ศูนย์วิเคราะห์ ศก. ทีเอ็มบี มองงบลงทุนภาครัฐฯ วงเงิน 1.47 แสนล้าน จะเป็นปัจจัยสำคัญช่วยพยุงเศรษฐกิจทุกภูมิภาค ยอมรับ การลงทุนและการใช้จ่ายภาครัฐ ถือเป็นเครื่องยนต์เดียวที่เหลืออยู่ และใช้กระตุ้นเศรษฐกิจภูมิภาคได้ แต่ต้องเบิกจ่ายได้ตามเป้าหมาย เพราะเป็นความหวังเดียว ที่จะไม่ให้เศรษฐกิจซึมยาว ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ประเมินภาพรวมเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป โดยระบุว่า เม็ดเงินจากภาครัฐฯ จะกระจายสู่ท้องถิ่นอีกกว่า 1.47 แสนล้านบาท ช่วยพยุงเศรษฐกิจในทุกภูมิภาค แนะเบิกจ่ายให้ได้ตามเป้าหมายก่อนเศรษฐกิจขาดแรงส่ง สำหรับภาพรวมของเศรษฐกิจไทยดูเหมือนค่อยๆ ฟื้นตัวในไตรมาส 1 ที่ผ่านมา ดัชนีชี้วัดหลายด้านปรับตัวดีขึ้น รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการขนาดย่อม-ทีเอ็มบี (TMB SME-Sentiment Index) ไตรมาส 1/58 จากผลสำรวจความคิดเห็นเจ้าของธุรกิจเอสเอ็มอีกว่า 839 รายจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ปรับสูงขึ้นจาก 37.1 เป็น 43.7 หรือเพิ่มขึ้น นับเป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปี เพราะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมองว่า รายได้เริ่มปรับตัวดีขึ้นจากเม็ดเงินโครงการช่วยเหลือเกษตรและค่าครองชีพ ขณะที่ต้นทุนของธุรกิจปรับตัวลดลงจากราคาน้ำมันภายในประเทศที่ลดลงต่อเนื่องจากไตรมาส 4/57 อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจส่งสัญญาณชะลอตัวอีกครั้งเมื่อเข้าสู่ไตรมาส 2/58 เนื่องจากเม็ดเงินอัดฉีดจากโครงการต่างๆ ของรัฐบาลสิ้นสุดลง ราคาน้ำมันในประเทศที่เริ่มปรับราคาสูงขึ้น และราคาสินค้าเกษตรที่ยังตกต่ำ เห็นได้จากยอดขายจักรยานยนต์ในเดือน เม.ย.ลดลงในทุกภูมิภาค รวมถึงภาษีมูลค่าเพิ่มที่ใช้ชี้วัดกำลังซื้อของประชาชนในแต่ละพื้นที่ก็ลดลงเช่นเดียวกัน
ดังนั้น ในภาวะเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจในประเทศทั้งการบริโภค และการลงทุนภาคเอกชน ไม่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจภูมิภาคได้อย่างเต็มที่ การลงทุนและการใช้จ่ายภาครัฐจึงเป็นเครื่องยนต์เดียวที่เหลืออยู่ และใช้กระตุ้นเศรษฐกิจภูมิภาคได้ โดยในปี 58 เม็ดเงินลงทุนและใช้จ่ายภาครัฐเข้าสู่เศรษฐกิจภูมิภาคจาก 2 ส่วน คือ โครงการลงทุนภายใต้ปีงบประมาณ 58 และงบกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่ TMB Analytics คาดว่า หากภาครัฐเบิกจ่ายงบประมาณได้ตามเป้าหมายจากงบประมาณทั้งสองส่วน จะมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในทุกภูมิภาคระหว่างเดือน พ.ค-ก.ย.58 รวมประมาณ 1.47 แสนล้านบาท โดยแบ่งเป็นโครงการก่อสร้างสาธารณูปโภคต่างๆ เช่น ปรับปรุงเส้นทาง อาคารสถานที่ และการจัดการน้ำประมาณ 1.3 แสนล้าน และโครงการจัดซื้อจัดจ้างครุภัณฑ์ประเภทต่างๆ อีก 1.7 หมื่นล้านบาท โดยภูมิภาคที่ได้รับเม็ดเงินสูงสุดคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3.7 หมื่นล้านบาท รองลงมาคือภาคเหนือ กลาง กรุงเทพฯ ใต้ และตะวันออก ได้รับการจัดสรรเงินลงทุน 2.7, 2.5, 2.4, 2.0 และ 1.2 หมื่นล้านบาทตามลำดับ เมื่อเม็ดเงินที่กระจายไปสู่ภูมิภาคต่างๆ ที่ธุรกิจกลุ่มแรกที่ได้รับผลดี คือ ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างที่เคยรับงานของภาครัฐ และได้ขึ้นทะเบียนบริษัทโดยหน่วยงานของรัฐ เช่น กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท และกรมชลประทาน เป็นต้น เพราะสามารถเข้าประมูลโครงการก่อสร้างจากหน่วยงานราชการได้โดยตรง ส่วนธุรกิจกลุ่มที่ไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนฯ แม้ไม่สามารถเข้าประมูลงานได้โดยตรงก็ยังสามารถรับงานสัญญาย่อยจากผู้รับเหมาก่อสร้างกลุ่มแรก กลุ่มธุรกิจที่ได้ประโยชน์จากโครงการก่อสร้างลำดับต่อมาคือ กลุ่มธุรกิจค้าปลีกและค้าส่งวัสดุก่อสร้าง อุปกรณ์ไฟฟ้า การค้า และให้เช่าวัสดุเครื่องมือเครื่องจักร ในพื้นที่โครงการก่อสร้าง นอกจากนั้นยังมีงบประมาณโครงการจัดซื้อจัดจ้างครุภัณฑ์ ซึ่งก็จะส่งผลดีต่อธุรกิจที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ทั้งนี้ แม้ว่าเม็ดเงิน 1.47 แสนล้านบาท เป็นงบประมาณที่รัฐจัดสรรเพื่อการลงทุนต่อเนื่องทุกปี แต่ในอดีตการเบิกจ่ายทำได้ต่ำกว่าเป้าหมายมาโดยตลอด ดังนั้น การเร่งเบิกจ่ายภาครัฐให้เป็นไปตามเป้าหมาย เพื่อให้เม็ดเงินกระจายสู่เศรษฐกิจภูมิภาคได้ทันในปีนี้ จึงเป็นความหวังเพียงหนึ่งเดียว เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจซึมยาว ขอขอบคุณข้อมูลจาก : astvmanager รูปภาพหน้าปกจาก : http://www.thairath.co.th/content/438054