำให้การบริหารราชการแผ่นดินเกิดความยั่งยืน มองข้ามไม่ได้ คำนึงถึงการใช้อำนาจ ในยุคที่ไม่ใช่ใครใหญ่กว่าใคร ไม่ใช่มีอำนาจแต่ใช้แบบขาดความรับผิดชอบ ส่วนเรื่องการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ถือเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง ต้องคิดให้รอบคอบ เพื่อให้การร่างรัฐธรรมนูญเกิดประโยชน์สูงสุด อะไรที่ทำได้ก็ควรจะทำ เมื่อถามว่า หวั่นหรือไม่ว่าหาก คสช. ครม.และ สนช.ตัดสินใจไม่ทำประชามติ ฝ่ายการเมืองจะบอยคอตไม่ลงเลือกตั้ง ม.ล.ปนัดดาตอบว่า คงไม่ใช่ความปรารถนาของท่านนายกรัฐมนตรี
พท.เปิดเกมประกบ รธน.ปี 40
นายสามารถ แก้วมีชัย อดีต ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทยกล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้มุ่งเน้นไปที่ประเด็นทางการเมือง มีการตั้งองค์กรพิเศษเพื่อควบคุมนักการเมืองและมุ่งสืบทอดอำนาจด้วยองค์กรที่จัดตั้งขึ้น เช่น สภาขับเคลื่อนการปฏิรูป ทำให้ละเลยสิทธิขั้นพื้นฐานที่จำเป็นในการดำรงชีพของประชาชน ขณะนี้เป็นห่วงว่า ถ้าเอาร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไปให้ประชาชนลงมติ โดยไม่มีทางเลือกอื่น หากทำประชามติไม่ผ่าน ก็ต้องไปร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่ ไม่รู้จะใช้เวลากันอีกนานแค่ไหน ทำให้เสียเวลา และเสียโอกาส ดังนั้นขอเสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว มาตรา 46 โดยเขียนระบุอย่างชัดเจนว่า ให้มีการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ กับรัฐธรรมนูญปี 2540 ว่า ประชาชนอยากจะได้รัฐธรรมนูญฉบับใด เพื่อให้ประชาชนมีทางเลือกเพิ่มขึ้น ไม่ใช่ว่า หากไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แล้วก็ต้องไปเริ่มต้นใหม่หมด นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ก็ทราบดีเพราะเคยมีส่วนร่วมร่างรัฐธรรมนูญปี 40 มาแล้ว หากเห็นว่า ทำให้รัฐบาลมีความเข้มแข็งมากเกินไป ก็สามารถปรับแก้ไขเนื้อหาเรื่องการตรวจสอบรัฐบาลได้ ถือเป็นทางเลือกให้ประชาชนได้ตัดสินใจมากขึ้น
นปช.ปิ๊งประชามติปลายเปิด
นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำ นปช. กล่าวถึงข้อเสนอใช้มาตรา 46 เปิดช่องทำประชามติว่า ตนเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวตามมาตรา 46 และควรแก้เปิดช่อง มาตรา 35 ทั้ง 10 วงเล็บ ที่เป็นตัวกำหนดรูปแบบหรือสเปกของรัฐธรรมนูญที่กำลังทำอยู่ด้วย เพราะไม่ว่ารัฐธรรมนูญจะร่างอย่างไรถ้ามีมาตรา 35 นี้อยู่ก็ไม่มีประโยชน์ ทั้งนี้ ในส่วนของการทำประชามติ ก็ควรมีทางเลือกให้ประชาชนเขาเขียนว่า ถ้าไม่เห็นชอบรัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังทำอยู่นี้ จะเลือกรัฐธรรมนูญฉบับใด หรือเสนอประเด็น เช่น เรื่องของที่มา ส.ว. ที่มานายกรัฐมนตรี อำนาจองค์กรอิสระ ฯลฯ ให้ประชาชนตัดสินว่าจะรับหรือไม่
ลากปมพีซทีวีจอดำฟ้องโลก
