ธปท.ย้ำ “อาเซียน” ยังไม่เกิด “สงครามค่าเงิน”

ธปท.ประเมิน เศรษฐกิจจีนชะลอตัว กระทบส่งออกไทยระยะยาว ชี้ 3 เดือนแรกส่งออกไทยไปจีนติดลบ 14.4% ส่งผลให้ส่งออกไปอาเซียนชะลอตัวตามกระทบเบิ้ลเป็น 2 เด้ง ขณะที่ท่องเที่ยวจีนมาไทย ยังสดใส แต่ไทยต้องเร่งปรับตัวรับมือ เพราะเศรษฐกิจโลกมีแววชะลอตัวต่อเนื่อง ขณะที่การลดดอกเบี้ยของธนาคารกลาง ในอาเซียน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการส่งออกเป็นหลัก ธปท.มองยังไม่ใช่ "สงครามค่าเงิน" ครั้งใหม่

นางอลิศรา มหาสันทนะ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า จากการประเมินการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนในขณะนี้ ซึ่งอัตราการชะลอตัวของจีนในไตรมาสแรกของปีนี้ชะลอตัวลงมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ และมีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจีนอาจชะลอตัวลงอีกได้ในไตรมาสต่อๆไป เพราะแนวทางการปฏิรูปโครงสร้างใหม่ ของเศรษฐกิจจีนยังต้องใช้เวลาในการดำเนินการอีกหลายปี พบว่า จะส่งผลกระทบต่อความสามารถ ในการขยายตัวของการส่งออกของไทยไปอีกระยะหนึ่ง จนกว่าเศรษฐกิจจีนจะผ่านการยกระดับปฏิรูปโครงสร้างเสร็จ และกลับมาโตได้อย่างยั่งยืน ซึ่งคาดว่าอาจต้องใช้เวลาจนถึงปี 2570

นอกจากนั้น ในการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจของจีน ยังมีแนวทางที่จีนจะผลิตสินค้าเองเพื่อตอบสนองความต้องการในประเทศเพิ่มขึ้น ทำให้ส่งผลต่อจำนวนการนำเข้าสินค้าส่งออกของไทยในอนาคต ผู้ผลิตและส่งออกไทยต้องปรับตัวเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงในส่วนนี้ โดย 3 เดือนแรกของปีนี้ ส่งออกของไทยไปจีนติดลบ 14.4% เป็นการติดลบต่อเนื่อง โดยเดือน ม.ค.ติดลบ 19.7% เดือน ก.พ.ติดลบ 15.1% เดือน มี.ค.ติดลบ 8.3% และมีโอกาสติดลบต่อเนื่องไปยังเดือน เม.ย. สินค้าส่งออกที่ลดลง ได้แก่ สินค้าโภคภัณฑ์ เช่น ยางพารา ส่วนหนึ่งเป็นผลจากราคายางที่ลดลงด้วย และสินค้าอีกประเภทที่ลดลงคือ สินค้าอุปโภคบริโภค เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ แต่ในส่วนของสินค้าห่วงโซ่การผลิต ซึ่งจีนนำเข้าสินค้าไทย ไปผลิตเพื่อส่งออกต่อ ยังคงขยายตัวได้ดีอยู่

สำหรับด้านการท่องเที่ยว ของนักท่องเที่ยวจีนที่มาเที่ยวเมืองไทย ในช่วงที่เศรษฐกิจจีนชะลอตัวลง ธปท.ประเมินว่าได้รับผลกระทบไม่มาก ซึ่งจำนวนนักท่องเที่ยวจากจีนมาไทยยังเพิ่มขึ้น ขณะนี้นักท่องเที่ยวจีนเป็นนักท่องเที่ยวอันดับหนึ่งของไทย ที่ไทยต้องรักษาส่วนนี้ไว้ให้ดีเพื่อทดแทนการส่งออก ที่ชะลอตัวยาวไปอีกระยะหนึ่ง

