ตำรวจคุมตัวผู้ต้องหาค้ามนุษย์ชาวโรฮีนจา เครือข่าย “โกโต้ง” และ “โกจง” ฝากขังผัดแรกอีก 3 คน พร้อมคัดค้านการประกันตัว ก่อนจะส่งตัวเข้าคุก ในขณะที่สหรัฐฯจี้พม่ารับ “โรฮีนจา” เป็นพลเมือง แต่โดนพม่าสวนกลับทันควัน อ้างมนุษย์เรือเป็นพวก “เบงกาลี” จากบังกลาเทศ ด้านเลขายูเอ็นวอนประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รับชาวโรฮีนจาขึ้นฝั่งด่วน คาดยังลอยเรืออยู่ในทะเลกว่า 3,500 คน หวั่นจะได้รับอันตรายจากทะเลแปรปรวน เนื่องจากกำลังเข้าสู่ช่วงฤดูมรสุม หลายชาติยังคงวิตกกับปัญหาการค้ามนุษย์ชาวโรฮีนจา ในขณะที่ตำรวจคุมตัวผู้ต้องหาค้ามนุษย์เครือข่าย “โกโต้ง” ส่งฝากขังอีกชุด โดยเมื่อตอนสายวันที่ 23 พ.ค. พ.ต.ท.ประพันธ์ อารีย์บำบัด พนักงานสอบสวนผู้ชำนาญการพิเศษ สภ.ปาดังเบซาร์ จ.สงขลา ได้เดินทางไปรับตัว 3 ผู้ต้องหาคดีค้ามนุษย์ชาวโรฮีนจาที่ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจภูธรภาค 9 ส่วนหน้า สภ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ประกอบด้วย นายวุฒิ วุฒิประดิษฐ์ อดีตตำรวจ จ.สตูล ซึ่งเป็นหัวหน้าเครือข่ายที่รับผิดชอบในพื้นที่ ต.วังประจัน อ.ควนโดน จ.สตูล เครือข่ายนายปัจจุบัน อังโชติพันธุ์ หรือ “โกโต้ง” นายศราวุธ พรหมกะหมัด และนายทนงศักดิ์ เหมมัน เครือข่ายนายบรรจง ปองผล หรือ “โกจง” อดีตนายกเทศมนตรีเมืองปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา นำไป ฝากขังที่ศาลจังหวัดนาทวีผัดแรกเป็นเวลา 12 วัน หลัง ทำการสอบสวนเสร็จแล้ว พร้อมคัดค้านการประกันตัวทั้งหมด ก่อนจะส่งตัวเข้าเรือนจำจังหวัดนาทวี ที่ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจภูธรภาค 9 ส่วนหน้า พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ รอง ผบ.ตร. พล.ต.ท.มนตรี โปตระนันทน์ ผบช.ภ.9 พล.ต.ต.พุทธิชาต เอกฉันท์ รอง ผบช.ภ.9 ประชุมสรุปความคืบหน้าผลการสืบสวนสอบสวนของคดีค้ามนุษย์ ก่อนจะแถลงว่า ขณะนี้ยังไม่มีการออกหมายจับ หรือจับกุมผู้ต้องหาเพิ่มเติม ตัวเลขผู้ต้องหาที่ถูกออกหมายจับยังอยู่ที่ 77 คน ควบคุมตัวได้แล้ว 46 คน ยังหลบหนีอีก 31 คน ในจำนวนผู้ต้องหาที่ยังหลบหนีนั้นยังมีตัวการสำคัญหลายคนทั้งที่เป็นนักการเมืองท้องถิ่นและผู้นำท้องถิ่น ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ จ.สตูล เจ้าหน้าที่ยังคงเดินหน้าล้างบางเครือข่ายขบวนการค้ามนุษย์โรฮีนจาอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันทางอัยการสูงสุดได้ส่งพนักงานอัยการมาร่วมสอบสวนกับตำรวจด้วย เนื่องจากเหตุเกิดเชื่อมโยงหลายพื้นที่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ต่อมา พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ รอง ผบ.ตร.พร้อมคณะเดินทางไปติดตามเหยื่อค้ามนุษย์ชาวโรฮีนจาซึ่งพักพิงอยู่ที่สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพ (ชาย) จ.สงขลา นิคมสร้างตนเองรัตภูมิ รวมทั้งลงพื้นที่พบปะกับชาวบ้านในพื้นที่บ้านคลองต่อ ต.กำแพงเพชร อ.รัตภูมิ จ.สงขลา เพื่อขอความร่วมมือในการแจ้งเบาะแสรวมทั้งแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ เนื่องจากพื้นที่บริเวณดังกล่าวเคยเป็นหนึ่งในสถานที่ตั้งแคมป์กักตัวชาวโรฮีนจา พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ รอง ผบช.