นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ส.อ.ท. ร่วมกับสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" สำรวจความคิดเห็นผู้ประกอบการทั่วประเทศ เรื่อง "ทิศทางเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในช่วงครึ่งหลังของปี 2558" นายกำพล ปัญญาโกเมศ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ นิด้า กล่าวว่า ผลสำรวจพบว่า ผู้ประกอบการ เชื่อว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลัง ส่วนใหญ่ร้อยละ 50.68 เห็นว่าจะทรงตัว รองลงมาร้อยละ 23.42 ระบุว่าจะแย่ลง ขณะที่ร้อยละ 22.06 จะปรับตัวดีขึ้น และร้อยละ 3.84 ระบุว่าไม่แน่ใจ

สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่ภาคอุตสาหกรรมมีความกังวลในการดำเนินกิจการในช่วงครึ่งหลังของปี 2558 ได้แก่ เศรษฐกิจภายในประเทศ ร้อยละ 50.92 การเมืองภายในประเทศ ร้อยละ 37.49 ภาวะเศรษฐกิจโลก ร้อยละ 36.93 ราคาน้ำมัน ร้อยละ 24.70 อัตราแลกเปลี่ยน ร้อยละ 16.55 ส่วนแนวทางการรับมือของผู้ประกอบการในกรณีที่ค่าเงินบาทของไทยมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาค พบว่าผู้ประกอบการไม่มีการเตรียมพร้อม ร้อยละ 51.16 มีการเตรียมพร้อม ร้อยละ 48.84 ได้วางแผนประมาณการ การสั่งซื้อ การผลิต การจำหน่ายล่วงหน้า ร้อยละ 49.10 วางแผนกลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อกำหนดทิศทางราคาสินค้า ร้อยละ 38.79

ด้าน นางชุตินาฏ วงศ์สุบรรณ รองเลขาธิการ สศช. แถลงสถานการณ์แรงงาน ว่า การจ้างงานในไตรมาสที่ 1/2558 ปรับตัวลดลง 0.5% โดยมีผู้มีงานทำอยู่ที่ 37.61 ล้านคน ขณะที่การว่างงานอยู่ที่ 0.94% เพิ่มขึ้นจาก 0.89% ในช่วงเดียวกันของปี 2557 การจ้างงานที่ลดลงเป็นผลจากสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย หลายพื้นที่ประสบภาวะภัยแล้ง ประกอบกับเป็นฤดูหลังการเพาะปลูก และการปรับตัวของการเพาะปลูกข้าวที่ลดลงหลังสิ้นสุดมาตรการจำนำข้าว ทำให้ผู้มีงานทำในภาคเกษตรลดลง 4.4% และแรงงานรอฤดูกาลเพิ่มขึ้น 1.8%

แม้เศรษฐกิจได้ฟื้นตัวขึ้นโดยไตรมาสที่ 1 ขยายตัว 3% แต่ปรากฏว่าจำนวนชั่วโมงทำงานยังคงลดลง เฉลี่ยอยู่ที่ 41.7 ชั่วโมงต่อคนต่อสัปดาห์ ต่ำสุดในรอบ 9 ไตรมาส สอดคล้องกับการใช้กำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรมที่ลดลงเหลือ 62% ต่ำกว่าระดับเฉลี่ยประมาณ 65% ส่งผลกระทบต่อรายได้ของแรงงานที่พึ่งรายได้จากการทำงานล่วงเวลา ในการดำรงชีพและมีคุณภาพ รวมถึงการชำระหนี้

นางชุตินาฏกล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ ยังพบว่า มีจำนวนแรงงานทำงานต่ำกว่าระดับการศึกษาทั้งในภาคการผลิตและบริการเพิ่มขึ้น 24.6% และ 4.6% ตามลำดับ โอกาสในการทำงานปรับตัวลดลง เห็นจากสัดส่วน ผู้สมัครงานต่อตำแหน่งว่างงานคิดเป็น 1.14 เท่า เพิ่มขึ้นจาก 1.09 เท่าในช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุที่ผู้ประกอบการยังคงชะลอการขยายตำแหน่งงาน เนื่องจากความกังวลต่อสถานการณ์และการลดคำสั่งซื้อ

"แม้ปรากฏว่า เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว แต่การจ้างงานจะยังไม่เพิ่มทันที แต่ใน 2 ไตรมาส น่าจะเห็นชัดเจน ว่า การจ้างงานเพิ่มขึ้น" นางชุตินาฏกล่าว และว่า สำหรับสถานการณ์หนี้ครัวเรือน ณ สิ้นปี 2557 อยู่ที่ 10.43 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.5% เป็นการขยายตัวที่ชะลอลงเมื่อเทียบกับการขยายตัว 11.4% ในปี 2556 สอดคล้องกับยอดสินเชื่อเพื่อการบริโภคในไตรมาส 1 ที่ขยายตัว 7.6% ซึ่งเป็นการเติบโตที่ชะลอลงเมื่อเทียบกับ 10.7% ของช่วงเดียวกัน

นางชุตินาฏกล่าวว่า ในด้านหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ยังพบว่าปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในไตรมาส 1 ปีนี้ อยู่ที่ 92,426 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17% หรือคิดเป็น 2.6% ของสินเชื่อรวม ขณะที่สินเชื่อค้างการชำระเกิน 3 เดือน เพิ่มขึ้น 27.4% มาอยู่ที่ 15,469 ล้านบาท ยอดค้างบัตรเครดิตเกิน 3 เดือน เพิ่มขึ้น 22% มาอยู่ที่ 8,933 ล้านบาท แต่การปรับเพิ่มขึ้นดังกล่าวยังไม่อยู่ในระดับที่น่ากังวล ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สามารถดูแลได้

"รัฐบาลได้มีมาตรการต่างๆ เพื่อบรรเทาปัญหาหนี้ครัวเรือน รวมถึงการตั้งนาโนไฟแนนซ์ที่จะเป็นช่องทางการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบทำให้หนี้ที่เคยอยู่นอกระบบเข้ามาอยู่ในระบบ ซึ่งจะส่งผลให้บัญชีหนี้สินปรับตัวเพิ่มขึ้นในระยะต่อไป โดยคาดว่าราว 2 ไตรมาสก็จะเริ่มเห็นตัวเลขแล้ว และจะทำให้การบริหารจัดการหนี้ครัวเรือนของภาครัฐ สามารถทำได้อย่างมีระบบมากขึ้น" นางชุตินาฏกล่าว

ขอบคุณข้อมูล จาก : มติชนออนไลน์