ขบวนการเลื่อยเก้าอี้ “วรภัค ธันยาวงษ์” กลุ่มเสียประโยชน์กรุงไทย
“วรภัค ธันยาวงษ์” เจอเผือกร้อน หลังเข้าไปรื้อระบบการจัดซื้อจัดจ้างแบงก์กรุงไทย จนกลุ่มผู้สูญเสียผลประโยชน์ ปล่อยข่าวฉาว ทั้งปล่อยสินเชื่อการเมืองจนหนี้เน่าบวม ล่าสุดใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กปลุกพนักงานแต่งดำไล่ ด้านสหภาพแรงงานกรุงไทยออกโรงยันพนักงานแต่งดำไม่เกี่ยวกับสหภาพฯ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้การเคลื่อนไหวเพื่อปลดนายวรภัค ธันยาวงษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ออกจากตำแหน่งยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่อง โดยเป็นการกระทำของกลุ่มผู้เสียผลประโยชน์ 2 กลุ่ม กลุ่มแรก เป็นกลุ่มที่เสียประโยชน์จากกรณีที่นายวรภัคเข้ามาบริหารธนาคารกรุงไทยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ได้รื้อระบบการจัดซื้อจัดจ้างใหม่ทั้งหมด โดยเฉพาะการจัดซื้อคอมพิวเตอร์ เพื่อปิดไม่ให้เกิดการรั่วไหล ส่วนกลุ่มที่ 2 เป็นผู้บริหารเดิมที่ถูกลดอำนาจ โดยพบว่ากลุ่มที่เสียผลประโยชน์จากการรื้อระบบจัดซื้อจัดจ้างใหม่ มีน้ำหนักมากที่สุดต่อการเคลื่อนไหวในครั้งนี้ ด้วยการปล่อยข่าวเพื่อลดความน่าเชื่อถือ และต้องการให้รัฐบาลชุดนี้ปลดนายวรภัคออกจากตำแหน่ง พร้อมแต่งตั้งบุคคลที่เป็นพวกของตนเข้ามาเป็นผู้บริหารแทน ขณะที่กลุ่มที่ 2 ที่เป็นผู้บริหารชุดเดิมที่ถูกลดอำนาจ เมื่อเห็นว่า นายวรภัคถูกกระแสข่าวลบโจมตี ก็ร่วมผสมโรงเพื่อกลับเข้าสู่ตำแหน่งเดิมอีกครั้ง
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา ได้มีการส่งข้อความผ่านเครือข่ายโซเชียลเน็ตเวิร์ก และแอพพิเคชั่นไลน์ (LINE) มีเนื้อหาเชิญชวนให้พนักงานธนาคารกรุงไทย ที่สำนักงานใหญ่ นานา และสำนักงานใหญ่ อาคารสุขุมวิท แต่งชุดดำในวันนี้ (25 พ.ค.) เพื่อกดดันให้นายวรภัครับผิดชอบกรณีที่เข้ามาบริหารงานแล้วทำให้หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของธนาคารกรุงไทยปรับตัวเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ นายวรภัคออกมาชี้แจงว่า ตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ ไม่เคยปล่อยสินเชื่อให้กับนักการเมือง โดยหนี้เอ็นพีแอลตั้งแต่เดือน ม.ค.-เม.ย.2558 ที่เพิ่มขึ้น 14,000 ล้านบาท เป็นหนี้เอ็นพีแอลของสินเชื่อรายย่อย 11,000 ล้านบาท และเป็นเอ็นพีแอลของสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) อีก 3,000 ล้านบาท และที่สำคัญหนี้เอ็นพีแอลรายย่อยที่เกิดขึ้น 80% มาจากสินเชื่อบ้าน เอ็นพีแอลที่เกิดขึ้นเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจ ธนาคารทุกแห่งประสบปัญหาเช่นเดียวกัน ขณะที่การกันสำรองหนี้สูญ ตามปกติธนาคารตั้งเป้าสำรองเดือนละ 700 ล้านบาท หรือ 8,400 ล้านบาทต่อปี และมีการตั้งสำรองพิเศษ ซึ่งปกติจะตั้งในงวดเดือน มิ.ย. หรือ ธ.ค. แต่เมื่อฝ่ายจัดการเห็นว่าเอ็นพีแอล 4 เดือนแรกได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาก จึงเสนอคณะกรรมการธนาคารตั้งสำรองพิเศษอีก 3,600 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม การสำรองในปีนี้ยังใกล้เคียงกับปีก่อนหน้าที่ 11,000 ล้านบาท
ส่วนการแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูง ธนาคารได้ทำการคัดเลือกผู้บริหารที่เป็นระดับท็อปของตลาด และอัตราการว่าจ้างเท่ากับหรือต่ำกว่าที่ทำงานเดิม มีขบวนการสรรหาที่ชัดเจนตรวจสอบได้ และการที่ผู้บริหารจากสถาบันการเงินอื่นๆสนใจเข้ามาทำงานที่ธนาคารกรุงไทยเพราะเห็นว่ากรุงไทยยังเติบโตได้อีกมาก เนื่องจากปัจจุบันมีสินเชื่อรวม 1.9 ล้านล้านบาท มีส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับ 1 แต่อัตราการทำกำไรกับอยู่อันดับที่ 4 ของธนาคารพาณิชย์
ด้านนายสงวนศักดิ์ จงลักขณา ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า การส่งข้อความผ่านไลน์เชิญชวนพนักงานแต่งชุดดำ เพื่อขับไล่นายวรภัค ไม่เกี่ยวกับสหภาพแรงงาน ธนาคารกรุงไทย และยังไม่ทราบว่าเป็นการกระทำของบุคคลใด เรื่องหนี้เอ็นพีแอลที่เพิ่มขึ้น และการเพิ่มสำรองหนี้จัดชั้นอีก 3,600 ล้านบาท นายวรภัคได้มีการชี้แจงไปแล้ว
“สหภาพแรงงาน ธนาคารกรุงไทยจะดูแลในเรื่องของปากท้องของพนักงาน ส่วนเรื่องของธุรกิจ เป็นเรื่องของฝ่ายจัดการ และเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการธนาคาร ขณะที่เรื่องการแต่งตั้งพนักงาน และดึงบุคคลภายนอกเข้ามาบริหารงานนั้น ถ้าเป็นตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ หรือรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สภาพแรงงานฯจะไม่เข้าไปเกี่ยวข้อง เนื่องจากเป็นตำแหน่งบริหารที่ไม่ใช่พนักงาน และเป็นสัญญาจ้าง อย่างไรก็ตาม หากระดับพนักงานฝ่ายลงมา สหภาพแรงงานฯได้ขอฝ่ายจัดการว่า หากจะมีการแต่งตั้งให้คัดเลือกบุคคลภายในเป็นอันดับแรก”.
ขอบคุณข้อมูลจาก : ไทยรัฐออนไลน์
Discussion
Follow breaking news Investment property articles on Facebook, click here.