ภ.8 หัวหน้าพนักงานสอบสวนเปิดเผยว่า คดีนี้เป็นความผิดเข้าลักษณะประมวลกฎหมายวิธีการพิจารณาความอาญา มาตรา 20 และเชื่อมโยงกันหลายพื้นที่ตั้งแต่บังกลาเทศ เมียนมา ไทย มาเลเซีย และมีความสลับซับซ้อนในเรื่องข้อเท็จจริง ผู้ต้องหารวมทั้งพยานบางส่วนอยู่ในต่างประเทศ การกระทำผิดบางส่วนเกิดขึ้นนอกราชอาณาจักร อัยการสูงสุดจะเป็นผู้รับผิดชอบ จึงได้มีคำสั่งให้พนักงานอัยการมาเข้าร่วมสอบสวนร่วมกับพนักงานสอบสวนของฝ่ายตำรวจ เพื่อให้การทำงานการสอบสวนเป็นไปอย่างรัดกุมและรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยจะร่วมกันสอบสวนควบคู่กันไป มี พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ รอง ผบ.ตร.เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในคดีนี้ด้วย ได้มีการประชุมร่วมกันแล้วเมื่อวานนี้ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร.กล่าวว่า ได้รับรายงานว่าผลการสืบสวนขยายผลชาวโรฮีนจา ศาลอนุมัติออกหมายจับผู้ต้องหา 77 ราย จับกุมตัวผู้ต้องหา 43 คน พบแหล่งพักพิง 7 แห่ง พบศพ 36 ศพ ควบคุมตัวคนต่างด้าว 313 คน แยกเป็นโรฮีนจา บังกลาเทศ และพม่า เป็นเหยื่อค้ามนุษย์ 64 คน หลบหนีเข้าเมือง 249 คน ยึดทรัพย์สินมูลค่าประมาณ 81 ล้านบาท แยกเป็นเครือข่ายหัวไทร 63 ล้านบาท เครือข่ายสตูล 18 ล้านบาท พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว. กลาโหม สั่งการให้ ตม.ตรวจสอบเอกสารให้ถูกต้อง เพื่อส่งชาวโรฮีนจาทั้ง 313 คนคืนให้กับประเทศที่อยู่ของชาวโรฮีนจา “ขอยืนยันว่าที่ผ่านมาดำเนินคดีกับผู้ที่หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายอย่างเท่าเทียมตามหลักสากล ส่วนตำรวจที่มีคำสั่งให้มาช่วยราชการที่ ศปก.ตร.ขณะนี้จเรตำรวจอยู่ระหว่างการสอบสวนว่ามีส่วนพัวพันกับขบวนการดังกล่าวหรือไม่ หากตำรวจนายใดมีพยานหลักฐานชัดเจนว่ามีส่วนเกี่ยวข้องจะต้องถูกดำเนินคดีอย่างไม่ละเว้น ส่วนคนที่ตรวจสอบไม่พบความเชื่อมโยงจะกลับไปอยู่ที่เดิมเพื่อแสดงความจริงใจในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ตามนโยบายของรัฐบาล” ผบ.ตร.กล่าว นายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศแห่งสหรัฐอเมริกา ผู้เข้าร่วมการประชุมแก้ปัญหาขบวนเรือผู้อพยพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งจัดที่กรุงเนปิดอว์ เมืองหลวงของเมียนมา ระหว่างวันที่ 21-22 พ.ค.ที่ผ่านมา ออกแถลงการณ์สรุปผลการประชุมเมื่อวันที่ 23 พ.ค. โดยระบุว่ารัฐบาลสหรัฐฯ เรียกร้องรัฐบาลเมียนมาให้พิจารณามอบสัญชาติแก่ชาวมุสลิมโรฮีนจาในรัฐยะไข่ ภาคตะวันตกของเมียนมา เพื่อเปิดโอกาสให้ชาวโรฮีนจาได้รับการคุ้มครองจากรัฐบาลเมียนมาในฐานะพลเมืองตามกฎหมาย เนื่องจากรากเหง้าของปัญหาผู้อพยพเกิดจากชาวโรฮีนจาในรัฐยะไข่ไม่ได้รับการรับรองสัญชาติ จึงต้องอพยพไปหางานทำหรือแสวงหาอนาคตที่ดีกว่าในต่างแดน และตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์ในที่สุด ด้านนายหม่อง หม่อง ออน มุขมนตรีรัฐยะไข่ของเมียนมา แถลงตอบโต้นายแอนโทนี บลิงเคน รมช.ต่างประเทศสหรัฐฯ โดยระบุว่ารัฐบาลเมียนมารู้สึกผิดหวังและไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งต่อข้อกล่าวหาของนายบลิงเคน เนื่องจากผู้อพยพบนเรือที่พบในน่านน้ำทะเลเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นชาวเบงกาลีจากบังกลาเทศ ซึ่งตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์ข้ามชาติ แต่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับรัฐบาลเมียนมา และรัฐบาลเมียนมาจะนำทางกลุ่มเจ้าหน้าที่สหประชาชาติไปพบกับกลุ่มผู้อพยพชาวเบงกาลีกว่า 