"กรุงไทย"ปรับเป้าลดปล่อยสินเชื่อบ้าน หวั่นซ้ำรอยวิกฤตต้มยำกุ้ง
ธนาคารกรุงไทยห่วงภาคอสังหาฯ เกิดปัญหาโอเวอร์ซัพพลาย เหตุความต้องการซื้อน้อยกว่าที่ขึ้นโครงการ ปรับลดเป้าสินเชื่อที่อยู่อาศัยลงครึ่งหนึ่ง จาก 20% เหลือ 8-10% พร้อมเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น หันขายผลิตภัณฑ์อื่น ทั้งประกันชีวิต ประกันคุ้มครองสินเชื่อบ้าน บัตรเครดิต บัตรเดบิต ชดเชยมาร์จิ้นที่หายไป
นายธวัช อยู่ยอด รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน สายงานเครือข่ายธุรกิจขนาดเล็กและรายย่อย ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ธนาคารอยู่ระหว่างการปรับพอร์ตสินเชื่อธุรกิจขนาดเล็กและรายย่อยใหม่ โดยธนาคารจะปรับเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยลง จากภาพรวมของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในระยะ 3-6 เดือน ที่ผ่านมายังไม่สามารถฟื้นตัวได้จากปัญหาด้านเศรษฐกิจ และประชากรไทยจำนวนมากยังคงพึ่งพิงรายได้จากการเกษตรที่ยังคงมีปัญหาราคาตกต่ำ ทำให้มีผลต่อการใช้จ่าย ส่วนกลุ่มที่มีรายได้ประจำแม้จะไม่ได้รับผลกระทบ แต่มีความระมัดระวังการจับจ่ายมากขึ้น ประกอบกับในช่วง 4-5 ปี มีอสังหาริมทรัพย์เกิดขึ้นมากกระจายเกือบทุกแห่งในเมืองใหญ่และกลาง ทำให้เกิดปัญหาโอเวอร์ซัพพลาย ความต้องการซื้อไม่ทันกับจำนวนคอนโดที่มากขึ้น ส่งผลให้ธนาคารเพิ่มความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ
นายธวัชกล่าวว่า ผลตอบแทน (มาร์จิ้น) จากการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่อยู่ในระดับค่อนข้างต่ำมาก โดยอยู่ในระดับไม่ถึง 1% ดังนั้นธนาคารจึงต้องพยายามขายผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น ประกันชีวิต ประกันคุ้มครองสินเชื่อบ้าน บัตรเครดิต บัตรเดบิต เป็นต้น เพื่อให้สามารถเพิ่มมาร์จิ้นให้อยู่ในระดับ 2-3% ได้ "ในปีนี้ธนาคารตั้งเป้าอัตราการเติบโตด้านสินเชื่อที่อยู่อาศัยอยู่ที่ 8-10% จากสิ้นปีก่อนที่เติบโตได้สูงถึง 20% ทั้งนี้ ในช่วงไตรมาส 1/2558 สินเชื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารเติบโต 5% จากปกติเติบโต 15-20% โดยสิ้นปี 2557 พอร์ตสินเชื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารอยู่ที่ 57,349 ล้านบาท" นายธวัชกล่าว
นายธวัชกล่าวว่า ขณะที่สิ้นเดือนเมษายน 2558 พอร์ตสินเชื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารอยู่ที่ 58,367 ล้านบาท แบ่งเป็นกลุ่มลูกค้ารายได้น้อย (ซื้อบ้านไม่เกิน 2 ล้านบาท) 15% กลุ่มรายได้ปานกลางประมาณ 60% และรายได้สูง 25% ด้านการแข่งขันในตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยในกลุ่มธนาคารเชื่อว่าไม่น่าจะรุนแรงมากนัก แต่อาจเห็นการแข่งขันในกลุ่มที่ซื้อที่อยู่อาศัยของโครงการจากผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (ดีเวลลอปเปอร์) ที่ต้องการเร่งระบายสินค้ามากกว่า ทั้งนี้กลุ่มที่ยังมองว่าเติบโตได้จะเป็นดีเวลลอปเปอร์ชั้นนำ ขณะที่ธนาคารค่อนข้างระมัดระวังโดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่ทำงานไม่ถึง 5 ปี
ผู้สื่อข่าวรายงาน เมื่อปี 2540 ไทยเกิดปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ หรือวิกฤตต้มยำกุ้ง ปัญหาหลักหนึ่งเกิดจากฟองสบู่ภาคอสังหาริมทรัพย์แตก และสถาบันการเงินหลายแห่งโดนผลกระทบเต็มๆ ถูกทางการสั่งปิดกิจการเพราะประสบปัญหาขาดทุนอย่างหนัก
ขอขอบคุณข้อมูลจาก: มติชน
Discussion
Follow breaking news Investment property articles on Facebook, click here.