นายจตุพรยังกล่าวถึงกรณี กสท.มีคำสั่งปิดสถานีโทรทัศน์พีซทีวีว่า สิ่งที่เราดำเนินการอยู่คือร้องศาลปกครอง และในวันที่ 3 พ.ค.นี้ ซึ่งเป็นวันสื่อโลก เราก็จะไปยื่นหนังสือที่ยูเอ็น ส่วนองค์กรอื่นๆที่จะไปยื่นก็คือ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และผู้ตรวจการแผ่นดิน ขณะเดียวกัน ส่วนตัวจะฟ้องกรรมการ กสท. และเลขาฯ กสทช.ในข้อหาหมิ่นประมาท และปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ สืบเนื่องจากการยกเหตุ 2 กรณีที่ตนพูดว่า “อย่ามองคนเห็นต่างเป็นศัตรู บรรยากาศการเมืองจะน่ารักมากกว่านี้ ไม่ใช่พูดอย่างนี้จะหาเรื่องปิดกันอีกนะ” กับที่ตนพูดเรื่องระเบิดที่สมุย ซึ่งที่เขาสรุปมาเมื่อเราถอดเทปแล้วก็ไม่ตรงกับที่เราพูด ทั้ง 2 กรณีที่เขายกมานี้ ไม่ใช่แค่คนไทยที่ตกใจ แต่โลกยังต้องตะลึงเลย สำหรับการทำงานของช่อง ได้ให้ฝ่ายรายการไปดูเรื่องของโซเชียลมีเดีย คิดว่าจะทำรายการผ่านช่องยูทูบ และเฟซบุ๊ก ส่วนพนักงานเราจะดูแลเขาต่อไป เพราะเราไม่เคยทิ้งใครไว้ในสนามรบ
ปชป.ค้านองค์กรใหม่ใหญ่คับฟ้า
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า ขณะนี้พรรคประชาธิปัตย์ได้รับหนังสือของ กมธ.ยกร่างฯ ที่ขอให้ทำความเห็นเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญแล้ว โดยกำหนดให้ส่งภายในวันที่ 20 พ.ค. ซึ่งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค มอบหมายให้ตนเป็นผู้พิจารณาจัดทำ แต่ยังมีอุปสรรคบางเรื่องหากจะขอความเห็นของพรรค เนื่องจากยังไม่สามารถจัดการประชุมได้ตามประกาศของ คสช. อย่างไรก็ตาม เรามีความเห็นประเด็นหลักสำคัญๆคือ ต้องยึดหลักประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาที่มีองค์พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข ต้องนำไปสู่การพัฒนาประชาธิปไตยที่ยั่งยืนไม่ใช่เพื่อสนองการเมืองเฉพาะกิจ ทุกองค์กรใหม่ที่ตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญ อาทิ คณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูป คณะกรรมการปรองดองแห่งชาติ และสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ ต้องโปร่งใส มีระบบถ่วงดุลตรวจสอบได้ ไม่มีข้อยกเว้น ให้อย่างที่เขียนไว้ในร่างแรก เช่น การยกเว้นให้สิทธิพิเศษเหนือองค์กรอื่นๆ ไม่ต้องแจ้งบัญชีทรัพย์สิน ประพฤติมิชอบแล้วถอดถอนไม่ได้ เป็นต้น
ต้องไม่มี ม.182 ใน รธน.ฉบับใหม่
รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า รัฐ-ธรรมนูญใหม่จะต้องไม่เห็นชอบให้มีการใช้อำนาจที่จะนำประเทศไปสู่วิกฤติได้อีกในอนาคต เช่น การให้อำนาจนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 182 ที่สามารถเสนอ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมได้โดยใช้วิธีพิเศษ หรือการเปิดช่องให้กรรมการปรองดองแห่งชาติที่จะตั้งขึ้นสามารถเสนอพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษคนโกง หรือออกกฎหมายล้างผิดคนโกงได้ซึ่งจะเป็นชนวนที่จะนำไปสู่วิกฤติรอบใหม่อีกครั้ง สำหรับการเพิ่ม อำนาจให้ประชาชนต้องเป็นรูปธรรมไม่ใช่แค่ผักชีโรยหน้า ไม่ใช่อ้างประชาชนแล้ว แต่ไปเพิ่มอำนาจให้สารพัดองค์กรเพื่อสืบทอดอำนาจในองค์กรใหม่เหล่านั้น
ค้านสูตร 15 กก.ปรองดองแห่งชาติ