“การลงทุนจากจีนมาไทย ในปีที่ผ่านมาก็ยังเพิ่มขึ้น มีเงินลงทุนจากจีน 1,124 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า เพราะจีนมีมาตรการส่งเสริมการลงทุนในไทยและภูมิภาคนี้ ตามนโยบายเส้นทางสายไหมใหม่ ที่ต้องเชื่อมโยงเศรษฐกิจและการค้าของภูมิภาคนี้ ดังนั้น ระยะยาว เศรษฐกิจไทยและจีนจะผูกพันกันมากขึ้น ไทยต้องพยายามยึดห่วงโซ่การผลิต การส่งออกของจีนไว้ เพราะจีนอาจกลับมาขยายตัวได้ดีในอนาคต”

นางอลิศรากล่าวว่า ขณะนี้สัดส่วนสินค้า ของไทยที่ส่งออกไปจีนอยู่ที่ 11% ของการส่งออกรวม ถือเป็นอันดับต้นๆ แต่เมื่อการส่งออกไปจีนติดลบ ได้ส่งผลกระทบต่อการส่งออกรวมมากพอสมควร แต่สถานการณ์เช่นนี้ไม่ได้เกิดกับไทยประเทศเดียว ประเทศในอาเซียนก็เจอสถานการณ์นี้เช่นกัน ทำให้เศรษฐกิจอาเซียนมีปัญหา ส่งผลต่อการส่งออกของไทยในอาเซียน ซึ่งผลจากจีนเท่ากับกระทบส่งออกของไทยถึง 2 เด้ง

“ธปท.มองว่า ภาคเอกชนไทยเริ่มปรับตัวกับเรื่องนี้บ้างแล้ว ประเด็นที่ ธปท.กำลังติดตาม คือ การมองภาพไปในอนาคตว่า เมื่อจีนปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเสร็จแล้ว ความต้องการสินค้าและบริการของไทยจะเพิ่มขึ้นหรือลดลง เพราะ จีนก็พยายามผลิตสินค้าเพื่อรองรับความต้องการในประเทศมากขึ้น แต่ขณะนี้สินค้าไทยยังเป็นสินค้าที่มีคุณภาพในสายตาผู้บริโภคชาวจีน

ต่อข้อถามที่ว่า การชะลอตัวของเศรษฐกิจและการส่งออกในอาเซียน ส่งผลให้หลายประเทศ รวมทั้งไทยปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง ทำให้ค่าเงินบาท ค่าเงินสกุลอาเซียนอ่อนค่าลง เป็นสัญญาณของสงครามค่าเงินในภูมิภาคนี้หรือไม่ เรื่องนี้ ธปท. มองว่า การปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย ของธนาคารกลางประเทศในภูมิภาค ตอบสนองต่อภาพรวมของเศรษฐกิจที่ชะลอตัวมากกว่า และการอ่อนค่าของสกุลเงิน นอกเหนือจากผลของนโยบายการเงิน ยังมาจากความเห็นของนักลงทุน ที่ตอบสนองต่อเศรษฐกิจ ที่ชะลอตัวลงของประเทศต่างๆ รวมทั้งไทยด้วย ซึ่งขณะนี้ยังไม่มองไปถึงสงครามค่าเงิน ที่ทุกประเทศแข่งกัน ทำให้เงินอ่อนค่า

“เศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัว และส่งผลให้อาเซียนชะลอตัวตามไปด้วย จะเป็นตัวฉุดไม่ให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวได้รวดเร็วมากนัก แม้เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะดีขึ้น เศรษฐกิจสหภาพยุโรปมีแนวโน้มสดใส เศรษฐกิจญี่ปุ่นที่พอไปได้ แต่เมื่อรวมฝั่งเอเชีย ความเสี่ยงยังคงเพิ่มขึ้น และมีแนวโน้มที่เศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวลงกว่านี้ ประเทศไทยก็ต้องเร่งปรับตัวภายในประเทศทั้งการใช้จ่าย โดยเฉพาะการลงทุนที่ยังน้อยมากให้เร็วขึ้น เพื่อทดแทนภาคส่งออก”

ขอบคุณข้อมูล จาก : ไทยรัฐออนไลน์