การบริโภคในประเทศ ยังอาการไม่ดี ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนเม.ย. ลดลงต่ำสุดในรอบ 10 เดือน ประชาชนห่วงค่าครองชีพสูง ซ้ำอยู่ช่วงเปิดเทอม ต้องกู้เงินส่งลูกเรียนอีก ชี้ทางออกเดียวรัฐต้องเร่งรัดเบิกจ่ายงบลงทุน ธปท.ลดดอกเบี้ยนโยบายอีกรอบ เพื่อดึงส่งออก และเศรษฐกิจให้โตได้ตามคาดการณ์ นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน เม.ย. 2558 ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เม.ย. อยู่ที่ระดับ 76.6 ซึ่งปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ในระดับ 77.7 โดยเป็นการปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และยังต่ำสุดในรอบ 10 เดือน นับจากเดือน ก.ค. 2557 สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวมลดลงจากระดับ 67.1 มาอยู่ที่ระดับ 66 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางานลดลงจากระดับ 72 มาอยู่ที่ระดับ 71.2 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตลดลงจากระดับ 94 มาอยู่ที่ระดับ 92.7 ทั้งนี้การที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลงเป็นผลมาจาก การที่ สศค.ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2558 ลง จาก 3.9% มาอยู่ที่ 3.7%, ราคาน้ำมันขายปลีกแก๊สโซฮอล์ออกเทน 91(E10) ปรับเพิ่มขึ้น 0.10 บาทต่อลิตร หรือจาก 27.58 บาทต่อลิตร ในสิ้นเดือน มี.ค. มาอยู่ที่ 27.68 บาทต่อลิตร ในสิ้นเดือนเม.ย., ราคาพืชผลทางการเกษตรที่ทรงตัวในระดับต่ำ โดยเฉพาะข้าว และยางพารา ทำให้รายได้เกษตรกรอยู่ในระดับต่ำ กำลังซื้อในต่างจังหวัดไม่ขยายตัว, ประชาชนกังวลเกี่ยวกับปัญหาค่าครองชีพ และราคาสินค้าที่ยังทรงตัวในระดับสูง แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะติดลบ, ความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่อาจกระทบต่อการส่งออก และเศรษฐกิจไทย รวมถึงการส่งออกในเดือน มี.ค. ที่ติดลบ 4.45% แต่ก็มีปัจจัยบวกมาช่วยพยุงบ้าง ทั้งจากการที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเหลือ 1.50% ต่อปี เพื่อพยุงเศรษฐกิจ และราคาน้ำมันขายปลีกภายในประเทศปรับตัวลดลง “ยอมรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังไม่มีสัญญาณดีขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเดือน พ.ค. ที่เป็นช่วงเปิดเทอมประชาชนจะมีค่าใช้จ่ายเรื่องบุตรหลานมีเพิ่มมากขึ้น จึงทำให้เห็นสัญญาณการกู้เงินนอกระบบมากขึ้น ขณะเดียวกันแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อยังปรับตัวลดลงต่อเนื่อง และเห็นสัญญาณเงินฝืดทางเทคนิคส่งผลให้กำลังซื้อลดลงตามไปด้วย” อย่างไรก็ตาม ทางศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ มองว่าในการเรียกความเชื่อมั่นกลับมา รัฐบาลควรเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณการลงทุนให้เป็นไปตามเป้าหมาย เพื่อกระจายเม็ดเงินลงสู่ระบบมากขึ้น ขณะเดียวกันธนาคารแห่งประเทศไทยควรปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งต่อไปอีกรอบ เพื่อดูแลค่าเงินบาทให้อยู่ในกรอบ 33.50 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ซึ่งจะเอื้อให้การส่งออกและการท่องเที่ยวดีขึ้น แต่ทั้งนี้หากไม่มีการดำเนินการใดๆ ก็มองว่าอาจทำให้การส่งออกติดลบ และทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้เพียง 2.8-2.9% แม้ว่าขณะนี้หอการค้าไทยยังคงเป้าหมายเศรษฐกิจไทยปีนี้ไว้ที่ 3-3.2% และการส่งออกที่ 0.5% ไว้เช่นเดิมก็ตาม
นายธนวรรธน์กล่าวเพิ่มเติมถึงกรณีการแก้ปัญหาสหภาพยุโรป หรือ อียู ประกาศให้ใบเหลืองประมงไทย อันเนื่องมาจากปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมายขาดการรายงานและไร้การควบคุม หรือ IUU Fishing ว่า เชื่อว่ารัฐบาลไทยจะมีมาตรการในการแก้ปัญหาที่อียูให้ใบเหลือง และปลดล็อกได้ทันตามกำหนด 6 เดือน ตามที่อียูกำหนด ประกอบกับความตั้งใจในการแก้ไขปัญหาของไทย น่าจะช่วยให้อียูผ่อนปรน และลดระดับจากใบเหลือง เป็นใบเหลืองอ่อน เพื่อให้ไทยได้เดินหน้าแก้ปัญหาต่อไป ซึ่งมองว่าการให้ใบเหลืองของอียู เป็นการเตือนให้ไทยเดินหน้าแก้ปัญหาแรงงานประมงผิดกฎหมายอย่างจริงจัง เพราะหากอียูต้องการตัดสิทธิการนำเข้าสินค้าไทยจริงๆอาจจะประกาศให้ใบแดงประเทศไทยไปแล้ว “หากไทยไม่สามารถแก้ปัญหา IUU ได้ภายใน 6 เดือน อียู อาจจะลงโทษไทย โดยการห้ามนำเข้าสินค้าไทย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยที่มีมูลค่าหลายร้อยล้านเหรียญสหรัฐ และจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจประมงโดยตรง และหากว่าอียูลงโทษไทย โดยการเก็บภาษีจากไทยแพงขึ้น ก็อาจจะทำให้ผู้ส่งออกของไทยเดือดร้อน แต่ไม่มาก แต่ก็จะทำให้ยอดส่งออกไทยจะลดน้อยลง รวมไปถึงอาจเกิดการคว่ำบาตรสินค้าไทยเกิดขึ้นได้”

หมายเหตุ : ภาพประกอบบทความ บางภาพไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเนื้อหาแต่อย่างใด Photo credit by : englishnews.thaipbs.or.th

ขอบคุณข้อมูลจาก : แนวหน้า