ภาพรวมเศรษฐกิจปี 2015
อีไอซีประเมินเศรษฐกิจไทยในปี 2015 เติบโต 3.0% เศรษฐกิจไทยในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2015 อยู่ในภาวะชะลอตัว แม้ว่าจะมีภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งเป็นปัจจัยหนุน โดยราคาน้ำมันที่ลดลงไม่ได้ช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายภาคครัวเรือนมากนัก อีกทั้งครัวเรือนในภาคเกษตรจำนวนมากยังได้รับผลกระทบจากราคาผลผลิตที่ตกต่ำอย่างต่อเนื่อง รวมถึงยังมีปัจจัยที่กระทบต่อความเชื่อมั่นของภาคเอกชน ได้แก่ ความไม่แน่นอนของนโยบายรัฐเกี่ยวกับการปฏิรูปด้านภาษี ความล่าช้าในการเบิกจ่ายงบประมาณการลงทุนของรัฐที่ทำได้เพียง 27.8% ในครึ่งปีแรกของปีงบประมาณด้วยปัจจัยดังกล่าว อีไอซีจึงได้ปรับลดประมาณการการขยายตัวของการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนในปีนี้ลงเหลือ 1.4% และ 2.5% ตามลำดับ
นอกจากนี้ การลดลงของมูลค่าสินค้าส่งออกสำหรับสินค้าที่เชื่อมโยงกับน้ำมันดิบอย่างน้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ และพลาสติก ในช่วงที่ผ่านมาทำให้อีไอซีได้ปรับลดประมาณการมูลค่าการส่งออกสินค้าไทยว่าจะหดตัว 1.3% สำหรับในระยะต่อไปปัจจัยภายนอกที่น่าจับตามองคือการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่คาดว่าน่าจะเกิดขึ้นราวไตรมาส 3 ของปีนี้ ซึ่งจะเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 8 ปี อีไอซีประเมินว่าจะส่งผลให้เงินดอลล่าร์สหรัฐฯมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับทุกสกุลเงินทั่วโลก และประเมินว่าเงินบาทจะอ่อนค่าไปอยู่ที่ระดับ 33.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในปลายปีนี้ ด้านนโยบายการเงินของไทย อีไอซีคาดว่ามีโอกาสสูงที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงไปอยู่ที่ 1.25% เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและไม่ให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นอีกโดยเฉพาะเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นในภูมิภาคเนื่องจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่จะสูงมากในปีนี้
Bull - Bear: ราคาน้ำมันตั้งแต่ปี 2008 เป็นต้นมา ธนาคารกลางในหลายประเทศได้เริ่มใช้มาตรการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจอันต่อเนื่องมาจากวิกฤติทางการเงิน และภาวะเงินฝืดที่ดำเนินมาอย่างยาวนาน มาตรการดังกล่าวส่งผลกระทบเป็นอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจโลกทั้งในภาคการเงินและภาคเศรษฐกิจ ดังเช่น มาตรการ QE ของธนาคารกลางสหรัฐฯ(Fed) ที่ส่งผลให้เงินไหลเข้าสู่ตลาดหุ้นในหลายภูมิภาคและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวสูงขึ้น มาตรการ QQE ของธนาคารกลางญี่ปุ่น (ฺBOJ) ที่ส่งผลให้เงินเยนอ่อนค่าที่สุดในรอบแปดปี และล่าสุดมาตรการ QE ของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ซึ่งเริ่มต้นในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของบางประเทศติดลบอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยจะได้รับอานิสงส์จากมาตรการอัดฉีดสภาพคล่องของ BOJ และ ECB ที่ยังคงดำเนินต่อไป โดยจะเป็นปัจจัยบวกต่อตลาดการเงินและต้นทุนการกู้ยืมเงินของไทยในระยะสั้น สำหรับการส่งออกของไทยจะได้รับผลกระทบในวงจำกัดจากการอ่อนค่าของเยนและยูโร และจะได้รับประโยชน์จากกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากเศรษฐกิจญี่ปุ่นและยุโรปสามารถฟื้นตัวได้ในระยะยาว
ดาวน์โหลดเอกสารภาษาไทยเพื่ออ่านต่อฉบับเต็ม หมายเหตุ : ภาพประกอบบทความ บางภาพไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเนื้อหาแต่อย่างใด Photo credit by : www.thenews.com.pkขอบคุณข้อมูลจาก : www.scbeic.com