ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ กล่าวปาฐกถาในงานสัมมนา Invest Japan Symposium in Bangkok ว่า โอกาสของนักลงทุนไทยที่จะไปลงทุนในประเทศญี่ปุ่นนั้น มองว่าปัจจุบันไทยยังไม่มีความพร้อมในการเข้าไปลงทุนอุตสาหกรรมการผลิตมากนัก เนื่องจากญี่ปุ่นมีเทคโนโลยีการผลิตที่สูงกว่าไทย อีกทั้งยังมีค่าแรงสูงกว่า แต่นักลงทุนไทยสามารถเข้าไปลงทุนในธุรกิจบริการ อาทิ กลุ่มโรงแรม ศูนย์การค้าและแฟชั่นได้ และล่าสุดมีผู้ประกอบการรายเล็กของไทยไปลงทุนในญี่ปุ่นแล้วถึง 57 ราย ขณะที่ไทยมีมูลค่าการลงทุนสูงเป็นอันดับที่ 10 ของญี่ปุ่นที่ 154 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สำหรับการส่งออกไปญี่ปุ่น ซึ่งเป็นตลาดที่มีสัดส่วนเป็นอันดับสองรองจากจีน คงต้องรอให้ค่าเงินเยนกลับมาอ่อนค่าอีกครั้ง จึงจะสามารถส่งออกได้ในระดับปกติ ส่วนภาพรวมการส่งออกของไทยเริ่มสบายใจ เชื่อว่ากลับมาฟื้นตัวอีกครั้งช่วงเดือน พ.ค.นี้ หลังจากการส่งออกไตรมาสแรกของปีนี้หดตัว 4.3% แต่เดือน เม.ย.การส่งออกดีขึ้น หดตัวลดลงเหลือ 1.7% ส่วนนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ หรือพีพีพี ระยะ 5 ปี วงเงิน 1.4 ล้านล้านบาท เชื่อว่าญี่ปุ่นจะเป็นประเทศที่เข้าร่วมลงทุนกับไทยด้วยเช่นกัน ด้านนายฮิโรยูคิ อิชิเงะ ประธานองค์การการค้าระหว่างประเทศญี่ปุ่น (เจโทร) กล่าวว่า ขณะนี้เป็นโอกาสของนักลงทุนไทยที่จะเข้าไปลงทุนในญี่ปุ่น เนื่องจากเศรษฐกิจญี่ปุ่นเริ่มกลับมาฟื้นตัวแล้ว เงินเดือนของชาวญี่ปุ่นที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้การบริโภคในประเทศเพิ่มขึ้นตามด้วย ดังนั้น หากนักลงทุนไทยเข้าไปลงทุน ทางการญี่ปุ่นจะให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจที่เป็นจุดแข็งของไทย ทั้งด้านพลังงานแสงอาทิตย์ แฟชั่นและท่องเที่ยว ด้วยมาตรการเตรียมลดภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 35% เหลือ 20% การจัดหาพื้นที่ตั้งสำนักงานให้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หรือค่าเช่าเป็นเวลา 2 เดือน รวมถึงให้คำปรึกษาด้านกฎหมายการลงทุน และในส่วนของเจโทรได้จัดหาสำนักงานที่มีบริการด้านต่างๆ ครบวงจรไว้ให้แล้วจำนวน 1 แห่ง “ไทยถือเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่ญี่ปุ่นต้องการให้เข้าไปลงทุน หลังจากที่ผ่านมาได้ชักจูงนักลงทุนจีนรวม 4 เมืองเข้าไปลงทุนแล้ว ทั้งนี้ เชื่อว่าจะเกิดการจับคู่ธุรกิจระหว่างญี่ปุ่นไทยมากพอสมควรจากนักลงทุนญี่ปุ่นที่ร่วมงานครั้งนี้ประมาณ 300 คน ซึ่งนโยบายส่งเสริมไทยเข้าไปลงทุนในญี่ปุ่นก็เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยน ส่งเสริมเศรษฐกิจ คงไม่ได้หมายความว่าญี่ปุ่นกำลังเกิดปัญหาเศรษฐกิจ”
ขณะที่นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) อยู่ระหว่างพิจารณาให้สิทธิประโยชน์ผู้ประกอบการไทยที่จะไปลงทุนต่างประเทศ ด้วยการปรับปรุงข้อกฎหมายต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวก เช่น ระเบียบการนำเข้าเงินตราต่างประเทศ และการแก้ไขกฎหมายภาษีที่มีความซ้ำซ้อน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการเข้าไปลงทุนในญี่ปุ่นแน่นอน โดยการจัดการครั้งนี้ ถือเป็นการแสดงศักยภาพของไทยในการออกไปลงทุนในญี่ปุ่น จากที่ผ่านมาญี่ปุ่นคือนักลงทุนอันดับหนึ่งที่เข้ามาลงทุนในไทย สําหรับอุตสาหกรรมที่ไทยพร้อมลงทุน อาทิ ปิโตรเคมี พลังงานทดแทน วัสดุก่อสร้าง บริการ ร้านอาหาร และแพ็กเกจจิ้ง นายกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือเอสซีจี กล่าวว่า ขณะนี้เอสซีจีมีการลงทุนในอาเซียน สามารถสร้างยอดขายต่อปีหลักแสนล้านบาท คิดเป็น 22% ของยอดขายรวมทั้งหมด ล่าสุดยังอยู่ระหว่างก่อสร้างโรงงานปูนซิเมนต์ในอาเซียนเพิ่ม 4 แห่ง อย่างไรก็ตาม จากการเข้าร่วมสัมมนาครั้งนี้ทำให้ตนมีความสนใจที่จะไปลงทุนในญี่ปุ่น และมีแนวคิดที่จะเกลี่ยการลงทุนเข้าไปญี่ปุ่นมากขึ้นด้วยการเข้าไปซื้อกิจการที่เป็นบริษัทที่มีแบรนด์อยู่แล้ว เนื่องจากขณะนี้มีความเหมาะสมเพราะเงินเยนอ่อนค่า อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่กว่าอาเซียน 10 ประเทศ และมีการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา (อาร์แอนด์ดี) สูง จึงมีความเหมาะสมที่จะเข้าไปลงทุนค่อนข้างมาก.

ขอบคุณข้อมูลจาก : ไทยรัฐออนไลน์