208 ราย ที่กองทัพเรือเมียนมาช่วยเหลือขึ้นฝั่งได้เมื่อวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา เพื่อยืนยันว่าผู้อพยพที่พบทั้งหมดเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์ ไม่ใช่ผู้ได้รับผลกระทบจากการกีดกันหรือเลือกปฏิบัติใดๆ จากนโยบายทางการเมืองหรือศาสนาในเมียนมา นายซอว์ เทย์ ผู้อำนวยการสำนักประธานาธิบดีแห่งเมียนมา ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวเอเอฟพีว่า กลุ่มผู้อพยพ 208 ราย ซึ่งได้รับการช่วยเหลือขึ้นฝั่งที่เมืองหม่องดอว์ ทางตะวันตกของเมียนมา เมื่อวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมานั้นเป็นชาวบังกลาเทศ และรัฐบาลเมียนมาจะดำเนินการผลักดันผู้อพยพกลับประเทศ โดยขณะนี้ได้มีการติดต่อไปยังเจ้าหน้าที่รัฐบาลบังกลาเทศบริเวณชายแดนให้เตรียมพร้อมรับตัวผู้อพยพกลับไป แต่ยังมิได้กำหนดวันและเวลาที่ชัดเจน ส่วนผู้สื่อข่าวของเอเอฟพีในเมียนมาไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปพบผู้อพยพที่ศูนย์พักพิงชั่วคราว ทำให้ไม่อาจระบุได้ว่าผู้อพยพทั้งหมดเป็นชาวบังกลาเทศจริงหรือไม่
วันเดียวกัน นางจูลี บิชอพ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศออสเตรเลีย ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวเอเอฟพีโดยระบุว่าตนได้หารือกับนายฮาซัน เคลอิบ ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานระหว่างประเทศแห่งอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบดูแลผู้อพยพชาวโรฮีนจาและชาวบังกลาเทศประมาณ 7,000 คนที่ได้รับการช่วยเหลือขึ้นฝั่งที่ จ.อาเจะห์ ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของอินโดนีเซีย ตั้งแต่ช่วงต้นเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา พบว่าประมาณ 30-40 เปอร์เซ็นต์ของผู้อพยพซึ่งได้รับการช่วยเหลือขึ้นฝั่งที่อินโดนีเซียเป็นชาวโรฮีนจา แต่อีกราว 60 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือเป็นชาวบังกลาเทศ และรัฐบาลอินโดนีเซียจะให้ที่พักพิงเฉพาะชาวโรฮีนจาที่เข้าข่ายผู้ลี้ภัยทางการเมือง ขณะที่ชาวบังกลาเทศถือเป็นแรงงานอพยพที่พยายามลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งส่วนใหญ่ต้องการเดินทางไปหางานทำที่ประเทศมาเลเซีย และผู้อพยพกลุ่มนี้จะถูกทางการอินโดนีเซียพิจารณาส่งตัวกลับไปยังประเทศต้นทาง อย่างไรก็ตาม น.ส.วิเวียน ตัน โฆษกสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) แห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเมินว่าขณะนี้ยังมีผู้อพยพชาวโรฮีนจาและชาวบังกลาเทศอีกประมาณ 3,500 รายตกค้างอยู่บนเรือในน่านน้ำทะเลแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้น่าวิตกว่าผู้อพยพอาจเผชิญกับชะตากรรมเลวร้ายเพิ่มขึ้นเมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูมรสุม ซึ่งจะส่งผลให้เกิดสภาพอากาศแปรปรวนในทะเล ด้วยเหตุนี้ นายบัน กี มูน เลขาธิการใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UN) จึงได้เรียกร้องให้ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้ความช่วยเหลือผู้อพยพซึ่งพบในน่านน้ำทะเลใกล้เคียงแต่ละประเทศขึ้นฝั่งเสียก่อน จากนั้นจึงค่อยคัดกรองแยกแยะระหว่างผู้อพยพทางเศรษฐกิจกับผู้ลี้ภัยทางการเมือง เนื่องจากการช่วยชีวิตคนเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในขณะนี้

ขอบคุณข้อมูลจาก : ไทยรัฐออนไลน์