เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. รายงานข่าวจากสำนักการโยธา กทม. แจ้งความคืบหน้าของโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่สะพานพระราม 7 ถึงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าทั้งสองฝั่ง ตามนโยบายของรัฐบาลว่า จากการสำรวจพบว่า มีชุมชนที่รุกล้ำริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่ประมาณ 200 ชุมชน ทั้งที่จดทะเบียนถูกต้องและไม่ได้จดทะเบียน ซึ่ง กทม.ได้เข้าเจรจากับชุมชนต่างๆเพื่อทำความเข้าใจแล้ว โดยจุดที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือชุมชนใกล้สะพานซังฮี้ (ฝั่งพระนคร) 5 ชุมชน เนื่องจากมีสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำแม่น้ำจากริมตลิ่งประมาณ 30-40 เมตร มีผู้อาศัยประมาณ 200-300 คน ซึ่ง ทาง กทม.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าเจรจากับทางชุมชนเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว โดยได้ข้อสรุปว่าทางชุมชนยินดีที่จะย้ายออกไป แต่ได้ยื่นข้อเสนอให้ช่วยเหลือ 4 ข้อ ได้แก่ 1.ขอรับค่าเยียวยาตามที่รัฐกำหนด 2.ต้องหาที่อยู่อาศัยให้ใหม่ในราคาที่ถูกหรือครึ่งราคา 3.ช่วยการศึกษาของบุตรหลาน กรณีการย้ายสถานศึกษาไปที่แห่งใหม่ เพื่อให้ใกล้กับแหล่งที่พัก และ 4.ดูแลเรื่องคุณภาพชีวิต เช่นจัดหาที่ทำงานให้ชาวชุมชน ซึ่งข้อเสนอทั้ง 4 ข้อนี้ ทาง กทม.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยินดีที่จะรับไปดำเนินการ ทำให้ชาวชุมชนพอใจและไม่คัดค้านโครงการแต่อย่างใด ส่วนกรณีที่มีเครือข่ายสมาคม นักวิชาการและภาคประชาชนออกมาคัดค้านโครงการ โดยเสนอให้ทบทวน 3 ข้อหลัก คือ 1.โครงสร้างกีดขวางทางน้ำหรือไม่ 2.บดบังทัศนียภาพหรือไม่ และ 3.ประชาชนในพื้นที่และใกล้เคียงมีส่วนร่วมหรือไม่นั้น ขณะนี้ กทม.ได้ศึกษารูป
แบบโครงสร้างใหม่ให้มีขนาดกว้างเหลือ 12 เมตร จากแบบเดิม 19.50 เมตร เพื่อไม่ให้กระทบกับการไหลของน้ำ รวมไปถึงไม่บดบังทัศนียภาพเดิมอย่างแน่นอน และสิ่งที่ กทม.คำนึงเป็นสำคัญคือ จะไม่กระทบกับความเป็นอยู่ของวิถีชุมชน เพราะ กทม.จะเน้นการมีส่วนร่วมของคนที่อาศัยอยู่เดิม และสิ่งที่ชาวชุมชนต้องการคือ การพัฒนา นำไปสู่เศรษฐกิจชุมชนและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทั้งนี้ สำหรับชุมชนที่เหลือ สำนักการโยธาจะเร่งเจรจาขอความยินยอมจากประชาชนเป็นสำคัญ โดยคาดว่าอีกประมาณ 7-8 เดือน จะเริ่มรื้อถอนชุมชนที่ปลูกรุกล้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยาได้ และก่อสร้างในระหว่างเดือน ม.ค.2559-ก.ค.2560 รวมระยะเวลา 18 เดือน.

ขอบคุณข้อมูลจาก : ไทยรัฐออนไลน์