“เอสเอ็มอี” เดี้ยงแบงก์ไม่ปล่อยกู้
ธปท.มึนสั่งเร่งสินเชื่อ-ปรับหนี้ต่อลมหายใจ
“แบงก์ชาติ” ถก “แบงก์พาณิชย์” ลดดอกเบี้ยช่วยส่งผ่านนโยบายการเงิน ขณะที่ออกหนังสือเวียนสั่งให้ปล่อยสินเชื่อ–ปรับโครงสร้างหนี้ให้เอสเอ็มอีมากขึ้น หวั่นเอสเอ็มอีอยู่ไม่รอด ด้านแบงก์รับไม่ปล่อยกู้เอสเอ็มอีมาเป็นปีแล้ว ตั้งแต่ช่วงการเมืองแรง ส่วนดอกเบี้ยนั้น ขอลดเป็นรายๆ ไม่ลดเงินกู้ในภาพรวม
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวภายหลังจากการหารือร่วมกับสมาคมธนาคารไทยว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยประเด็นหลักเป็นมุมมองภาวะเศรษฐกิจทั้งในส่วนของ ธปท.และคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) โดยได้ พูดคุยถึงการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินนโยบายการเงิน หลังจากที่ กนง.ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาแล้ว 2 ครั้ง นอกจากนั้น ยังขอให้ธนาคารพาณิชย์ช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่มีสายป่านสั้นด้วย
“เหตุผลหนึ่งที่เรามาคุยกับธนาคารพาณิชย์ เพื่ออธิบายว่า การส่งผ่านนโยบายการเงินจะเกิดประสิทธิภาพและครบวงจรไปสู่ประชาชนและภาคธุรกิจในวงกว้างได้ต้องอาศัยความร่วมมือของธนาคารพาณิชย์ แต่จากการพูดคุยกันเข้าใจว่าการลดดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์เป็นเหตุผลในเชิงธุรกิจ ซึ่งธนาคารพาณิชย์พยายามชี้แจงว่า แม้ไม่ได้ประกาศลดดอกเบี้ยเงินกู้อย่างเป็นทางการ แต่มีการปรับลดดอกเบี้ยกู้หรือดูแลลูกค้าเป็นรายบุคคลให้อยู่แล้ว”
ผู้ว่าการ ธปท.ยังได้กล่าวถึงสถานการณ์ค่าเงินบาทว่าปรับตัวดีขึ้น โดยการอ่อนค่าส่วนหนึ่งช่วยสนับสนุนภาคส่งออก แต่ก็ต้องเข้าใจว่าภาคส่ง ออกจะล้อไปกับกำลังซื้อ ในยามนี้กำลังซื้อถดถอย โดยเฉพาะเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญอย่างจีนที่ชะลอตัว ซึ่งปัญหานี้เกิดขึ้นทั่วโลกทำให้หลายประเทศหันมาแข่งขันด้านอื่น เช่น แข่งด้านราคาที่มีผลต่ออัตราแลก เปลี่ยน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ธปท.พยายามดูแลให้ค่าเงินไม่ผันผวนจนเป็นอุปสรรคต่อการค้าขาย
ด้านนายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ธปท.ต้องการให้ธนาคารสมาชิกของสมาคมธนาคารไทยเข้าไปช่วยเหลือลูกค้าเอสเอ็มอีเพื่อให้เข้าบริการถึงแหล่งเงินทุนที่เหมาะสม พร้อมทั้งดูแลสภาพคล่องของเอสเอ็มอี เพื่อให้ดำเนินธุรกิจต่อไปได้อย่างมั่นคงในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว ซึ่งธนาคารพาณิชย์พร้อมดำเนินการ
“อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าตั้งแต่ช่วงไตรมาส 4 ของปี 2556 ที่เกิดวิกฤติทางการเมือง ต่อเนื่องจน ถึงปี 2557 ตลอดปี ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งได้ระมัด ระวังการปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี จนประสบปัญหาในเรื่องของการเข้าถึงแหล่งของเงินทุน แต่ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ได้เริ่มปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเพิ่มขึ้น และเป็นการ ปล่อยเงินกู้เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียน ทำให้สินเชื่อเอสเอ็มอีไตรมาสแรกเติบโตขึ้น 4.5% และเป็นสินเชื่อที่ปล่อยใหม่ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าปกติด้วย”
ทั้งนี้ ปัญหาส่วนหนึ่งคือ ผู้ประกอบการเอส เอ็มอียังคงต้องการสินเชื่อในวงเงินที่สูงขึ้น ซึ่งส่วนนี้ เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการ ธนาคารพาณิชย์ได้นัดกระทรวงการคลังหารือการเพิ่มวงเงินค้ำประกันสินเชื่อ เอสเอ็มอีของบรรษัทค้ำประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เพื่อให้ค้ำประกันสินเชื่อเอสเอ็มอี ที่ธนาคารปล่อยกู้เพิ่มขึ้น จากปัจจุบัน 18% ของวงเงินกู้เพิ่มเป็น 30% ขณะที่ภาคเกษตรที่กำลังได้รับผลกระทบหนักขอเพิ่มวงเงินค้ำประกันเป็น 50% เพราะวงเงินสินเชื่อที่ บสย.ค้ำ ธนาคารไม่ต้องสำรองหนี้เสีย ตามเกณฑ์ ธปท.ทำให้ลดภาระเรื่องของเงินกองทุน
วันเดียวกัน ธปท.ได้ออกหนังสือเวียนขอให้ปล่อยสินเชื่อและปรับโครงสร้างหนี้ให้เอสเอ็มอีเพิ่มขึ้น โดยนายสมบูรณ์ จิตเป็นธม ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 18 พ.ค.ที่ผ่านมา ธปท. ได้ออกหนังสือเวียนถึงสถาบันการเงินและบริษัทที่ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตที่มิใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) ขอความร่วมมือในการดูแลให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนเป็นพิเศษแก่ลูกหนี้ผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอีใน 4 กลุ่ม ประกอบด้วย 1. กลุ่มที่ได้ รับผลกระทบจากสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัว 2. กลุ่มผู้ประกอบการใหม่ 3. กลุ่มเอสเอ็มอีที่ยังมีศักยภาพ และ 4.กลุ่มเอสเอ็มอีที่จะขยายธุรกิจไปยังกลุ่มประเทศในอาเซียนและตลาดต่างประเทศอื่น ตามความจำเป็นและเหมาะสม
โดยมีวัตถุประสงค์ให้เอสเอ็มอีเหล่านี้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด อาจส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบธุรกิจเอสเอ็มอีได้ เช่น พิจารณาผ่อนปรนเงื่อนไขการชำระหนี้ ลดอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อ และปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เป็นต้น รวมทั้ง สามารถพิจารณาปรับลดอัตราการผ่อนชำระหนี้บัตรเครดิตขั้นต่ำสำหรับลูกหนี้ผู้ประกอบธุรกิจเอสเอ็มอีที่ใช้บัตรเครดิตเพื่อวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจ โดยให้สามารถผ่อนชำระต่ำกว่า 10% ของยอดคงค้างได้ โดยให้ผ่อนผันได้ตั้งแต่ขณะนี้จนถึงวันที่ 30 มิ.ย.2559.
ขอบคุณข้อมูลจาก : ไทยรัฐออนไลน์
Discussion
Follow breaking news Investment property articles on Facebook, click here.