ผู้สื่อข่าวรายงานจากพรรคประชาธิปัตย์ว่า สำหรับคณะทำงานติดตามการยกร่างรัฐธรรมนูญของพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองหัวหน้าพรรค เป็นประธาน ซึ่งได้รับมอบหมายโดยตรงจากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค ให้ทำงานคู่ขนานกับการยกร่างรัฐธรรมนูญของ กมธ. ยกร่างฯ ได้มีการสรุปสาระในประเด็นสำคัญๆของร่างรัฐธรรมนูญว่า ในหมวดเกี่ยวกับการปรองดอง โดยเฉพาะการตั้งคณะกรรมการปรองดองแห่งชาติ 15 คน มีอำนาจหน้าที่โดยสามารถเปิดช่องการอภัยโทษให้ผู้กระทำความผิดโดยไม่กำหนดประเภทของการกระทำผิด ออกเป็นพระราชกฤษฎีกาโดยฝ่ายบริหาร และไม่ต้องผ่านสภาฯถือเป็นการก้าวล่วงอำนาจของกระบวนการยุติธรรมและฝ่ายตุลาการ ที่สำคัญในอดีตที่ผ่านมาถือเป็นพระราชอำนาจและความประสงค์ของพระมหากษัตริย์ ดังนั้นจึงเป็นการก้าวล่วงอำนาจของสถาบันด้วย ที่สุดจะเกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองขึ้นอีก คณะทำงานมีมติไม่เห็นด้วยกับหมวดนี้ทั้งหมด
ระบบเลือกตั้ง ส.ส.-ส.ว.ปัญหาเยอะ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับประเด็นการเลือกตั้ง ส.ว.คณะทำงานฯเห็นว่าไม่ใช่การเลือกตั้งตรงจากประชาชนแต่เป็นการสรรหาให้มีคณะบุคคลมาใช้สิทธิแทนประชาชนเจ้าของอำนาจแทน จึงไม่ถือเป็นประชาธิปไตยจริง ส่วนการเลือกตั้ง ส.ส.ที่แยกเป็น 2 ระบบคือ เขต 250 คน และบัญชีรายชื่อเปิดเผยอีก 200-220 คน รวมเป็นไม่เกิน 470 คน ดังนั้นจึงไม่รู้ว่าจำนวนเต็ม 100% ของ ส.ส.ทั้งสภามีตัวเลขเท่าไหร่กันแน่ระหว่าง 450-470 ที่สำคัญพรรคที่ส่ง ส.ส.ลงเขตมากจะส่งผู้สมัครประเภทดี เด่น ดังไปฝากลงในกลุ่มการเมือง ขณะที่พรรคการเมืองจะเอาคนใกล้ชิด ลูกน้องนักการเมืองมาลง ส.ส.ในนามพรรคแทน ยืนยันว่าพรรคคัดค้านในเรื่องกลุ่มการเมืองลง ส.ส.และระบบโอเพ่นลิสต์ ที่เน้นสร้างความแตกแยกให้พรรคและระบบการเมืองมากกว่า โดยคณะทำงานจะรวบรวมประเด็นเสนอต่อนายอภิสิทธิ์ เพื่อทำความเห็นไปยังคณะกรรมาธิการยกร่างฯต่อไป
ตั้ง “อภิรัชต์” นั่ง ปธ.บอร์ดหวย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันเดียวกัน มีราชกิจจานุเบกษาประกาศคำสั่งหัวหน้า คสช. (เฉพาะ) ที่ 1/2558 เรื่องแต่งตั้งประธานกรรมการในคณะกรรมการ สลากกินแบ่งรัฐบาล ตามที่ได้มีคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 11/2558 เรื่องมาตรการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาล ลงวันที่ 1 พ.ค.2558 กำหนดให้หัวหน้าคณะ คสช.แต่งตั้งบุคคลมาเป็นประธานกรรมการ ในคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลนั้น อาศัยอำนาจตามความในข้อ 3 (1) ของ คำสั่งดังกล่าว หัวหน้า คสช. จึงแต่งตั้ง พล.ต.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ให้เป็นประธานกรรมการในคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล นอกจากนี้ ยังมีคำสั่งหัวหน้า คสช. (เฉพาะ) ที่ 12/2558 เรื่องแต่งตั้งกรรมการในคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลอีก จำนวน 3 คน ดังนี้ 1.พล.ต.ต. สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข 2. พ.ท.หนุน ศันสนาคม 3. ผศ.ธนวรรธน์ พลวิชัย โดย พล.อ.ประยุทธ์ลงนามแต่งตั้งในวันที่ 1 พ.ค. 2558 ทั้งนี้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป สั่ง ณ วันที่ 1 พ.ค. 2558 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.
