“กรมสรรพากร” เปิดช่วงโปรโมชั่น “ไม่สอบภาษีย้อนหลัง” เอสเอ็มอี หวังต้อนบริษัทที่เคยเลี่ยงภาษีกว่า 1.5 แสนรายมาเข้าระบบ ขจัดปัญหา “บัญชีผี” หนีภาษี ขณะที่ กสอ.สำรวจความคิดเห็นเอสเอ็มอีล่าสุด บอกอยู่ยาก แข่งขันแรง คนซื้อน้อย แนะรัฐบาลอัดฉีดเงินกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ
นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า ในเดือน พ.ค.นี้ กระทรวงการคลังจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบโครงการก้าวเดินไปด้วยกันระหว่างกรมสรรพากรกับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี ที่มีประมาณ 300,000 ราย จะไม่ถูกตรวจสอบภาษีย้อนหลัง หากการลงบัญชีทางด้านรายรับและรายจ่ายของเอสเอ็มอีมีสมุดบัญชีเพียงเล่มเดียวคือ เล่มที่ยื่นเสียภาษีให้แก่กรมสรรพากร โดยช่วงที่ผ่านมากรมสรรพากรได้หารือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอ การค้าแห่งประเทศไทย และสภาเอสเอ็มอีไทย กรณีภาคเอกชนเรียกร้องการนิรโทษกรรมภาษีให้แก่เอสเอ็มอี แต่กรมไม่เห็นด้วย เพราะถือว่าผู้ประกอบการที่มีความผิดในอดีตมีเจตนาที่จะหลีกเลี่ยงภาษีและถูกจับได้เป็นการกระทำที่ผิดต่อกฎหมายสรรพากรที่ต้องถูกลงโทษ
แต่ในกรณีที่ผู้ประกอบการได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขของกรมสรรพากร กล่าวคือ มีสมุดบัญชีเพียงเล่มเดียว และยังเป็นเล่มที่ยื่นภาษีให้แก่กรมสรรพากรอีกด้วยนั้น กรมสรรพากรจะขอกระทรวงการคลังและ ครม.ไม่ตรวจสอบภาษีย้อนหลังสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเหล่านี้ เพราะถือว่าเป็นการก้าวเดินไปด้วยกัน แต่หากพบว่ามีข้อผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆทางบัญชี เช่น ลงบัญชีรายได้ไม่หมดถ้วนเพราะตกหล่น เป็นต้น กรม สรรพากรจะไม่ถือเป็นสาระสำคัญว่าผู้ประกอบการ เอสเอ็มอีรายนั้นหลีกเลี่ยงภาษี
“ในอดีตที่ผ่านมา กรมสรรพากรเคยมีโครงการลักษณะเช่นนี้มาแล้ว แต่ไม่ได้มีการลงนามเป็นลายลักษณ์อักษร จึงไม่ถือว่ามีผลในทางปฏิบัติ แต่ในครั้งนี้กรมสรรพากรจะเสนอให้กระทรวงการ คลัง และ ครม.รับทราบ โดยคาดว่าภายในเดือน พ.ค.นี้ จะมีการลงนามร่วมกันระหว่างกรมสรรพากรและภาคเอกชน”
นายประสงค์กล่าวต่อว่า ปัจจุบันมีผู้ประกอบการจดทะเบียนบริษัทนิติบุคคลประมาณ 420,000 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีประมาณ 300,000 ราย ซึ่งกรมสรรพากร มั่นใจว่ามีเอสเอ็มอีที่มีสมุดบัญชี 2 เล่ม หรือ 3 เล่มอยู่ประมาณ 50% หรือไม่น้อยกว่า 150,000 ราย ดังนั้น หากสามารถดึงเอสเอ็มอีที่มีการลงบัญชี ไม่ถูกต้องเข้าสู่ระบบได้มากขึ้น โดยไม่มีการตรวจ สอบภาษีย้อนหลังก็จะทำให้เอสเอ็มอีเหล่านี้เดินก้าวไปข้างหน้า และยังมีข้อดีหลายข้อ คือ
  1. เอสเอ็มอีเหล่านี้จะสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น เพราะมีหลักฐานเอกสารทางบัญชีที่ถูกต้อง
  2. เกิดความโปร่งใสและไม่ต้องถูกตรวจสอบย้อนหลัง
