อุ๋ยสั่งไอแบงก์แยกหนี้ดี-หนี้เสียเร่งปล่อยกู้มุสลิม
นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.คลัง เปิดเผยว่า ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ ได้สั่งการให้ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย(ไอแบงก์) เร่งศึกษาแนวทางในการดำเนินการแยกสินทรัพย์ดีและหนี้เสีย(Good Bank - Bad Bank) ออกจากกัน เพื่อแยกบันทึกรายการบัญชีหนี้ให้ชัดเจน ก่อนนำไปบริหารจัดการ หลังแนวทางดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแล รัฐวิสาหกิจ(คนร.) หรือซูเปอร์บอร์ด เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคมที่ผ่านมา
นายมนต์ชัย รัตนเสถียร กรรมการและรักษาการกรรมการผู้จัดการไอแบงก์ กล่าวว่า ธนาคารได้เสนอ 3 แนวทางให้ซูเปอร์บอร์ดพิจารณา คือ 1.เอสโครว์ แอคเคาท์ ซึ่งเป็นแนวทางที่ต้องใช้บริษัทตัวกลางในการบริหารจัดการหนี้เสีย 2.ตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์(เอเอ็มซี)เพื่อมาบริหารหนี้ และ 3.แยกหนี้ดีหนี้เสีย(Good Bank-Bad Bank ) ซึ่งเป็นแนวทางในการบริหารหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล) โดยให้แยกรายการบันทึกบัญชีหนี้ดีและหนี้เสีย ก่อนนำในส่วนของ Bad Bank ไปบริหารโดยการปรับโครงสร้างหนี้ หรือยออกไปให้กับบริษัทบริหารสินทรัพย์ต่างๆ
หลังจากนี้จะหารือกับซู เปอร์บอร์ด ชุดคณะอนุกรรมการพิจารณาและกลั่นกรองแผนงานการแก้ไขปัญหาของรัฐวิสาหกิจ ที่มีพล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ เป็นประธาน ถึงรายละเอียดการแยกบัญชีทรัพย์หนี้ดีและหนี้เสีย จากนั้นจะรายงานความคืบหน้าให้ซูเปอร์บอร์ดรับทราบเป็นระยะๆ
“นาย ชัยวัฒน์ อุทัยวรรณ์ ประธานคณะกรรมการไอแบงก์ ได้เข้าร่วมในที่ประชุมซูเปอร์บอร์ดที่ผ่านมา และได้มีการรายงานให้ฝ่ายบริหารรับทราบถึงข้อกำหนดการแยกทรัพย์สินหนี้ดีและ หนี้เสียออกจากกัน ซึ่งเป็นแนวทางของคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.)ตั้งแต่แรก โดยหลังจากนี้จะขอคุยกับชุดคณะอนุกรรมการกลั่นกรองที่มีพล.อ.อนันตพร เป็นประธานก่อนถึงรายละเอียด” นายมนต์ชัย กล่าว
แหล่งข่าวจากไอแบงก์ กล่าวว่า การที่ซูเปอร์บอร์ดเลือกแนวทางที่ 3 เนื่องจากไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ไม่ต้องมีต้นทุนมาก เพราะธนาคารเป็นผู้บริหารจัดการด้วยตนเอง ต่างจาก 2 แนวทางแรก ที่มีค่าใช้จ่ายในการจ้างเข้ามาบริหารจัดการหนี้ เช่น แนวทางแรก ก็ต้องจ้างบริษัทมาเป็นตัวกลางในการไกล่เกลี่ยหนี้ระหว่างธนาคารกับลูกหนี้ ส่วนแนวทางที่ 2 หากตั้งเอเอ็มซีขึ้นเอง รัฐบาลก็ต้องให้เงินธนาคารในการจัดการ ซึ่งมีมูลค่าสูงพอควร
อย่างไร ก็ตาม การแยกสินทรัพย์ออกมาเป็น 2 ก้อน จะทำให้ Good Bank หรือสินเชื่อที่ดี สามารถดำเนินธุรกิจปล่อยสินเชื่อต่อได้และเรียกความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน ได้ในระดับหนึ่ง แต่ธนาคารจะต้องยอมรับความสูญเสียในส่วนของ Bad Bank ที่จะต้องบริหารจัดการขายออกแบบขาดทุน ปัจจุบันหนี้เอ็นพีแอลอยู่ที่ 5.5 หมื่นล้านบาท หรือกว่า 50% ของสินเชื่อคงค้างประมาณ 1 แสนล้านบาท ขณะที่ธนาคารต้องเร่งปล่อยสินเชื่อมุสลิมซึ่งเป็นไปตามพันธกิจหลักให้ได้มาก ที่สุด เพื่อให้ได้สินเชื่อในส่วนที่ดีเข้ามาในระบบบัญชี
"ปริมาณ Bad Bank มีมากจากหนี้เสียตอนนี้อยู่ที่ 5.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งมีทั้งหนี้ที่มีหลักประกัน และไม่มีหลักประกัน ซึ่งแน่นอนเมื่อแยกและขายออกจะต้องเกิดการขาดทุน เพราะไม่คุ้มกับหลักประกัน แต่หากจะปรับโครงสร้างหนี้ในส่วนนี้ ก็ต้องใช้เวลานานพอสมควร" แหล่งข่าว กล่าว
หมายเหตุ : ภาพประกอบบทความ บางภาพไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเนื้อหาแต่อย่างใด Photo credit by : www.siamintelligence.com
ขอบคุณข้อมูลจาก : www.ryt9.com
Discussion
Follow breaking news Investment property articles on Facebook, click here.