ใบเหลืองอียูยังไม่กระทบส่งออก
นายนพปฎล คุณวิบูลย์ เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม และหัวหน้าคณะ ผู้แทนไทยประจำสหภาพยุโรป (อียู) กล่าวถึงกรณี ที่อียูประกาศให้ใบเหลืองกับประเทศไทยจากปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายขาดการรายงานและไร้การควบคุม (ไอยูยู) เมื่อวันที่ 21 เม.ย.ที่ผ่านมาว่า เรื่องนี้ยังไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าทางทะเลของไทยไปอียู เพียงแต่เป็นการบอกว่าเราจะต้องทำอะไรให้มากขึ้น โดยปัจจุบันถือว่าไทยมีปัจจัยบวกหลายประการ ทั้งความมุ่งมั่นของรัฐบาลและยังมีอำนาจพิเศษในการสั่งการต่างๆได้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความตื่นตัวและหลังจากนี้เราจะได้รับความช่วยเหลือจากอียูอย่างเป็นทางการ นับจากอียูนำเอาไอยูยูมาใช้ในปี 2555 จนถึงขณะนี้มีประเทศที่โดนอียูให้ใบเหลืองแล้ว 17 ประเทศ และมีประเทศที่โดนใบแดง 3 ประเทศ
ส่ง จนท.เข้ามาประจำไทยเดือนนี้
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยความคืบหน้าการแก้ปัญหาการประมงที่ผิดกฎหมาย IUU ว่าตามที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม ซึ่งได้รับมอบหมายโดยตรงจากนายกรัฐมนตรี ดูแลการแก้ปัญหาครั้งนี้ ได้เชิญทูตสหภาพยุโรปเข้ารับฟังแนวทางและความคืบหน้าการแก้ปัญหาของไทย โดยหลังรับฟังการชี้แจง ทูตสหภาพยุโรปแสดงความชื่นชมประเทศไทยว่าเดินมาถูกทางแล้ว และจะนำข้อมูลการปฏิบัติของไทยสื่อสารไปยังสำนักงานใหญ่อียู และทุกเมืองหลวงของประเทศสมาชิกอียูอย่างเร่งด่วน ขณะเดียวกัน พล.อ.ประวิตร ยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่า ไทยยังมีปัญหาอีกหลายจุดที่ต้องแก้ไข แต่จะไม่แก้ไขแบบลูบหน้า
ปะจมูก โดยเดือน พ.ค.นี้ อียูจะส่งตัวแทนเข้ามาติดตาม สถานการณ์การแก้ไขปัญหา
“เสธ.แดง” ลั่นหวยต้องใบละ 80 บ.
ในช่วงค่ำ พล.ต.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ รองแม่ทัพภาคที่ 1 กล่าวภายหลังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานบอร์ดสลากกินแบ่งรัฐบาลว่า จะชี้แจงรายละเอียดในวันที่ 5 พ.ค.ในการแก้ปัญหาหวยแพง นายกรัฐมนตรีต้องการแก้ไขเร่งด่วนก่อน เพราะต้องการให้สำเร็จในเดือน มิ.ย.ดังนั้น สลากกินแบ่งฯต้องราคา 80 บาท ถ้าวันที่ 16 มิ.ย.ทิศทางในการจำหน่ายสลากกินแบ่งฯ ยังไม่ราคา 80 บาท เป็นไปได้หรือไม่ถ้ายังไม่สำเร็จก็ต้องใช้ยาแรง
“เราจะแบ่งเวลาการทำงานเป็นระยะๆ ด้วยกัน ระยะแรกคือการแก้ปัญหาเผชิญหน้าตั้งแต่เดือน มิ.ย.-ธ.ค.เพราะเป็นห้วงที่โควตาทั้งหมดจะหมดสัญญา จะไม่มีการต่อสัญญาให้ใคร ผมจะเป็นผู้พิจารณา หากรายใดปฏิบัติตามนโยบายของกองสลากฯทำตัวเป็นเด็กดี ไม่เอาเปรียบเราจะต่อสัญญาให้” พล.ต.อภิรัชต์กล่าว
ขอบคุณข้อมูลจาก : www.thairath.co.th
Discussion
Follow breaking news Investment property articles on Facebook, click here.