วางแผนสร้างอนาคตใหม่ผลิตดาวเทียมมาใช้เอง ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ เห็นชอบให้จัดหาดาวเทียมสำรวจดวงใหม่เพื่อทดแทนดาวเทียมไทยโชต หรือธีออส ที่จะปลดระวางในปี 2561 โดยมีแนวทางที่จะจัดหาดาวเทียมเป็นชุด ซึ่งจะมีทั้งดวงหลัก ดวงสำรองและดวงเล็ก จากเดิมที่ธีออสที่อยู่บนวงโคจรขณะนี้มีเพียงดวงเดียว ขณะเดียวกันดาวเทียมชุดใหม่นี้จะไม่เป็นการซื้อเทคโนโลยีทั้งหมด แต่จะวางเงื่อนไขว่าจะซื้อบางส่วนและร่วมผลิตบางส่วน เช่นในส่วนของดวงหลักจะให้ผู้ชนะประมูลเป็นผู้ผลิต 80% และเป็นการผลิตของคนไทย 20% ส่วนของดวงสำรองและดวงเล็กนั้นอาจจะให้เป็นการผลิตของคนไทย 80% และให้บริษัทที่ชนะการประมูลซึ่งเป็นต่างชาติเป็นส่วนเสริมอีก 20% ซึ่งแนวทางนี้จะทำให้มั่นใจว่าประเทศไทยจะได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากผู้ผลิต และเป็นผู้ผลิตดาวเทียมเองในอนาคตได้
“การที่เราเลือกที่จะทำดาวเทียมเป็นชุดมีดวงหลัก ดวงสำรองและดวงเล็ก เป้าหมายสำคัญคือ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และการถ่ายทอดเทคโนโลยี ถ้าซื้อทั้งหมดและมีดวงเดียวเราก็ผลิตเองไม่ได้ แนวทางนี้จะเป็นยุทธศาสตร์ดาวเทียมของประเทศในระยะยาว ซึ่งจะวางเป็นเงื่อนไขว่าถ้าใครไม่ยอมรับเงื่อนไขนี้ก็ไม่ต้องประมูล ส่วนงบประมาณในการจัดทำครั้งนี้จะต้องใช้เท่าไหร่นั้นยังเปิดเผยไม่ได้ เพราะต้องมีการเจรจากับผู้ประมูลก่อน” ด้านนายพรชัย รุจิประภา รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวว่า ปัจจุบันดาวเทียมของไทยมี 2 ส่วนคือดาวเทียมสื่อสาร ซึ่งกระทรวงไอซีทีเป็นผู้ดูแล และดาวเทียมสำรวจคือดาวเทียมธีออส กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นผู้ดูแล ซึ่งการที่ประเทศไทยมีแนวคิดจะผลิตดาวเทียมเองในอนาคต เชื่อว่านอกจากประเทศไทยจะได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีแล้ว ยังจะสร้างอุตสาหกรรมต่อเนื่องตามมาอีกจำนวนมาก ซึ่งโดยทั่วไปแล้วเฉพาะตัวดาวเทียมการลงทุนอยู่ที่ประมาณดวงละ 2,000-3,000 ล้านบาท แต่เมื่อรวมกับต้นทุนดำเนินการเพื่อยิงขึ้นสู่วงโคจรแล้วจะอยู่ที่ 6,000-7,000 ล้านบาท.

ขอบคุณข้อมูลจาก : ไทยรัฐออนไลน์