'อุ๋ย' มั่นใจเศรษฐกิจไทยเดินหน้าต่อได้ แค่ชะลอตัวไม่ใช่ 'เงินฝืด'
“ปรีดิยาธร” ฟุ้งเศรษฐกิจยังเดินต่อได้ ยันหารือคลัง สศช. และ ธปท.แล้ว เห็นตรงกัน ขณะนี้ไม่ใช่ภาวะเงินฝืด แค่เป็นภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจ ย้อนถามถ้าเป็นภาวะเงินฝืดทำไมเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวเป็นบวก ด้าน กกร.มองต่าง เศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะเปราะบาง แนะรัฐเร่งดูแลราคาข้าว
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ได้หารือกับนายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง, นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมช.คมนาคม และเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ถึงข้อกังวลเรื่องภาวะเงินฝืด ซึ่งเห็นตรงกันว่า ขณะนี้ยังไม่ใช่ภาวะเงินฝืด แต่เป็นภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว เป็นผลจากราคาน้ำมันได้ปรับลดลงมามาก จากช่วงเดือน มิ.ย.ของปีที่ผ่านมา ราคาน้ำมันเฉลี่ยอยู่ที่บาร์เรลละ 100 เหรียญสหรัฐฯ แต่ขณะนี้อยู่ที่บาร์เรลละ 50-60 เหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเมื่อราคาน้ำมันลดลงกว่าครึ่งแบบนี้จะกระทบต่อราคาโลหะทุกชนิดทั่วโลก ประเทศผู้ส่งออกโลหะจะมีเงินซื้อสินค้าน้อยลง ขณะเดียวกัน พืชผลทางการเกษตรหลายชนิด ทั้งยางพารา ข้าวและน้ำตาลราคาลดลง ดังนั้น บริษัทที่ส่งออกสินค้าดังกล่าวจะมีรายได้ลดลง
“พอราคาน้ำมันลงมาขนาดนี้ เศรษฐกิจโลกก็ชะลอตัวลงพอสมควร ซึ่งการชะลอตัวไม่ได้แปลว่าเงินฝืด คงต้องรอให้ลงให้สุดก่อน โดยจะรับผลกระทบไปประมาณ 5-6 เดือน ถึงจะทราบว่าหลังจากนั้นจะเป็นอย่างไรต่อ เดี๋ยวดูอีกสักพัก เรายังเดินต่อได้ ถ้าเป็นภาวะเงินฝืดจริง ทำไมประเทศไทยยังมีการเติบโตทางเศรษฐกิจขยายตัวเป็นบวก โดยไตรมาสแรกปี 2558 นี้ เลขาธิการ สศช.คาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ขยายตัวได้ 3% ซึ่งวันที่ 18 พ.ค.นี้สศช.จะแถลงตัวเลขเศรษฐกิจที่แท้จริง นักท่องเที่ยวก็ยังเข้ามาและใช้เงินเพิ่มขึ้น โดย 3 เดือนแรกปีนี้ใช้เงินมากกว่า 3 เดือนแรกของปีที่ผ่านมา 20% ขณะที่โรงงานก็ยังเปิดใหม่เพิ่มขึ้น ฉะนั้นจึงไม่ใช่ลักษณะเงินฝืด”
ส่วนปัญหาหนี้ครัวเรือน ที่ทางเครดิตบูโรคาดว่าจะพุ่งไปถึง 90% ของจีดีพีนั้น ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวว่า ขณะนี้หนี้ครัวเรือนก็อยู่ที่ 87% ของจีดีพีอยู่แล้ว ซึ่งส่วนตัวไม่กังวลเท่าไหร่ เพราะหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือเอ็นพีแอลยังไม่เพิ่ม โดยการให้สินเชื่อรายย่อยที่คิดดอกเบี้ย 28% ต่อปีเพิ่มขึ้นมาก แต่เอ็นพีแอลไม่เพิ่ม ซึ่งทางธนาคารปล่อยสินเชื่อรายย่อยประมาณ 2 ล้านราย ขณะที่ผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงินหรือนอนแบงก์ปล่อยสินเชื่อจำนวน 8.7 ล้านราย แสดงให้เห็นถึงการขยับจากสินเชื่อนอกระบบเข้ามาอยู่ในระบบซึ่งจะควบคุมได้ง่าย และไม่ได้เป็นสิ่งที่เป็นอันตรายมาก ส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อที่รวมสินเชื่อบ้าน สินเชื่อผ่อนรถยนต์ และสินเชื่อจากบัตรเครดิต
ขณะที่นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้แก่ ส.อ.ท. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ว่า กกร.ได้ประชุมสรุปภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยพบว่า การฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจ ยังอยู่ในภาวะเปราะบาง โดยการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนได้ลดระดับลง แม้ปัจจัยบวกจากการเบิกจ่ายของภาครัฐจะมีความคืบหน้ามากขึ้น ดังนั้น รัฐบาลควรนำมาตรการที่เอกชนเคยเสนอไปดำเนินการให้เป็นรูปธรรมโดยเฉพาะการช่วยธุรกิจเอสเอ็มอี
“ขณะนี้ธนาคารพาณิชย์ก็ยอมรับว่าจะไม่ปล่อยกู้ให้กับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตร เพราะภาคการเกษตรในขณะนี้ ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำมาก โดยเฉพาะราคาข้าว ซึ่งในระยะสั้นนี้รัฐบาลควรอุดหนุนราคา โดยให้ราคาข้าวขยับตัวไปที่ตันละ 9,000 บาท จากปัจจุบัน 6,000 บาท เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อของเกษตรกร”
สำหรับในวันที่ 24 พ.ค.นี้ กกร.ได้เตรียมที่จะจัดเวทีสัมมนาและรับฟังความเห็นร่วมกับคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อที่จะสะท้อนมุมมองของภาคธุรกิจ เพื่อให้ร่างรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้อย่างเป็นธรรม และเสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศไทยในอนาคต.
ขอบคุณข้อมูลจาก : ไทยรัฐออนไลน์
Discussion
Follow breaking news Investment property articles on Facebook, click here.