  3. ยังเป็นการรองรับเข้าสู่ประชาคมอาเซียน หรือเออีซี
นอกจากนี้ กรมสรรพากรกำลังอยู่ระหว่างการหารือภายในกรมเพื่อเตรียมนำรายชื่อสำนักงานบัญชีที่ดีประกาศลงเว็บไซต์ของกรม หลังจากในช่วงที่ผ่านมาพบผู้ที่กระทำความผิดทางภาษีจำนวนมาก เพราะถูกแนะนำให้ลงบัญชีอย่างผิดๆ เพื่อหลีกเลี่ยงภาษีจากสำนักงานบัญชีที่ไม่ได้มาตรฐาน ดังนั้น หากกรมสรรพากรประกาศรายชื่อ บริษัทบัญชีที่มีคุณภาพก็เท่ากับได้ขึ้นทะเบียนให้แก่สำนักงานบัญชีเหล่านี้ว่าเป็นบริษัทที่ถูกต้อง ทั้งนี้ กรมสรรพากรไม่มีอำนาจสั่งปิดสำนักงานบัญชี แต่ได้มีการแจ้งไปยังกระทรวงพาณิชย์และสมาคมวิชาชีพบัญชีเพื่อลงโทษเท่านั้น
ด้าน นายอาทิตย์ วุฒิคะโร อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เปิดเผยถึงผลการสำรวจความคิดเห็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ว่า กสอ.ได้สำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต่อสภาพเศรษฐกิจในไตรมาส 1 ที่ผ่านมา โดยมีกลุ่มตัวอย่าง 387 ราย โดยในประเด็นคำถามเรื่องการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มองว่าเรื่องความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจเป็นเรื่องที่สำคัญสูงสุด
ขณะที่ผู้ประกอบการมีความเห็นว่าธุรกิจมีสภาพการแข่งขันสูง ทั้งจากปัจจัยในประเทศและต่างประเทศ ทั้งเรื่องค่าแรงต่ำกว่า หรือมีเทคโนโลยีระดับสูง และการแข่งขันกับบริษัทขนาดใหญ่ ทั้งในส่วนของต้นทุนวัตถุดิบ แรงงาน เทคโนโลยี และการขนส่ง รองลงมาเป็นเรื่องของสถานการณ์เศรษฐกิจ ยอดขาย ตลาด และลูกค้า ผู้ตอบแบบ สอบถามส่วนใหญ่มีความเห็นว่า ยอดขายลดลงสภาพเศรษฐกิจโดยรวมชะลอตัว ผู้บริโภคระมัดระวังในการใช้จ่าย โดยเฉพาะสินค้าฟุ่มเฟือย ส่วนในเรื่องของแรงงานผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ มองว่าบริษัทจะมีการลดการจ้างงานลง แต่ขณะเดียวกันก็มีปัญหาขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานฝีมือและแรงงานทักษะ
ส่วนประเด็นที่เอสเอ็มอีต้องการให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือมากที่สุด คือ การพัฒนาสถานประกอบการ โดยต้องการให้รัฐเข้ามาช่วยเหลือพัฒนาเทคโนโลยี การผลิตบรรจุภัณฑ์ องค์ความรู้ เครื่องจักร สนับสนุนงานวิจัยการพัฒนาคุณภาพสินค้า และพัฒนาองค์ความรู้ให้บุคลากร เสริมสร้างทักษะแรงงาน รองลงมาเป็นเรื่องการส่งเสริมการตลาด ส่วนใหญ่ต้องการความช่วยเหลือช่องทางการตลาดในต่างประเทศ จัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ การออกบูธต่างประเทศ ส่วนการช่วยเหลือด้านการเงิน โดยผู้ประกอบการต้องการให้รัฐจัดหาแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ นอกจากนั้น ยังเสนอรัฐบาลส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย รณรงค์ให้คนไทยใช้ของไทย อัดฉีดสภาพคล่องกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชน.

ขอบคุณข้อมูลจาก : ไทยรัฐออนไลน์