เปิดวิสัยทัศน์ “ดร.ทองลุน” ผู้นำลาว ตั้งเป้าหลุดพ้นความยากจนสู่ ปท.พัฒนาปี 2020
ดร.ทองลุน สีสุลิด รองนายกฯ และ รมว.ต่างประเทศ สปป.ลาว ร่วมฉลองสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศไทย กับ สปป.ลาว ซึ่งดำเนินมาครบ 65 ปีในปีนี้ด้วยการกล่าวปาฐกถาในงานที่ ดร.วีรพงษ์ รามางกูร นายกสมาคมไทย-ลาวเพื่อมิตรภาพ และกลุ่มผู้ลงทุนไทยร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดขึ้น ณ โรงแรมคอนราด วานนี้ (28 พ.ค.) ในหัวข้อ “40 ปี สปป.ลาว และเส้นทางสู่อนาคต”
รองนายกฯ สปป.ลาว บอกเล่าเรื่องราวในอดีตหลังการเรียกร้องเอกราชการปกครองคืนจากสหรัฐฯในวันที่ 2 ธ.ค.ปี 1975 ว่า กว่าคนลาวจะตัดสินใจเลือกทางเดินเป็น สปป.ลาว (สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว) ได้ ก็ต้องผ่านการทบทวนแนวทางการปรองดองกันของคนในชาติซึ่งเป็นปฏิปักษ์กันมานานหลายครั้งจึงจะสำเร็จ และรวมจิตใจของคนในชาติกลับสู่ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้
“ระหว่างปี 1975-1980 เป็นช่วงเวลาที่ยุ่งยากที่สุด และต้องใช้เวลาถึง 3 ปีกว่าจะฟื้นฟูประเทศจากสงครามที่ทำลายทุกสิ่งทุกอย่างลงได้ กระนั้นก็ตาม รัฐบาลก็สามารถฟื้นฟูประเทศ โดยเฉพาะจิตใจประชาชนซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญให้กลับคืนมาได้ กระทั่งคนลาวสามารถเลือกทางเดินของตนเองสำเร็จ และไม่ว่าลาวจะเลือกการปกครองในระบอบสังคมนิยมอย่างไร เลือดเนื้อและจิตวิญญาณก็ยังเป็นลาวอยู่ดี” ดร.ทองลุนกล่าวถึงความพยายามสร้างชาติของนายไกสอน พมวิหาน ประธานประเทศว่า ทำให้ สปป.ลาว ก้าวข้ามผ่านปัญหาต่างๆสู่อนาคตที่แจ่มใสสำเร็จ ด้วยการสร้างกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมให้เดินหน้าได้ภายใต้แผนพัฒนาชาติ 3 ปี และ 5 ปี ในปี 1978-1980
“เราได้จินตนาการถึงอนาคต และปลุกให้คนลาวลุกขึ้นนำพาประเทศร่วมกับรัฐบาลด้วยการสร้างปฐมปัจจัยอันเป็นความต้องการพื้นฐานของประชาชนสำเร็จ” ปี 1980-1985 รัฐบาลจัดทำยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาประเทศอย่างจริงจัง จากนั้นในปี 1986 จินตนาการของท่านไกสอน ก็นำมาซึ่งแผนพัฒนาชาติฉบับที่ 2 ที่บรรจุเนื้อหาสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยการแก้ไขกฎหมายต่างๆเพื่อเปิดให้มีการลงทุนใหม่ๆในประเทศ ที่สำคัญทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจจะต้องดำเนินไปอย่างเท่าเทียมกัน และมีเสรีภาพ เสมอภาคในการลงทุน
“เราจำแนกแยกกฎบัตรต่างๆ และความเสมอภาคในการลงทุนอย่างเป็นมาตรฐาน จนไทยเป็นแชมป์การลงทุนใน สปป.ลาวมากที่สุด เพิ่งมีเมื่อ 2-3 ปีมานี้เองที่ไทยกลายเป็นรองแชมป์ (เพราะมีการลงทุนจากจีน และเวียดนามเข้ามา)” ปัจจุบัน รายได้ประชาชาติของลาวอาจจะยังต่ำกว่าเส้นยากจนของสหประชาชาติที่ระดับ 1,700 เหรียญสหรัฐฯต่อคนต่อปีอยู่ แต่จีดีพีขยายตัว 7% และมีการลงทุนจาก 138 ประเทศ
อย่างไรก็ตาม ในอีก 5 ปี หรือปี 2020 รัฐบาลตั้งเป้าว่า รายได้ประชาชาติลาวจะต้องเกินกว่า 2,000 เหรียญต่อคนต่อปี จากการขยายตัวของจีดีพีที่ตั้งเป้าโตปีละ 7.5% กระทั่งปี 2025 ลาวจะประกาศอย่างเป็นทางการว่า ลาวได้หลุดพ้นความเป็นประเทศยากจนสู่ประเทศเศรษฐกิจพัฒนาปานกลางระดับสูงแล้ว และในปี 2030 ลาวจะเป็นประเทศอุตสาหกรรมสมัยใหม่ที่รายได้ประชาชาติมีระดับสูงเท่ากับ 8,000 เหรียญต่อคนต่อปี
ดร.ทองลุน กล่าวว่า ในวันที่ 1 ม.ค.ปี 2559 ลาวจะขอทำหน้าที่ประธานกลุ่มประเทศอาเซียนในปีที่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) มีผลบังคับใช้สมบูรณ์เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้นำการหารือเรื่องการมีตลาดเดียวสกุลเงินเดียว และการวางโรดแม็ป “เราจะหันวิสัยทัศน์ให้เป็นภาคปฏิบัติเพื่อสร้างความแข็งแกร่งแก่อาเซียน”
สำหรับการเปิดรับการเป็นประเทศเศรษฐกิจทุนนิยมที่ห่วงกันว่า ลาวไม่อาจเลี่ยงวัฒนธรรมตะวันตกที่หลั่งไหลเข้าสังคมอันสงบได้นั้น ดร.ทองลุนกล่าวว่า “เป็นเรื่องที่ไม่อาจปฏิเสธได้ เพราะโลกวันนี้เป็นโลกาภิวัตน์ แต่เขาจะสั่งสอนลูกหลานเขาให้ยึดถือขนบธรรมเนียมประเพณีเดิมไว้ให้มากที่สุดภายใต้ความคิด “เสียวัฒนธรรม คือ เสียชาติ” ส่วนรถไฟความเร็วสูงที่จีนลงทุนให้เพื่อวิ่งจากลาวสู่หนองคาย-กรุงเทพฯ-มาเลเซียนั้น ถ้าไทยไม่เอาด้วยก็เท่ากับเป็นเส้นทางรถไฟที่ “กุด” ไม่มีความหมาย” ดร.ทองลุนกล่าวในที่สุด.
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : ไทยรัฐ
Discussion
Follow breaking news Investment property articles on Facebook, click here.