เวิลด์แบงก์ห่วงประเทศไทย ลูกค้าเมินความสามารถแข่งขันลบ 4.7%
เวิลด์แบงก์ห่วงไทย คาดส่งออกขยายตัว 0.5% เหตุสินค้าไทยเริ่มไม่ได้รับความนิยม ความสามารถในการแข่งขันติดลบ 4.7% แพ้ฟิลิปปินส์ขาดลอย พบ 1 ใน 3 ของคนที่จบการศึกษาภาคบังคับไม่พร้อมเรียนสูงขึ้นและไม่เหมาะกับงานที่รออยู่ คาดทั้งปีเศรษฐกิจโต 3.5%
นายอูริค ซาเคา ผู้อำนวยการธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวในรายงานตามติดเศรษฐกิจไทย 2558 ซึ่งธนาคารโลกทำเป็นประจำทุก 6 เดือนว่า ธนาคารโลกคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้ จะขยายตัวในอัตรา 3.5% โดยคาดว่ากำลังซื้อในประเทศจะปรับตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่การท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดีและการใช้จ่ายภาครัฐที่เพิ่มมากขึ้น จะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นตัวได้จากปีที่ผ่านมา อย่างไร
ก็ตามการส่งออกของไทยยังขยายตัวอย่างช้าๆ แม้ว่าเศรษฐกิจหลักของโลกจะฟื้นตัวดีขึ้น โดยธนาคารโลกมีความเป็นห่วงศักยภาพโดยรวมของเศรษฐกิจไทย แรงงาน และภาคการผลิต รวมถึงความสามารถในการแข่งขันของไทยที่ลดลงต่อเนื่อง โดยหากพิจารณาการส่งออกเฉลี่ยของไทยในปี 2549-2554 จะขยายตัวเฉลี่ยอยู่ที่ 13% ขณะที่ 3 ปีที่ผ่านมา ปี 2555-2557 การส่งออกของไทยขยายตัวเฉลี่ยต่ำกว่า 1% ซึ่งเป็นผลจากผลิต-ภาพโดยรวมของระบบเศรษฐกิจไทยลดลง
ทั้งนี้ ธนาคารโลกมีความเห็นว่า ประเทศที่อยู่ในกลุ่มรายได้ปานกลาง จะขยับขึ้นมาอยู่ในกลุ่มรายได้ปานกลางถึงสูงได้ จะต้องมีการลงทุนจำนวนมากเพื่อเพิ่มศักยภาพของประเทศ รวมทั้งเพิ่มผลิตภาพของแรงงานและผลิตภาพโดยรวมของประเทศ และส่วนที่ธนาคารโลกเห็นว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องดำเนินการคือ การเร่งเพิ่มประสิทธิภาพของการศึกษาสำหรับทุกคนทุกระดับ เพื่อเพิ่มทักษะของคนไทยโดยรวม เพิ่มผลิตภาพของกำลังแรงงาน ซึ่งจะนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และยกระดับเศรษฐกิจและการส่งออกไทยให้กลับมาขยายตัวได้ดีอีกครั้งหนึ่งได้
ขณะที่นางสาวกิริฎา เภาพิจิตร นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลกประจำประเทศไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า การคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวที่ 3.5% เนื่องจากมองถึงภาคการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะขยายตัวได้ประมาณ 20% เทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน ขณะที่การลงทุนภาครัฐในปีนี้คาดว่าจะขยายตัวได้ถึง 13.1% ตามการเร่งเบิกจ่ายของรัฐ แต่อย่างไรก็ตาม การส่งออกของไทยในปีนี้คาดว่าจะขยายตัวในระดับ 0.5% เท่านั้น แม้เศรษฐกิจคู่ค้าจะฟื้นตัว เนื่องมาจากโครงสร้างการผลิตและการส่งออกของไทยมีปัญหา ขณะที่สินค้าของไทยเริ่มไม่ได้รับความนิยมในตลาดเดิมที่มีอยู่
ทั้งนี้ หากพิจารณาการขยายตัวของการส่งออกในประเทศอาเซียนในปี 2556-2558 จะพบว่า การส่งออกไทยขยายตัวต่ำลงกว่าหลายประเทศในอาเซียน นอกจากนั้น ยังเป็นการลดลงในสินค้าที่เคยเป็นสินค้าส่งออกหลักของไทยด้วย แสดงให้เห็นว่า ในสินค้าหลักที่ส่งออกเหมือนกัน ประเทศเหล่านั้นมีความสามารถในการส่งออกเพิ่มขึ้น ในขณะที่ความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออกของไทยลดลง โดยเฉพาะในสินค้าเกษตรหลักอย่างข้าวและยางพารา ส่งผลให้ประเทศไทยโดนแย่งส่วนแบ่งตลาดในสินค้าที่เป็นสินค้าส่งออกหลัก 12 รายการของไทยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
นอกจากนั้น ธนาคารโลกได้ประเมินความสามารถในการแข่งขันของไทย เทียบจากผลิตภาพที่ได้กับค่าจ้างแรงงานของไทย โดยนำผลิตภาพของแรงงานหักลบด้วยการขยายตัวของค่าจ้าง พบว่า ตั้งแต่ปี 2554-2557 ความสามารถการแข่งขันของไทยในด้านนี้ติดลบ 4.7% ขณะที่จีนเพิ่มขึ้น 3.6% ฟิลิปปินส์เพิ่มขึ้น 3.4% โดยพบว่า 3 ปีที่ผ่านมา ผลิตภาพหรือความสามารถในการผลิตของไทยเพิ่มขึ้นช้ามาก โดยมีความสามารถด้านนวัตกรรมและความสามารถของตลาดแรงงานอยู่ในระดับต่ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคการผลิตที่ใช้แรงงานเข้มข้น เช่น ภาคเกษตรกรรม และการก่อสร้าง
ด้านนายดิลกะ ลัทธพิพัฒน์ นักเศรษฐศาสตร์พัฒนามนุษย์ ธนาคารโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า ระบบการศึกษาของไทยจำเป็นต้องมีการปรับปรุง เพราะในขณะนี้ยังมีนักเรียนที่จบการศึกษาภาคบังคับในไทยจำนวน 1 ใน 3 ของทั้งหมดยังไม่มีความพร้อมที่จะเข้าสู่ระบบการศึกษาที่สูงขึ้น หรือไม่มีความเหมาะสมกับงานที่ประเทศไทยต้องการในปัจจุบัน ขณะที่ความเหลื่อมล้ำในการศึกษาของประเทศไทยยังคงมีสูงมาก โดยในขณะที่ 60% ของนักเรียนในเมืองมีการศึกษาดีขึ้น แต่ 40% ของนักเรียนในโรงเรียนระดับหมู่บ้านกลับมีความสามารถด้านการศึกษาต่ำลง ซึ่งไทยจำเป็นต้องยกระดับลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาโดยเร็ว เพื่อไม่ให้ศักยภาพของเศรษฐกิจไทยต่ำลง
ด้านนายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง กล่าวในงานเดียวกันว่า อยากให้ธนาคารโลกเข้าใจว่า ประเทศไทยกำลังพยายามที่จะแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจอย่างเป็นขั้นเป็นตอน และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศในระยะปานกลางและระยะยาว โดยในขณะนี้การกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นของรัฐบาลเป็นการทำผ่านการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณของปี 2558 ซึ่งเป็นงบขาดดุล เพื่อนำมาใช้ในการใช้จ่ายและการลงทุนต่างๆของรัฐบาล.
ขอบคุณข้อมูลจาก : ไทยรัฐออนไลน์
Discussion
Follow breaking news Investment property articles on Facebook, click here.