กรมประมงเผยภาพรวมเจ้าหน้าที่สหภาพยุโรป (อียู) พอใจความก้าวหน้าไทย แก้ปัญหาประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและขาดการควบคุม (ไอยูยู) ในไทย แต่ติง 2 ประเด็น คือ ให้แก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ.การประมง 2558 เพิ่มเติม ไม่เอากฎหมายลูก และให้ปรับปรุงแผนแก้ไขไอยูยูระดับชาติ ด้านสมาคมแช่เยือกแข็งไทย เชื่อสูญการส่งออกสินค้าประมงไปอียูรวม 15,000 ล้านบาท จากส่งออกรวมปีละ 24,000 ล้านบาท นายวิชาญ อิงศรีสว่าง ผู้ตรวจราชการกรมประมง กล่าวในการเสวนาหัวข้อ “ฝ่าวิกฤติประมงไทยจากภัยไอยูยู” จัดโดยคณะประมง และสถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ว่า จากการหารือร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่ของสหภาพยุโรป (อียู) และกรมประมง ในขณะนี้ที่อียูเดินทางเข้ามาในประเทศไทย เพื่อประเมินความก้าวหน้าของไทยในการแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และขาดการควบคุม (ไอยูยู) หลังจากที่อียู ได้แจกใบเหลืองเตือนสินค้าประมงไทย พบว่าโดยภาพรวมเจ้าหน้าที่อียูพอใจความก้าวหน้าในการดำเนินงานของไทย แต่มีบางประเด็นที่ต้องการให้ฝ่ายไทยดำเนินการเพิ่มเติม ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่อียู ประเมินความคืบหน้าการแก้ปัญหาไอยูยูของไทยใน 4 เรื่อง ประกอบด้วย 1. พ.ร.บ.การประมง พ.ศ.2558 ซึ่งกำลังจะมีผลบังคับใช้ อียูพอใจที่ไทยมีกฎหมายฉบับใหม่ แต่ได้เสนอให้ไทย แก้ไขกฎหมายฉบับดังกล่าวเพิ่มเติม ให้ครอบคลุมการรับซื้อสัตว์น้ำจากต่างประเทศ และมีบทลงโทษผู้กระทำความผิดนอกน่านน้ำได้ ซึ่งเรื่องนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อยู่ระหว่างการพิจารณาความเหมาะสม แต่การแก้ไขกฎหมายที่เพิ่งประกาศใช้อาจต้องใช้เวลา เพราะอียูต้องการให้แก้ไขตัวกฎหมายแม่โดยตรง ไม่ต้องการให้ใช้วิธีการออกกฎหมายอื่นๆมาประกอบ 2. การจัดทำแผนแก้ไขปัญหาประมงไอยูยูระดับชาติ อียูเห็นว่าไทยยังมีมาตรการแก้ไขปัญหาไม่ครบถ้วน เช่น มาตรการการปิดอ่าวชั่วคราว เพื่อลดการใช้แรงงานประมง และพักฟื้นสัตว์น้ำ อียูเห็นว่าไม่สามารถแก้ปัญหาไอยูยูได้มากนัก แต่กรณีนี้กรมประมงได้ชี้แจงและนำข้อมูลปริมาณผลผลิตสัตว์น้ำที่เพิ่มขึ้นหลังการปิดอ่าวมาชี้แจง ซึ่งยังคงต้องทำความเข้ากันทั้ง 2 ฝ่ายต่อไป นอกจากนี้ อียูยังเห็นว่าบทลงโทษตามกฎหมายประมงของไทยยังเบาเกินไป 3. เรื่องการตรวจสอบย้อนกลับสินค้าประมงของไทย อียูค่อนข้างพอใจการเตรียมการของไทย ไม่ได้ขอให้แก้ไขแผนการใดๆ และยังช่วยเพิ่มเติมให้ในบางประเด็น เช่น การจัดทำแบบฟอร์มการรายงานข้อมูลการทำประมงของเรือประมงต่างๆ ให้เป็นไปในระบบเดียวกัน และเห็นว่าไทยควรเดินหน้าระบบที่วางไว้แล้วให้เข้มแข็ง และ 4. การติดตั้งระบบติดตามเรือ (วีเอ็มเอส) อียูพอใจไม่มีข้อท้วงติงใดๆ ในการดำเนินการของไทยในเรื่องนี้ โดยเจ้าหน้าที่อียูได้เข้าไปเยี่ยมชมการติดตามเรือไทยผ่านระบบวีเอ็มเอส ที่ศูนย์บัญชาการการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) ซึ่งมีสำนักงานตั้งอยู่ที่กองบัญชาการกองทัพเรือ
“เหตุผลหลักๆ ที่อียูตั้งข้อสังเกตกับการประมงไทยว่ายังขาดความยั่งยืน คือ อียูเห็นว่าไทยทำการประมงมากเกินศักยภาพของธรรมชาติประมาณ 21% โดยตั้งข้อสังเกตว่า ผลผลิตประมงจากไทยในแต่ละปีมีปริมาณคงที่ ทั้งที่อัตราการจับสัตว์น้ำของไทยในปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 17 กิโลกรัม (กก.) ต่อชั่วโมง ลดลงอย่างมากจากเมื่อ 20 ปี ก่อน ซึ่งสูงถึง 248 กก.ต่อชั่วโมง ทำให้อียูมองว่า ไทยใช้เวลาทำการประมงตลอดโดยไม่มีการหยุดพัก เพื่อให้ได้ผลผลิตเท่าเดิม” นายผณิศวร ชำนาญเวช นายกกิตติคุณสมาคมแช่เยือกแข็งไทย กล่าวว่า ปัจจุบันสมาคมฯ ส่งออกสินค้ากุ้ง ปลา และปลาหมึก ไปยังต่างประเทศปีละประมาณ 100,000 ล้านบาท แบ่งเป็นการส่งออกไปอียูรวมประมาณ 24,000 ล้านบาท ซึ่งประเมินว่า ผลกระทบจากเรื่องไอยูยูของยุโรป และปัญหาแรงงานมนุษย์ที่ประเมินโดยสหรัฐฯ รวมแล้วจะทำให้มูลค่าการส่งออกสินค้าประมงแช่แข็งไปอียูลดลงประมาณ 15,000 ล้านบาท แบ่งเป็นการส่งออกลดลงโดยตรงประมาณ 10,000 ล้านบาท และผลกระทบต่อเนื่องจากการที่รัฐจัดระเบียบการทำประมง ทำให้มีเรือบางส่วนออกไปจับปลามาป้อนโรงงานไม่ได้อีก 5,000 ล้านบาท นายสมภพ ปัญญาไวย์ ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานทะเบียนเรือ กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม กล่าวว่า จากการขึ้นทะเบียนเรือประมง ข้อมูล วันที่ 19 พ.ค.ที่ผ่านมา พบว่ามีเรือมาขึ้นทะเบียนแล้วทั้งสิ้น 49,468 ลำ ส่วนใหญ่เป็นเรือประมงพื้นบ้าน ที่มีขนาดต่ำกว่า 10 ตันกรอส รวม 33,511 ลำ เรือขนาด 10-30 ตันกรอส 8,146 ลำ เรือขนาด 30-60 ตันกรอส 4,072 ลำ และเรือขนาดใหญ่ 60 ตันกรอสขึ้นไป 3,739 ลำ โดยการติดตั้งระบบวีเอ็มเอส จะแบ่งกลุ่มให้เรือขนาดใหญ่ 60 ตันกรอสขึ้นไป เป็นกลุ่มแรกที่จะต้องติดตั้งระบบวีเอ็มเอสให้แล้วเสร็จทั้งหมดก่อน จากนั้นจะติดตั้งให้กลุ่มอื่นๆต่อไปจนครบทั้งระบบ.

ขอบคุณข้อมูลจาก : ไทยรัฐออนไลน์