'วรภัค' เคลียร์ปมหนี้เอ็นพีแอลแบงก์บวมฉึ่ง ไม่เคยปล่อยกู้นักการเมือง
“วรภัค ธันยาวงษ์” เคลียร์ปัญหาคาใจ หนี้เอ็นพีแอลแบงก์กรุงไทย 4 เดือน แรก เพิ่มขึ้น 1.4 หมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่มาจากสินเชื่อบ้านกลุ่มระดับกลาง–ล่าง เมื่อเจอพิษเศรษฐกิจ หมดกำลังผ่อนค่างวด ยันไม่เคยปล่อยสินเชื่อให้นักการเมือง ส่วนที่สินเชื่อที่ปล่อยใหม่ช่วง 2 ปี ไม่เป็นหนี้เอ็นพีแอล พร้อมเดินหน้าอีก 3 ปี ดันแบงก์กรุงไทยขึ้นเบอร์ 1 กำไร 6 หมื่นล้านบาท
นายวรภัค ธันยาวงษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอล ของธนาคารในช่วง 4 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.-เม.ย.58) ปรับตัวเพิ่มขึ้น 14,000 ล้านบาท ทำให้ยอดเอ็นพีแอลรวมของธนาคารอยู่ที่ประมาณ 70,000 ล้านบาท จากยอดสินเชื่อรวม 1.9 ล้านล้านบาท สำหรับเอ็นพีแอลใหม่ที่เพิ่มขึ้นในช่วง 4 เดือนแรก แบ่งเป็นเอ็นพีแอลที่มาจากสินเชื่อรายย่อย 11,000 ล้านบาท และกว่า 80% เป็นเอ็นพีแอลของสินเชื่อที่อยู่อาศัย ขณะที่เอ็นพีแอลอีก 3,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่มาจากสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดกลางและย่อม หรือเอสเอ็มอี
ทั้งนี้ เอ็นพีแอลรายย่อย และเอ็นพีแอลสินเชื่อบ้านที่เพิ่มขึ้น ธนาคารทุกแห่งประสบปัญหาเช่นเดียวกัน เนื่องจากในช่วง 4 ปีก่อนหน้านี้ ยอดปล่อยสินเชื่อบ้านของแต่ละธนาคารเติบโตมากกว่า 100% ทำให้มีพอร์ตสินเชื่อขนาดใหญ่ ซึ่งเมื่อเศรษฐกิจประสบปัญหาชะลอตัว โดยปี 2557 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจขยายตัวเพียง 0.6% ส่งผลกระทบต่อความสามารถชำระหนี้ของสินเชื่อรายย่อย
ขณะเดียวกัน เอ็นพีแอลรายย่อยในส่วนของธนาคารกรุงไทยที่มากกว่าธนาคารพาณิชย์อื่นๆ เกิดจากการบริหารความเสี่ยง ตะแกรงพิจารณาสินเชื่อไม่เข้มเหมือนกับธนาคารพาณิชย์แห่งอื่นๆ ทำให้ลูกค้าสินเชื่อบ้านที่ถูกปฏิเสธจากธนาคารพาณิชย์อื่นๆ ได้รับอนุมัติสินเชื่อจากธนาคาร นอกจากนี้ กลุ่มลูกค้าสินเชื่อบ้านของธนาคารจะเป็นระดับกลางถึงล่าง ดังนั้นเมื่อเศรษฐกิจมีปัญหาลูกค้ากลุ่มนี้จะได้รับผลกระทบก่อนลูกค้าระดับบน
“ตลอดเวลาที่เข้ามาบริหารธนาคารกรุงไทย ไม่เคยปล่อยสินเชื่อให้กับนักการเมือง สินเชื่อที่ปล่อยกู้ให้กับบริษัทขนาดใหญ่ที่มีปัญหาการเงิน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มสหฟาร์ม บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) เป็นสินเชื่อเดิมก่อนเข้ามาทำงาน และไม่มีการรับรีไฟแนนซ์จากที่อื่นมาเพิ่มเติม มีแต่เพียงเข้าไปช่วยแก้ไขหนี้”
นายวรภัคกล่าวอีกว่า จากการติดตามอัตราการเพิ่มขึ้นของเอ็นพีแอลแล้ว พบว่า ในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมาเริ่มมีอัตราเพิ่มขึ้นที่ชะลอตัว แต่เรื่องหนี้เอ็นพีแอลยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด พร้อมมอบหมายให้สาขาทั่วประเทศ ดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกค้าสินเชื่อบ้าน
อย่างไรก็ตาม เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับธนาคาร ปีนี้ตั้งเป้าเพิ่มสำรองหนี้สงสัยจะสูญให้มากกว่าปีที่แล้วที่ได้สำรองหนี้ 11,000 ล้านบาท โดยปีนี้จะมีการตั้งสำรองเดือนละ 700 ล้านบาท พร้อมทั้งจะมีการตั้งสำรองพิเศษอีกด้วย ส่วนอัตราการทำกำไรของธนาคารในปีนี้ ยังเป็นไปในทิศทางเดียวกับระบบธนาคารพาณิชย์ หลังในช่วงไตรมาสแรก ธนาคารกรุงไทยมีกำไรสุทธิ 8,154 ล้านบาท
กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ในช่วง 2 ปีที่เข้ามาบริหารธนาคารกรุงไทย ใช้เวลาส่วนใหญ่ในการปรับปรุงระบบการทำงานให้มีประสิทธิภาพ จากโครงการ KTB Transformation เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่ชัดเจน ได้มีการปรับขบวนการทำงานครั้งใหญ่ กำหนดแผน 3 ระยะ คือ 1.ปี 2557-2558 สร้างรากฐานที่แข็งแกร่ง เปลี่ยนกระบวนการความคุมความเสี่ยงด้านสินเชื่อ รวมศูนย์อนุมัติสินเชื่อ หรือโลน แฟคตอริง ขณะที่สาขาจะเป็นจุดขายและบริการ และเน้นบริการที่รวดเร็ว และมีคุณภาพ
สำหรับในส่วนของพนักงานได้เปลี่ยนแปลงวิธีทำงาน ทุกงานมีเจ้าภาพที่รับผิดชอบ มีตัวชี้วัดการประเมินผลงานของพนักงานมีความชัดเจน โปร่งใส ทำให้ในช่วงปีที่ผ่านมา ปัญหาการร้องเรียนของพนักงานในเรื่องของการประเมินผลงานมีน้อยมาก ขณะที่แผนระยะที่ 2 ระหว่างปี 2559-2561 ต้องการให้ธนาคารกรุงไทย ขึ้นเป็นธนาคารชั้นนำของประเทศ ในด้านขนาดและผลกำไร และระยะที่ 3 ปี 2562-2564 เป็นสถานที่ทำงานที่ดีที่สุดสำหรับการทำงาน
นายวรภัคชี้แจงกรณีที่ดึงคนนอกเข้ามารับตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงของธนาคารว่า ผู้บริหารระดับสูงของธนาคารที่เป็นบุคคลภายนอกจะเป็นผู้บริหารที่อยู่ในระดับท็อปของตลาด อัตราเงินเดือนที่ว่าจ้างเท่ากับที่ทำงานเดิมหรือต่ำกว่า ขบวนการสรรหาที่ชัดเจนตรวจสอบได้ และตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงของธนาคารกรุงไทย เมื่อว่างลงหรือมีตำแหน่งใหม่ ได้ให้ความสำคัญคนในองค์กรเป็นอันดับแรก หากไม่มีคนที่มีคุณสมบัติตรงตามที่ต้องการจึงจะสรรหาจากบุคคลภายนอก
อย่างไรก็ตาม บุคคลภายนอกที่เข้ามาเป็นผู้บริหาร และยอมรับผลตอบแทนที่เท่าเดิมหรือน้อยลง เนื่องจากมองว่า ธุรกิจธนาคารกรุงไทยยังเติบโตได้อีกมาก เห็นได้จากปัจจุบันธนาคารมีส่วนแบ่งการตลาดสินเชื่อเป็นอันดับ 1 สิ้นปี 57 มียอดสินเชื่อที่ 1.9 ล้านล้านบาท สูงกว่าธนาคารกรุงเทพ ที่มียอดสินเชื่อ 1.78 ล้านล้านบาท
ขณะที่ความสามารถในการทำกำไร ธนาคารกรุงไทยอยู่อันดับ 4 มีกำไรสุทธิ 33,000 ล้านบาท อันดับ 1 ธนาคารไทย-พาณิชย์กำไรสุทธิ 54,000 ล้านบาท รองลงมาธนาคารกสิกรไทย 50,000 ล้านบาท และธนาคารกรุงเทพ 36,000 ล้านบาท
“ภายในปี 2560 ได้ตั้งเป้าหมายที่ใช้ภายในองค์กรว่า ธนาคารจะสามารถทำไรได้สูงถึง 60,000 ล้านบาท ภายใต้เงื่อนไข ไม่เพิ่มทุนจดทะเบียน ไม่เพิ่มบุคคลกร และพนักงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทำงานไม่เกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน”
นายวรภัคกล่าวทิ้งท้ายว่า การเข้ามาบริหารงานกรุงไทย เป็นนักการเงินมืออาชีพ ไม่ได้ยึดติดกับตำแหน่ง เพียงแต่ต้องการเข้ามารับใช้ชาติ ต้องการผลักดันให้ธนาคารกรุงไทยขึ้นเป็นอันดับ 1 ของประเทศ ที่ผ่านมา ยอมรับว่าเข้ามารับตำแหน่งในช่วงของพรรคเพื่อไทย แต่จริงๆแล้วรู้จักทั้งพรรคเพื่อไทย และประชาธิปัตย์ โดยในช่วงที่นายกรณ์ จาติกวณิช ลาออกจากกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ เจเอฟ ธนาคม ก็ชวนเข้าไปรับตำแหน่งแทน.
ขอบคุณข้อมูลจาก : ไทยรัฐออนไลน์
Discussion
Follow breaking news Investment property articles on Facebook, click here.